“ทีเส็บ” อวดแผนปี 63 หวังดันหลังไทยขึ้นแท่น “ฮับจัดงานแสดงสินค้านานาชาติโลก”

“ทีเส็บ” จัดกลยุทธ์ใหม่ เดินหน้าดันไทยขึ้น “ฮับงานจัดแสดงสินค้าฯ โลก” เผยดึงงานใหม่ 17 งานพ่วงงานเจ้าภาพจัด The 86th UFI Global Congress ช่วยดันไทยขึ้นแท่นเอเชีย หลังบัลลังก์อาเซียนแข็งแกร่ง ด้าน TEA เผยเอกชนเดินหน้าสร้างศูนย์แสดงสินค้าภูมิภาค 5 ปีขยับพื้นที่ทะลุ 3 แสน ตร.ม. เติบโตไม่น้อยกว่าปีละ 10-15%

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า จากสถิติอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้านานาชาติของประเทศไทย ปีงบประมาณ 2562 มีสัดส่วนประมาณ 20% ของอุตสาหกรรมไมซ์ทั้งหมด โดยมีจำนวนนักเดินทางไมซ์กลุ่มตลาดงานแสดงสินค้านานาชาติเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย 264,005 คน เพิ่มขึ้น 13.20% จากปีก่อน สร้างรายได้ให้เศรษฐกิจ 20,292 ล้านบาท หรือว่าเพิ่มขึ้นประมาณ 5.93% 

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)

นอกจากนั้น ในปีนี้ทีเส็บสามารถดึงงานการจัดแสดงสินค้าจากภายนอกประเทศเข้ามาได้ทั้งหมด 17 งาน ภายใต้การทำงานแนวทาง “Exhibition Redefined; 360” Exhibition Success” ซึ่งแบ่งกลยุทธ์ออกเป็น 5 ด้าน คือ 1) การดึงงานใหม่เข้ามาจัดในประเทศมุ่งเน้น 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย S curve 2) การเตรียมความพร้อมสู่การเป็นเจ้าภาพการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติด้านการบิน โดยมุ่งเน้นการดึงงานไมซ์ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการบินเข้ามาจัดในประเทศไทย 3) การเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการไทยในการจัดงานแสดงสินค้าให้มีมาตรฐาน ร่วมมือกับสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) 

4) การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และการสร้างเครือข่ายพันธมิตรระดับโลก อาทิ การเจาะกลุ่มเป้าหมายผ่านกิจกรรม UFI Asia Pacific Conference Site Trip และ ASEAN Association Meeting และ 5) การสนับสนุนการจัดงานแสดงสินค้าแบบครบวงจร ยกระดับมาตรฐานการจัดงานสู่สากล เพิ่มจำนวนผู้ร่วมแสดงงานมุ่งเน้นกลุ่มประเทศจีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน และเพิ่มจำนวนผู้เข้าชมงานชาวต่างชาติจากกลุ่มประเทศ ASEAN+6 และ CLMV

โดยทั้ง 17 งานใหม่และงานที่มีอยู่แล้วจะกระจายช่วงเวลาการจัดงานออกไปนับตั้งแต่ปีหน้า เมื่อประกอบเข้ากับการเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมาคมอุตสาหกรรมการแสดงสินค้าระดับโลก หรือ The 86th UFI Global Congress ในพื้นที่กรุงเทพฯ  ระหว่างวันที่ 6-9 พฤศจิกายนนี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันรายได้จากนักเดินทางไมซ์ตลาดงานแสดงสินค้านานาชาติ

“โดยคาดการณ์เป้าหมายว่าในปี 2563 จะมีนักเดินทางไมซ์ตลาดงานแสดงสินค้านานาชาติ จำนวน 277,000 คน สร้างรายได้ 21,100 ล้านบาท และจากรายงานอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้าของเอเชีย ประจำปี 2561 โดยสมาคมการแสดงสินค้าโลก หรือ UFI ระบุว่ารายได้จากการจัดงานแสดงสินค้าของประเทศไทยอยู่ในอันดับสูงสุดในอาเซียน หรือคิดเป็นเงิน 232.71 ล้านเหรียญสหรัฐ จากจำนวน 104 งาน ไทยจึงเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้านานาชาติของอาเซียน และเรามีเป้าหมายที่จะไปสู่ผู้นำในเอเชียต่อไป”

ผู้อำนวยการทีเส็บ กล่าวว่า ในงานทีเส็บจะจัดโซนประเทศไทย (Thai Town) สำหรับแสดงศักยภาพของอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติของไทยและไมซ์ซิตี้ พร้อมกับการมีสัมมนาเชิงธุรกิจ หัวข้อ “ประเทศไทย” และจัดให้มีเวทีเจราจาธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมฯไทยและต่างประเทศ (Speed Dating) โดยมีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมเจรจาธุรกิจกว่า 20 ราย รวมทั้งสิ้นกว่า 400 นัดหมาย

การเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม The 86th UFI Global Congress นอกจากจะส่งผลทางด้านเศรษฐกิจ โดยประมาณการผู้เข้าร่วมงานประชุมครั้งนี้กว่า 550 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลก สร้างรายได้กว่า 42 ล้านบาท และคาดว่าจะมีธุรกิจ (Business Lead) เกิดขึ้น 20 งาน สร้างรายได้กว่า 135 ล้านบาท ตลอดจนส่งเสริมภาพลักษณ์ สร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจในประเทศไทย และประกาศความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพการจัดงานระดับโลก ตอกย้ำไทยในฐานะศูนย์กลางการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในภูมิภาคอาเซียน” 

ด้านนายทาลูน เทง นายกสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) กล่าวว่า ในปีข้างหน้าประเทศตลาดการจัดแสดงสินค้าในประเทศไทยจะเติบโตอีกอย่างน้อย 10-15% และจะมีพื้นที่การจัดแสดงสินค้าเพิ่มมากขึ้นตามการขยายตัวของศูนย์จัดแสดงสินค้าของเอกชนที่กำลังขยายไปตามหัวเมืองต่างๆ อย่างอุดรธานี พิษณุโลก ฯลฯ โดยคาดว่าเมื่อรวมกับพื้นที่ศูนย์จัดแสดงสินค้าในกรุงเทพฯ ที่ขณะนี้มีประมาณ 250,000 ตารางเมตร และจะเพิ่มขึ้นเป็น 280,000 ภายใน 2 ปีเมื่อรวมกับไอค่อนฮอลล์และศูนย์สิริกิตฯ ที่กำลังจะเปิด ทำให้ภายใน 5 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะต้องมีพื้นที่ศูนย์จัดแสดงฯ มากกว่า 300,000 ตร.ม.อย่างแน่นอน

นายทาลูน เทง นายกสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย)

นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ศูนย์จัดแสดงฯ จะทำให้พื้นที่จัดงานแสดงฯ โดยรวมเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 7-12% ต่อปี เนื่องจากการเข้ามาของเอกชนและเทรนด์ในการจัดแสดงสินค้าประเภทอาหาร ชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมหนักยังคงได้รับความนิยม เช่นเดียวกับการทำตลาดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เป็นเทรนด์ใหม่สำหรับผู้จัดแสดงสินค้าจะต้องให้ความสนใจ

ในแง่ของการแข่งขันในตลาดอาเซียน ไทยมีทั้งคู่ค้า พันธมิตร และคู่แข่งเป็นอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนามที่กำลังมาแรงแซงทางโค้งจากการเจริญเติบโตทางด้านอุตสาหกรรมหนักภายในประเทศ สำหรับคู่แข่งระดับเอเชียก็จะมีเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฯลฯ ที่ถือว่ามีผลงาน อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน ไทยถือว่าแข็งแกร่งทางด้านงานจัดแสดงสินค้าที่สุดแล้ว