ก.ท่องเที่ยว-ททท.-อพท. เอ็มโอยูหนุน”เที่ยวชุมชน”

กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จับมือ “ททท.-อพท.” เซ็นเอ็มโอยูดัน “ท่องเที่ยวชุมชน” ระดับนโยบาย รับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยน เร่งเพิ่มรายได้ชุมชนเฉลี่ย 15% ใน 5 ชุมชนนำร่อง ก่อนขยายผลสู่ 40 ชุมชนใน 1 ปีเชื่อสร้างรายได้รวมทะลุ 40 ล้านบาท อพท.ปลื้มท่องเที่ยวชุมชนก้าวสู่ระดับนานาชาติ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า เพื่อตอบโจทย์นโยบายกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่เน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและรักษ์สิ่งแวดล้อม (sustainability) ที่หมายรวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน (community-based tourism) เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท.) จึงร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) เรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการเตรียมความพร้อมให้กับสินค้าการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยมีระยะเวลาผูกพันตามข้อตกลงเป็นเวลา 2 ปี และมีขอบเขตความร่วมมือในหลายด้าน ได้แก่ ด้านส่งเสริมองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพให้ชุมชน โดยร่วมมือส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพชุมชนด้านการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันและพัฒนาสินค้าท่องเที่ยวชุมชนให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย

Advertisement

รวมถึงด้านการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด ซึ่ง ททท.จะส่งเสริมท่องเที่ยวชุมชนในโครงการทัศนศึกษาของบริษัทนำเที่ยวหรือสมาคมท่องเที่ยว ทั้งในกลุ่มตลาดในประเทศและต่างประเทศตามดีมานด์ของกลุ่มตลาด อาทิ consumer fair, travel fair พร้อมมี อพท.สนับสนุนชุมชนเข้าสู่ช่องทางการขายของ ททท. และด้านการประชาสัมพันธ์ ร่วมส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ชุมชนท่องเที่ยวผ่านสื่อทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์

“ในปี 2563 จะมีชุมชนนำร่องในพื้นที่ 5 แห่ง ได้แก่ ทะเลน้อย จ.พัทลุง, ชุมชนตะเคียนเตี้ย จ.ชลบุรี, ชุมชนบ้านแหลม จ.สุพรรณบุรี, ชุมชนบ้านสนวนนอก จ.บุรีรัมย์ และชุมชนบ้านสันลมจอย จ.เชียงใหม่ โดยทั้ง 5 ชุมชนมีศักยภาพในการแข่งขันในระดับนานาชาติ กระจายกันอยู่ครบทั้ง 5 ภาคของประเทศไทย รวมถึงมีบริบทและความโดดเด่นทางการท่องเที่ยวแตกต่างกัน” นายพิพัฒน์กล่าว

นายพิพัฒน์กล่าวด้วยว่า สาเหตุที่เลือกการนำท่องเที่ยวชุมชนมาเป็นเรือธงนั้น เนื่องจากการเจริญเติบโตทางด้านการท่องเที่ยวไม่สามารถวัดได้จากการเติบโตทางด้านปริมาณเพียงอย่างเดียว เนื่องจากพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ภาคการท่องเที่ยวก็ต้องเปลี่ยนแปลงหาช่องทางใหม่ ๆ ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพให้เข้ามาถี่ขึ้นและจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นซึ่งการท่องเที่ยวชุมชนก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง

Advertisement

ด้านนายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท.) กล่าวว่า นอกจาก 5 ชุมชนนำร่องที่ถูกเลือกมาจากชุมชนที่มีความโดดเด่นและความพร้อมอย่างสูงแล้ว อพท.ยังได้ส่งมอบชุมชนดีเด่นประเภทเหรียญทองอีก 7 ชุมชน และชุมชนดีเด่นประเภทเหรียญเงินอีก 32 ชุมชนให้กับ ททท.พร้อมกันไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา

โดยคาดว่าหลังจากการนำร่อง 5 ชุมชนแรกสำเร็จ ททท.จะทยอยนำเกือบ 40 ชุมชนที่ อพท.พัฒนาสำเร็จแล้ว แล้วส่งต่อให้ไปทำการตลาดต่อในระยะต่อไป รวมถึงจะเริ่มนำอีก 90 ชุมชนที่เหลือภายใต้การพัฒนาของ อพท. ในเขตพัฒนาพื้นที่พิเศษไปทำตลาดต่ออีกปีละอย่างน้อย 40 ชุมชน หรือประมาณ 80 ชุมชนในระยะเวลา 2 ปีของเอ็มโอยู

“เชื่อว่าการเซ็นบันทึกข้อตกลงครั้งนี้จะทำให้งานระหว่าง อพท.และ ททท. ในระดับนโยบายมีความชัดเจนมากขึ้น ทำให้ชุมชนได้รับประโยชน์มากขึ้น และสามารถสร้างการท่องเที่ยวชุมชนโดยชุมชนในระดับตลาดนานาชาติได้จริง โดยชุมชนไม่ถูกกะเกณฑ์จากพ่อค้าคนกลาง”

Advertisement

ขณะเดียวกัน นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวเสริมว่า ททท.คาดว่าในระยะเวลาภายใน 1 ปีจะสามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 15%หรือสร้างรายได้เฉลี่ยชุมชนละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท หรือประมาณ 40 ล้านบาทต่อปีใน 40 ชุมชน

นอกจากนี้ กระทรวงและ ททท.ยังให้ความสำคัญกับการเพิ่มความถี่และวันพักของนักท่องเที่ยวไทย โดยตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนครั้งในการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวไทยจาก 2.8 ไปเป็น 3 คนครั้งต่อปี ผ่านการนำเสนอการท่องเที่ยวชุมชนให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติอีกด้วย