ปมเหตุ “เอกนิติ” โบกมือลาการบินไทย “คำสั่งปลดคน-ลดต้นทุน”

ในที่สุดก็เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่า “เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” ประธานบอร์ด “การบินไทย” ต้องโบกมือลาออกจากสายการบินแห่งชาติแน่นอน

หลังจากที่เก้าอี้ประธานบอร์ดและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือดีดี ส่งสัญญาณสะเทือนแรงมตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นการเปลี่ยนผ่านของรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” เมื่อ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นสังกัดของการบินไทย ลั่นวาจาให้ผู้บริหารการบินไทยพิจารณาตัวเองว่าบริหารงานอย่างไรองค์กรการบินไทยถึงขาดทุนเป็นหลักหมื่น ๆ ล้านต่อปี

ไม่เพียงเท่านั้น “ศักดิ์สยาม” กับ “ถาวร เสนเนียม” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ยังหมุนเวียนกันเข้าไปมอบนโยบายและฝากการบ้านให้ฝ่ายบริหารถี่ยิบในระยะหลังนี้ และแน่นอนว่าฝ่ายบริหารที่ถูกกดดันมากที่สุดหนีไม่พ้น “เอกนิติ” ซึ่งนั่งบริหารในฐานะประธานบอร์ด และ “สุเมธ ดำรงชัยธรรม” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) เพราะทั้ง 2 รู้ดีว่าปัญหาใหญ่ขององค์กรแห่งนี้ได้ฝังรากลึกมานานและยากที่จะแก้ไขได้ในเวลา 1-2 ปี

แหล่งข่าวระดับสูงจากการบินไทยรายหนึ่ง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยอมรับว่าในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา “การบินไทย” ประสบปัญหาหลายอย่างโดยเฉพาะเรื่องการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งด้านราคา เส้นทางการบิน ต้นทุนการบริหารจัดการที่สูง ฯลฯ รวมถึงขาดความพร้อมด้านฝูงบิน ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนมีผลต่อการจัดการต้นทุน ศักยภาพการแข่งขัน และผลประกอบการที่ลดลงทั้งสิ้น

พร้อมยกตัวอย่างให้ฟังว่า กรณีของแผนการจัดซื้อฝูงบินใหม่ของการบินไทย ซึ่งได้นำเสนอมานานมากแล้วแต่ก็ยังไม่ผ่านการพิจารณา ขณะที่ฝูงบินที่มีอยู่นั้นก็ทยอยปลดระวาง บางส่วนหมดสัญญาเช่า ทำให้การบินไทยไม่สามารถขยายเครือข่ายการบินได้ตามแผน และไม่สามารถแข่งขันได้ ที่สำคัญการใช้เครื่องบินเก่ายังทำให้องค์กรแบกรับต้นทุนด้านการซ่อมบำรุงที่สูงขึ้นอีกด้วย

ขณะที่กระทรวงคมนาคมหน่วยงานกำกับดูแลก็บีบให้การบินไทยเร่งลดต้นทุนและเพิ่มรายได้เพื่อหยุดตัวเลขขาดทุนในปีนี้ให้ได้ พร้อมกันนี้ยังสั่งให้จัดทำแผนฟื้นฟูธุรกิจใหม่ และติดตามแผนการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดด้วยการขอดูผลประกอบการรายเดือนและให้รายงานปัญหาพร้อมภาวะกระแสเงินสดทุกเดือนเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังขอให้บอร์ดบริหารไปจัดการแก้ไขปัญหาภายใน โดยเฉพาะในเรื่องของต้นทุนและการจัดสรรบุคลากรให้สอดรับกับประสิทธิภาพของงาน และอีกหลายต่อหลายประเด็น

สอดรับกับแหล่งข่าวจากการบินไทยอีกรายหนึ่งที่ให้ข้อมูลว่า ประเด็นที่เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ “เอกนิติ” ตัดสินใจลาออกไปเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คือ คำสั่งให้บอร์ดบริหารจัดการลดต้นทุนเร่งด่วนด้วยการปลดพนักงานระดับล่างบางส่วนออก โดยให้เหตุผลว่ามีคนที่ทำงานไม่สอดรับกับประสิทธิภาพงานอยู่จำนวนมาก

แต่แนวทางดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่ “เอกนิติ” ไม่อยากทำ เพราะมองว่าจะเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อคนทำงานจำนวนมาก

ที่สำคัญเชื่อว่าสหภาพแรงงานของการบินไทยก็คงไม่ยอมและอาจจะลุกขึ้นมาต่อต้านประท้วงครั้งใหญ่ ซึ่งจะยิ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์และธุรกิจของการบินไทยให้ย่ำแย่ไปกว่าเดิมอีก

พร้อมย้ำว่าที่ผ่านมา “ศักดิ์สยาม” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมโจมตีหลายเรื่อง แต่เรื่องหลักคือ เรื่องคน หรือบุคลากร เพราะ “บุคลากร” เป็นต้นทุนที่สูงที่สุดขององค์กรการบินไทยในเวลานี้ โดยแนวทางอยากให้ไปจัดการ คือ ตัดข้างบน ปลดข้างล่าง

อธิบายง่าย ๆ คือ สั่งให้เออร์ลี่รีไทร์พนักงานที่อายุใกล้เกษียณ ส่วนพนักงานระดับล่างก็ให้ปลดบางส่วนออก โดยมองว่าการบินไทยเป็นองค์กรที่มีคนที่ทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพอยู่เป็นจำนวนมาก

ปัญหาสะสม การบินไทย

แหล่งข่าวรายนี้ยังบอกด้วยว่า เรื่องบุคลากรใคร ๆ ก็รู้ว่าเป็นประเด็นที่เป็นปัญหาใหญ่ของการบินไทยมานาน คนที่เข้ามาบริหารที่วนเวียนเปลี่ยนผ่านกันเข้ามาก็ไม่มีใครกล้าเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพราะผลตอบแทนของพนักงานการบินไทยนั้นไม่ได้มีแค่เงินเดือน แต่ยังมีสิทธิประโยชน์อื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก

รัฐมนตรีจึงอยากให้บอร์ดบริหารจัดการเรื่องนี้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และสิทธิประโยชน์ของบุคลากรในแต่ละระดับ พร้อมทั้งเพิ่มโปรดักทิวิตี้ต่อหัวของบุคลากรที่มีอยู่ให้มากที่สุด

“ปัญหาสะสมหลาย ๆ เรื่องในการบินไทยไม่ใช่เรื่องที่จะแก้ไขกันง่าย ๆ ใคร ๆ ก็รู้ประธานบอร์ดเลยไม่อยากแตะเพราะรู้ว่าถ้าแตะเรื่องนี้เมื่อไหร่พนักงานออกมาประท้วงแน่นอน และส่วนที่เสียหายหนัก คือ องค์กร ที่ผ่านมาก็เห็นตัวอย่างมาแล้วว่า ถ้าพนักงานประท้วงหยุดงานเมื่อไหร่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการของสายการบินทันที” แหล่งข่าวย้ำ

ประเด็นสำคัญอีกเรื่องที่รัฐมนตรีจี้อย่างหนัก คือ ต้นทุนการบินต่อเที่ยวบินในแต่ละเส้นทางอยู่ที่เท่าไหร่ กำไรหรือขาดทุน ซึ่งในประเด็นนี้ทางผู้บริหารการบินไทยเองก็ไม่มีคำตอบ ซึ่งประเด็นนี้อาจเป็นที่มาที่รัฐมนตรีสั่งให้ฝ่ายบริหารรายงานรายได้ ภาวะเงินสดทุกเดือน และทำให้การพิจารณาแผนการจัดซื้อเครื่องบินใหม่สะดุดไปด้วย

ส่วนประเด็นที่ทุกคนกำลังจับตาอยู่ในขณะนี้คือ เมื่อ “เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” โบกมือลาไปแล้ว ต่อไป “ดีดีสุเมธ ดำรงชัยธรรม” จะกล้าเปลี่ยนแปลง แก้ไขและรับมือปัญหาที่ซ้ำซ้อนและฝังอยู่ในทุกอณูขององค์กรแห่งนี้ต่อไปอย่างไร หรือว่าจะเลือกวิธีลาออกตาม “เอกนิติ” ไปอีกคน !