“เที่ยวไทย” ฝ่ามรสุม ศก. 9 เดือนแรกรายได้ 2.22 ล้านล้าน

จากรายงานของกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน 2562) ที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 2.22 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 โดยแบ่งเป็นรายได้จากต่างประเทศ 1.429 ล้านล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติรวม 29.465 ล้านคน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.51% และในประเทศ 0.79 ล้านล้านบาท

9 เดือนแรกเอเชียใต้โตพุ่ง 21%

โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุดมีนักท่องเที่ยวรวม 20.505 ล้านคน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีรายได้ 8.437 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.54% หรือเพิ่มขึ้นราว 4.42 หมื่นล้านบาท ภูมิภาคเอเชียใต้เป็นตลาดที่มีอัตราการขยายตัวสูงที่สุดถึง 21.12% หรือมีนักท่องเที่ยวรวม 1.76 ล้านคน มีรายได้รวม 7.69 หมื่นล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 23.99% หรือเพิ่มขึ้นราว 1.5 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ตลาดยุโรปอยู่ในภาวะติดลบเล็กน้อยที่ 1.83% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยว 4.698 ล้านคน และมีรายได้ 3.247 แสนล้านบาท ลดลง2.03% หรือลดลง 6.74 พันล้านบาท

ส่วนตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทยมี 8.518 ล้านคน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีรายได้รวม 4.268 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.14% หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท

ฟรี VOA หนุนตลาดระยะใกล้

สำหรับเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมานั้น พบว่า มีนักท่องเที่ยว 2.9 ล้านคน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 10.11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 และมีรายได้รวม 1.396 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.73% โดยนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยสูงสุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย จีน 8.52 แสนคน เพิ่มขึ้น 31.56% ตามด้วยมาเลเซีย 3.31 แสนคน ลดลง 7.56%, ลาว 1.61 แสนคน เพิ่มขึ้น 16.8%, อินเดีย 1.55 แสนคน เพิ่มขึ้น 26.9% และญี่ปุ่น 1.54 แสนคน เพิ่มขึ้น 9.01%

ทั้งนี้ หากดูรายภูมิภาคพบว่า เอเชียตะวันออก จำนวน 1.17 ล้านคน เพิ่มขึ้น 12.63% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ยุโรป 3.02 แสนคน ลดลง 1%, อเมริกา 9.3 หมื่นคน เพิ่มขึ้น 3.21% เอเชียใต้ 1.88 แสนคน เพิ่มขึ้น 22.19% โอเชียเนีย (ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์) 7.5 หมื่นคน ลดลง 4.92% ตะวันออกกลาง 5.3 หมื่นคน ลดลง 11.84% แอฟริกา 1.7 หมื่นคน เพิ่มขึ้น 1.25% จากตัวเลขดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นว่า ภาคการท่องเที่ยวของไทยยังคงเติบโตจากนักท่องเที่ยวที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกันเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม จากมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า ฟรี VOA ของภาครัฐยังคงส่งผลต่อการตัดสินใจมาเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนและอินเดียที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศ

“กรุ๊ปทัวร์” ขยับสู่แดนบวก

สำหรับในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางแบบกรุ๊ปทัวร์ (บริษัทนำเที่ยว) นั้น สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) รายงานว่าในช่วงเดือนมกราคม-20 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านเข้า-ออกท่าอากาศยานหลัก 2 แห่งคือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองมีจำนวนลดลงเฉลี่ย 5.84%

อย่างไรก็ตาม ในเดือนตุลาคมนี้ถือว่าโดยรวมยังมีทิศทางที่ดีขึ้น และมีนักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์เพิ่มขึ้นเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 นับตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยเดือนมกราคมลดลง 9.10%, กุมภาพันธ์ ลดลง 9.14%, มีนาคม ลดลง 8.05%, เมษายน ลดลง 11%, พฤษภาคม ลดลง 20.82%, มิถุนายน ลดลง 12.04%, กรกฎาคม ลดลง 2.6%, สิงหาคม เพิ่มขึ้น 5.85%, กันยายน เพิ่มขึ้น 18.51% และตุลาคม (1-20) เพิ่มขึ้น 8.04%

โดยตลาดที่นักท่องเที่ยวเดินทางผ่านสมาคมแอตต้าสูงสุด 10 อันดับแรก ประกอบด้วย จีน 2.51 ล้านคน ลดลง 5.7% ตามด้วยเวียดนาม 2.83 แสนคน ลดลง 2.09%, อินเดีย 2.29 แสนคน เพิ่มขึ้น 3.71%, เกาหลี 1.72 แสนคน ลดลง 11.34%, ญี่ปุ่น 1.35 แสนคน ลดลง 6.79%, รัสเซีย 9.3 หมื่นคน ลดลง 6.95%, ไต้หวัน 9.05 หมื่นคน เพิ่มขึ้น 16.08%, อินโดนีเซีย 7.99 หมื่นคน ลดลง 6.98%, อังกฤษ 5.31 หมื่นคน ลดลง 31.55% และฮ่องกง 4.09 หมื่นคน ลดลง 20.17%

เที่ยวในประเทศ (ยัง) หัวทิ่ม

สำหรับภาพรวมของการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือไทยเที่ยวไทยนั้น รายงานของกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวฯเผยว่า ในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน 2562) ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศจำนวนทั้งสิ้น 116.30 ล้านคน-ครั้ง ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 7.9 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.92%

ขณะที่ภาพรวมของเดือนกันยายนที่ผ่านมานั้น พบว่า มีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางท่องเที่ยวจำนวน 13.25 ล้านคน-ครั้ง ลดลง 2.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน มีรายได้ 9 หมื่นล้านบาท ลดลง 3.41%

ทั้งนี้ ประเมินว่าเป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยจังหวัดที่มีการขยายตัวของนักท่องเที่ยวชาวไทยมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ นครพนม, เพิ่มขึ้น 4.92% ศรีสะเกษ เพิ่มขึ้น 4.26% และสกลนคร เพิ่มขึ้น 4.23% ตามลำดับ

พร้อมทั้งคาดการณ์ว่ามาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” จะช่วยกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ และเกิดการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวถึงผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อย โดยคาดว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถช่วยกระตุ้นการหมุนเวียนของเม็ดเงินในจังหวัดท่องเที่ยวทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท

คงต้องลุ้นกันต่อว่าบรรยากาศการท่องเที่ยวของไทยในช่วง 2 เดือนสุดท้ายนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะ “ไทยเที่ยวไทย” ที่ถึง ณ ขณะนี้ยังอยู่ในภาวะที่ยังไม่ดีนักเมื่อเทียบกับปี 2561 ที่ผ่านมา…