“บันยันทรี สปา” ปรับใหญ่ ! ตั้งเป้าเป็น Wellbeing ครบวงจร

สัมภาษณ์

บันยันทรี สปา (Banyan Tree Spa) เป็นสปาที่ได้ผสมผสานศาสตร์แห่งการดูแลสุขภาพและความงามที่สืบทอดกันมาแบบรุ่นต่อรุ่น เน้นเข้าถึงการบำบัดแบบองค์รวม ซึ่งมีรากฐานมาจากศาสตร์การบำบัดดั้งเดิมจากชาวตะวันออก

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “กิ่งกาญจน์ โอฬารกาญจนิน” ผู้ช่วยรองประธาน และกรรมการบริหาร สปาและแกลเลอรี บริษัท บันยันทรี สปา แอนด์ รีสอร์ต จำกัด ถึงแนวทางการบริหาร และทิศทางธุรกิจของกลุ่มบันยันทรี สปา ไว้ดังนี้

ธุรกิจสปาโตตามการท่องเที่ยว

“กิ่งกาญจน์” บอกว่า ธุรกิจสปาเป็นธุรกิจที่พึ่งพิงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศเป็นสำคัญ หากภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวปรับตัวหรืออยู่ในทิศทางไหน ธุรกิจสปาก็จะเคลื่อนตัวไปในทิศทางนั้น โดยตั้งแต่ปี 2560-2561 ที่ผ่านมา “บันยันทรี สปา” มีการเติบโตของรายได้ต่อเนื่องมาโดยตลอดตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในไทย

แต่ทันทีที่ก้าวเข้าสู่ปี 2562 พบว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยอยู่ในภาวะขยายตัวไม่มากนัก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เป็นตลาดสำคัญของบันยันทรี สปา ประกอบกับบริษัทได้ทำการปิดให้บริการพื้นที่บางส่วนของ “บันยันทรี สปา ภูเก็ต” เพื่อปรับปรุงพื้นที่และยกระดับการให้บริการ ทำให้สาขาภูเก็ตมีรายได้ลดลงประมาณ 5-7% ในช่วงปิดไตรมาส 3 ที่ผ่านมาของปีนี้

อย่างไรก็ตาม คาดว่าบันยันทรี สปา สาขาภูเก็ต จะกลับมาเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ภายในเดือนพฤศจิกายน ปี 2563 ในขณะเดียวกันบริษัทยังอยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์และใช้โอกาสในการปรับปรุงสถานที่ทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงบริการใหม่ ๆ ระหว่างรอประเมินภาพการฟื้นตัวในไตรมาส 4 นี้ด้วย

มั่นใจปี”62 (ยัง) เติบโตได้

สำหรับ “บันยันทรี สปา กรุงเทพฯ” นั้น “กิ่งกาญจน์” บอกว่า ยังคงเป็นตลาดที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในปีนี้ แม้ว่าจะไม่มากเท่ากับที่ผ่านมา ซึ่งจากเดิมทีเดียวลูกค้าของบันยันทรี สปา ทั้ง 2 สาขาในประเทศไทยกว่า 80-90% เป็นลูกค้าชาวต่างชาติ โดยชาติที่มีจำนวนมากที่สุด ได้แก่ จีน, รัสเซีย, เกาหลีใต้ และตลาดในแถบประเทศยุโรป

“ลูกค้าของสาขากรุงเทพฯมีสัดส่วนระหว่างลูกค้าภายในโรงแรมและลูกค้าทั่วไปในสัดส่วนใกล้เคียงกัน ส่วนสาขาภูเก็ตส่วนใหญ่ หรือกว่า 95% จะเป็นแขกจากในโรงแรม”

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่า สำหรับไตรมาส 4 ปีนี้ แม้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกอาจจะไม่ดีมากนัก แต่ภาพรวมของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยจะยังคงมีการเติบโตต่อเนื่องได้ ทำให้ “บันยันทรี สปา” มั่นใจว่าตัวเองจะสามารถประคับประคองสถานการณ์ไปได้ด้วยเช่นกัน

“ตัวเลขในปี 2562 ของเราอาจจะไม่ได้เติบโตดีเหมือนปีที่ผ่านมา แต่ก็จะสามารถรักษาสถานการณ์ให้มีการเติบโตเท่ากับปีก่อน หรือไม่ลดลงเกินกว่า 10%” กิ่งกาญจน์ย้ำ

เล็งเปิดสาขา “กระบี่”

“กิ่งกาญจน์” ยังได้คาดการณ์สถานการณ์ในปี 2563 ด้วยว่า ยังเชื่อมั่นว่าบริษัทจะสามารถรักษาฐานอัตราการเติบโตให้ได้ในอัตราใกล้เคียงกับปี 2562 นี้ได้

ทั้งนี้ เพราะรายได้จากบันยันทรี สปา ภูเก็ต ที่เปิดให้บริการใน 2 เดือนสุดท้ายนั้นอาจจะไม่เพียงพอที่จะทำให้ภาพรวมธุรกิจเกิดการเติบโตได้มากนัก

ทั้งนี้ บันยันทรี สปา ยังคงมีแผนขยายสาขาในประเทศไทยโดยยึดตามแผนการขยายตัวตามโรงแรมเพื่อความเป็นเอกภาพของแบรนด์ และที่สำคัญคือความคุ้มค่าในการลงทุนร่วมกัน

โดยมีแผนจะเปิดให้บริการสาขากระบี่ในอนาคตอันใกล้นี้

ตั้งเป้าเป็น Wellbeing ครบวงจร

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว “บันยันทรี สปา” ตั้งเป้าจะยกระดับจากผู้ให้บริการสปาเพื่อการผ่อนคลายไปสู่ผู้ให้บริการด้าน wellbeing แบบครบวงจร ซึ่งเป็นเทรนด์ของอนาคตอย่างแท้จริง เนื่องจากสถิติจากทั่วโลกระบุตรงกันว่าธุรกิจความงามและการดูแลสุขภาพ (wellness) นั้นเติบโตต่อเนื่องทุกปี

และ “บันยันทรี สปา” ก็ได้วางเป้าหมายยกระดับธุรกิจสปาสู่ธุรกิจเพื่อความอยู่ดีมีสุข (wellbeing) มาตั้งแต่ปี 2561 เนื่องจากเล็งเห็นถึงความต้องการของลูกค้าในกลุ่มตลาดนี้

โดยในปี 2563 ที่กำลังจะถึงนี้ได้เตรียมที่จะเสนอบริการใหม่ ๆ ที่มากกว่าแค่สปาหรือการนวด แต่จะให้บริการที่ครบวงจรสำหรับการใช้ชีวิตทุกด้าน ครอบคลุมไปถึงเรื่องคุณภาพการนอน การรับประทานอาหาร การออกกำลังกายและกิจกรรมส่งเสริมความผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ

โดยมี “บันยันทรี สปา” สาขาภูเก็ต เป็นสาขาโมเดลสำคัญในการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงนี้

คาดเห็นภาพชัดเจนภายใน 5 ปี

โดยนอกจากการให้บริการที่จะค่อย ๆ เพิ่มเติมโปรแกรมใหม่เข้ามาต่อเนื่องแล้ว “บันยันทรี สปา” ยังต้องการจะขยับภาพลักษณ์ของแบรนด์ไปสู่ผู้ให้บริการธุรกิจเพื่อความอยู่ดีมีสุข (wellbeing) แบบครบวงจร โดยให้ความสำคัญกับการสร้างการรับรู้ตำแหน่งของแบรนด์ในสายตาผู้ใช้บริการทั่วโลก โดยคาดว่าภายใน5 ปีนับจากนี้จะเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนและสมบูรณ์มากขึ้น

“กิ่งกาญจน์” ยังบอกด้วยว่า ด้วยสถานการณ์โลกปัจจุบันได้ส่งผลให้หลายคนกังวลจนลดหรือเลิกการจับจ่ายใช้สอยกระทั่งส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในท้ายที่สุดแล้วประเทศไทยก็ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก เนื่องจากมีความหลากหลายที่ค่อนข้างสูง รวมถึงราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ ก็ไม่แพงมากนัก

พร้อมทิ้งท้ายด้วยว่า ททท.ควรเป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อนด้านการตลาด ซึ่งผู้ประกอบการเชื่อว่าจะช่วยดึงโมเมนตัมกลับมายังภาคธุรกิจการท่องเที่ยวได้ รวมถึงผนึกกำลังผู้ประกอบการแต่ละเซ็กเมนต์และจัดโรดแมปเพื่อวางแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวไทยให้ไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น