ชงรื้อ กม.-เพิ่มเงินประกัน ดัดหลัง “โฮลเซล-บ.ทัวร์” โกง

เป็นปรากฏการณ์ที่ “ช็อก” คนวงการท่องเที่ยว และยังเป็นประเด็นที่หาทางออกไม่เจอสำหรับกรณีของ “เฟสติวัล ฮอลิเดย์” บริษัทโฮลเซลขายทัวร์รายใหญ่ตลาดยุโรปขาดสภาพคล่อง และลอยแพเอเย่นต์กว่า 60-70 บริษัทที่ขายแพ็กเกจทัวร์ไปแล้วกว่า 2,000 รายการ รวมมูลค่าเสียหายร่วม 100 ล้านบาท

หลังจากที่เกิดกรณีบริษัท “อีแอลซี” หลอกขายแพ็กเกจทัวร์ราคาถูกล่วงหน้านานเป็นปีกว่าจะถึงกำหนดเดินทาง สุดท้ายลอยแพลูกทัวร์จำนวนมากจนตกเป็นข่าวครึกโครมในช่วงกลางปีที่ผ่านมา คาดการณ์กันว่าครั้งนั้นเกิดมูลค่าความเสียหายราว 3,000-5,000 ล้านบาทเรียกว่า ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรกอีกแล้ว

โดยทั้ง 2 เหตุการณ์ใหญ่ที่เกิดขึ้นนี้ แม้ว่า “ต้นตอ” และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบของปัญหาจะต่างกัน แต่ก็นับว่าทำให้วงการท่องเที่ยวของไทย “สั่นสะเทือน” ไม่น้อย โดยเฉพาะในมุมภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวไทย และความเชื่อมั่นที่ผู้บริโภคมีต่อบริษัททัวร์

วงจรธุรกิจท่องเที่ยวรวนทั้งระบบ

ผู้คร่ำหวอดในธุรกิจนำเที่ยวรายหนึ่งวิเคราะห์ กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทั้ง 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้มีความแตกต่างกัน กรณีของบริษัท “อีแอลซี” นั้นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ ผู้บริโภค แต่ปัญหาของ “เฟสติวัล ฮอลิเดย์” ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ เอเย่นต์ทัวร์ เพราะเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับลูกค้า จึงต้องรับผิดชอบเต็ม ๆ ส่วนผู้บริโภคที่ซื้อแพ็กเกจทัวร์ถือเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม

กรณีนี้หากดูเผิน ๆ จะดูเหมือนว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นมีมูลค่าไม่มากเท่ากรณีแรก แต่การลอยแพเอเย่นต์ทัวร์ทีเดียว 60-70 บริษัทนั้นถือเป็นการทำลายวงจรของธุรกิจท่องเที่ยวทั้งระบบ และอาจทำให้เอเย่นต์ทัวร์บางรายล้มหายตายจากไปได้

บทเรียนธุรกิจไร้มาตรฐาน

ที่สำคัญ ไม่เพียงแต่จะกระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นเท่านั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้อาจเป็น “ตัวเร่ง” ให้คนไทยหันไปเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเองมากขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวไม่มั่นใจในตัวผู้ประกอบการ และหันไปซื้อบริการทุกอย่างผ่านผู้ให้บริการโดยตรง

หากเป็นเช่นนั้นไม่ว่าจะเป็น “โฮลเซล” หรือ “เอเย่นต์ทัวร์” ก็อาจหายไปจากวงจรธุรกิจท่องเที่ยวของไทยเร็วยิ่งขึ้น

สอดรับกับแหล่งข่าวบริษัทนำเที่ยวตลาดเอาต์บาวนด์อีกรายหนึ่งที่วิเคราะห์ว่า ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาผู้ประกอบการจำนวนมากไม่สนใจมาตรฐานเรื่องราคาและทำให้โครงสร้างราคาแพ็กเกจทัวร์ในตลาดไม่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง เกิดการแข่งขันด้านราคารุนแรง ขณะที่พฤติกรรมการซื้อสินค้าท่องเที่ยวและการเดินทางของนักท่องเที่ยวก็เปลี่ยนไป ประเด็นเหล่านี้ล้วนมีผลต่อรายได้ของกลุ่มผู้ประกอบการทั้งสิ้น

“ตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้วของถูกและดีถึงมีก็ไม่ได้มีมาก เชื่อว่าปรากฏการณ์นี้จะให้บทเรียนว่าการทำธุรกิจที่อยู่บนพื้นฐานของสงครามราคาไม่มีทางจะยั่งยืน”

พร้อมระบุว่า อยากให้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นบทเรียนให้วงการธุรกิจท่องเที่ยวว่าควรทำธุรกิจที่อยู่บนพื้นฐานของมาตรฐานราคาที่สมเหตุสมผล เลิกแข่งขันด้านราคาจนสร้างผลกระทบต่อภาพรวมของวงจรธุรกิจทั้งระบบอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้

พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวฯตามไม่ทัน

โดยประเด็นที่น่าเป็นห่วงสำหรับกรณีปัญหาของโฮลเซล คือ พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 และฉบับแก้ไข พ.ศ. 2559 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่ครอบคลุมกลุ่มธุรกิจที่เป็นโฮลเซล ทำให้ภาครัฐไม่สามารถจัดการกับผู้กระทำผิดได้

“สุรวัช อัครวรมาศ” อุปนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) หนึ่งในคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประเด็นสำคัญที่สร้างปัญหาให้กับธุรกิจท่องเที่ยวของไทยเรื่องหนึ่งคือ กฎระเบียบของภาครัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลเดินตามไม่ทัน

ขณะเดียวกันการเข้าสู่ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยก็ทำได้ง่ายเกินไป ใคร ๆ ก็ทำธุรกิจท่องเที่ยวได้ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ถ้าเอกสารครบก็สามารถไปขอไลเซนส์กับกรมการท่องเที่ยว พร้อมทั้งวางเงินหลักประกันตามที่ พ.ร.บ.กำหนด เช่น วางเงิน 1 แสนบาทสำหรับตลาดอินบาวนด์ และ 2 แสนบาทสำหรับตลาดเอาต์บาวนด์ เป็นต้น

ชงแก้ กม.เพิ่มเงินหลักประกัน

โดยส่วนตัวมองว่ารัฐควรปรับจำนวนเงินวางหลักประกันให้สูงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้เพียงพอกับการบรรเทาปัญหาเวลาเกิดเหตุการณ์ที่นักท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ และอยากให้เพิ่มประเภทของผู้ประกอบการให้มีกลุ่มธุรกิจโฮลเซลด้วย และกำหนดให้โฮลเซลวางหลักประกันในอัตราที่สูง และต้องมีส่วนรับผิดชอบนักท่องเที่ยวด้วย

“ผมได้เสนอแนวคิดในช่วงที่ยกร่างกฎหมายโดยให้เพิ่มประเภทของธุรกิจนำเที่ยว โดยให้มีประเภทโฮลเซล แต่กลับไม่ได้รับความเห็นชอบจากหลายคน” สุรวัชย้ำ

สอดคล้องกับ “เอนก ศรีชีวะชาติ” ประธาน “ยูนิไทย แทรเวล” ที่กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งกับแนวทางการแก้ไข พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวฯและกำหนดให้เพิ่มวงเงินหลักประกันเช่น บริษัทที่ทำธุรกิจโฮลเซลควรวางเงินประกันไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท

บริษัทที่ทำเอาต์บาวนด์ควรวางเงินประกันไม่ต่ำกว่า 10-20 ล้านบาท หรืออาจใช้ระบบให้ธนาคารค้ำประกัน หรือนำระบบประกันเข้ามาช่วย เพื่อให้บริษัทนั้น ๆ สามารถดูแลนักท่องเที่ยวได้เวลาเกิดเหตุอะไรขึ้น เป็นต้น

“ธุรกิจโฮลเซลจำเป็นต้องมีไลเซนส์แยกออกมาอีกหนึ่งใบด้วย ที่สำคัญโฮลเซลต้องวางเงินประกันที่สูงมาก ๆ ด้วย และต้องมีส่วนในการรับผิดชอบนักท่องเที่ยวด้วย” เอนกกล่าว

ถึงเวลาแล้วที่คนในวงการธุรกิจท่องเที่ยวของไทยต้องหันมาคุยกันอย่างจริงจัง คิดถึงส่วนรวม ทำธุรกิจบนพื้นฐานของความมีมาตรฐาน ทุกฝ่ายอยู่รอด ไม่เล่นสงครามราคาจนธุรกิจอยู่ไม่รอด เพราะทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบกับนักท่องเที่ยวนั้น ส่วนที่เสียหายคือภาพลักษณ์และวงจรธุรกิจท่องเที่ยวไทยทั้งระบบ