“ศักดิ์สยาม” สั่ง “บินไทย” เร่งรัดแผนฟื้นฟู-แผนจัดซื้อฝูงบินใหม่ ย้ำทำให้เห็นผลก่อนสิ้นปีนี้

“ศักดิ์สยาม” สั่งบินไทยเร่งแผนฟื้นฟู-จัดซื้อเครื่องบิน ย้ำทำเห็นผลก่อนสิ้นปี ย้ำให้บริหารคนเต็มประสิทธิภาพ ด้าน “เอกนิติ” ปรานบอร์ดรับลูกปรับแผนจัดซื้อตามสถานการณ์-ฐานะการเงินบริษัท เตรียมชงข้อเสนอต่อรัฐมนตรีฯ เข้าบอร์ด29 ตุลาคมนี้ “ดีดีสุเมธ” ยังย้ำเร่งเดินหน้าแผนลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคมนาคม เปิดเผยว่า ได้รับฟังสรุปข้อมูลการดำเนินการและมอบนโยบายให้กับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยนโยบายที่ได้มอบไปมีหลายเรื่องด้วยกัน เรื่องแรกคือ เรื่องการบริหารงานคนให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มประสิทธิภาพ มอบขวัญกำลังใจที่พอเหมาะกับผลประกอบการ ต่อมาคือเรื่อง เครื่องมือที่นำไปใช้บนเครื่องให้พิจารณาจำนวนให้พอเหมาะ หากใช้ไม่หมดให้นำมารีเคลมได้

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการบริการที่การบินไทยมีศักยภาพอยู่แล้วให้บุคลากรทำตามแนวนโยบายที่เหมาะสม รวมถึงมอบเรื่องการจัดหาเครื่องบินใหม่ โดยให้ไปดูเครื่องที่มีอยู่ว่าใช้เต็มศักยภาพแล้วหรือไม่ การซ่อมบำรุงเพียงพอขนาดไหน ต้องบริหารให้กลับมาทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ส่วนเรื่องวิธีการบริหารนั้นควรนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น พร้อมกับแผนการพัฒนาบุคลากรที่เหมาะสม

ทั้งนี้ ได้มอบนโยบายให้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างบริษัท การบินไทย, บริษัท การท่าอากาศยานไทย, บริษัท วิทยุการบินฯ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อทำแผนธุรกิจร่วมกัน ร่วมกันกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งภายในและภายนอกประเทศให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นผู้นำคณะฯ

“ส่วนเรื่องแผนการฟื้นฟูและแผนการจัดซื้อเครื่องบิน ได้เร่งรัดกรอบเวลาที่ชัดเจนกับการบินไทยแล้ว ระยะเวลาที่จะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมจากแผนธุรกิจและแผนการฟื้นฟูอยู่ที่การนำไปปฏิบัติงาน ซึ่งได้แจ้งกับการบินไทยแล้วว่าจะต้องมีแผนการปฏิบัติงาน การวัดผล และเป้าหมายของแผนฟื้นฟูภายใน 3 เดือน และแผนการจัดซื้อเครื่องบินภายใน 6 เดือน”

ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สาเหตุที่การบินไทยจำเป็นต้องปรับแผนการจัดซื้อเครื่องบิน เนื่องจากขณะจัดทำแผนฉบับปัจจุบันถูกจัดทำขึ้นก่อนการเปลี่ยนแปลงของสภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ทำให้ศักยภาพของแต่ละเส้นทางบินที่วางแผนไว้อย่างเอเชียและจีนได้รับผลกระทบ จนต้องนำมาทบทวนใหม่ รวมถึงสถานะทางการเงินปัจจุบันของบริษัทก็เปลี่ยนแปลงไปจึงต้องนำมาพิจารณาร่วมด้วย

โดยภายในวันพรุ่งนี้ (29 ตุลาคม 2562) จะนำข้อเสนอของรัฐมนตรีฯ ทั้งเรื่องการบริหารจัดการ รวมถึงแผนระยะสั้นและระยะยาวเข้าสู่บอร์ดบริหารเพื่อพิจารณานำไปปฏิบัติต่อไป โดยแผนการฟื้นฟูองค์กรที่ต้องทำการปรับปรุงมีกรอบระยะเวลา 3 เดือนให้นำเสนอพร้อมแผนการปฏิบัติ เป้าหมาย และช่วงเวลาในการปฏิบัติ เช่นเดียวกับแผนการจัดซื้อเครื่องบินใหม่ที่มีกรอบระยะเวลาในการทบทวนและปรับปรุง 6 เดือนนับตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา

ในส่วนไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 นั้นเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของประเทศไทยที่จะต้องเร่งทำรายได้ โดยปัจจุบันอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยของการบินไทยอยู่ที่ 80% แล้ว เพียงแต่อัตราค่าตอบแทน (yield) ยังคงมีตัวเลขต่ำอยู่ในบางเส้นทาง เช่นเส้นทางสู่ประเทศญี่ปุ่นที่มีการแข่งขันสูงมาก ทำให้การบินไทยเปลี่ยนกลยุทธ์ในการแข่งขันโดยการเลือกเปิดเส้นทางในเมืองใหม่ๆ ที่ยังไม่มีคู่แข่งมากขึ้น โดยเส้นทางที่กำลังจะเปิดให้บริการคือ เส้นทางสู่เมืองเซนไดประเทศญี่ปุ่น

โดยมีการจับมือกับพันธมิตรผู้บริหารสนามบินเซนได สร้างเซนไดโมเดลรับประกันอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร 75% เป็นเวลาหนึ่งปี ถ้าหากจำนวนผู้โดยสารไม่เป็นไปตามที่คาดไว้จะมีการซับซิไดซ์จากพันธมิตรและยังได้รับการสนับสนุนสิทธิพิเศษต่างๆ จากผู้ประกอบการท้องถิ่นอีกด้วย โดยการบินไทยจะขยายผลออกไปยังเส้นทางบินใหม่อื่นๆ ที่จะเปิดในอนาคตต่อไป

ขณะที่นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า ในแผนการฟื้นฟูบริษัทฯ ที่จะต้องทำภายในปีนี้ประกอบไปด้วยการเพิ่มรายได้ผ่านการใช้ data analytics ในการทำการตลาด รวมถึงจะต้องหารายได้จากรายได้เสริมอื่นๆ อาทิ การจัดทำอีคอมเมิร์ซให้แล้วเสร็จ ส่วนค่าใช้จ่ายจะยืดส่วนที่สามารถยืดออกไปไว้ก่อนและตัดส่วนที่สามารถตัดได้ รวมถึงการลดค่าตอบแทนผู้บริหารและการลดวันหยุดลง 1 วัน

นอกจากนี้ บริษัทจะเร่งปฏิบัติงานตามแผนให้ได้โดยไวที่สุดและสื่อสารสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกบริษัทว่าบริษัทยังพร้อมให้บริการและไม่มีความเสี่ยงที่ผู้โดยสารจะต้องกังวล ส่วนในปีหน้าบริษัทจะหันมาให้ความสำคัญกับผู้โดยสารที่เป็นสมาชิก Royal orchid plus มากขึ้น เพิ่มมูลค่าและประโยชน์จากไมล์ และทำการตลาดเจาะจงจากฐานข้อมูลที่มีภายในระบบ เพื่อให้ตรงจุดและตรงความต้องการของผู้โดยสาร

รวมถึงเน้นการทำตลาดในทุกซีซั่นให้เป็นฤดูกาลท่องเที่ยวและทำการตลาดผ่านดิจิทัล และปรับปรุงองค์กรทรานฟอร์มสู่การปฏิบัติงานด้วยดิจิทัล ลดค่าใช้จ่าย 5-10% ราวหลักร้อยถึงพันล้านบาท และเร่งขายทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์โดยเร็วที่สุด โดยมีทรัพย์สินที่อาจจะขายเป็นที่ดินที่ไม่ได้ใช้งาน