กรุงไทย ชี้อุตฯท่องเที่ยวแกร่ง ยัน “เงินบาทแข็ง” ไม่กระทบมู้ดจีนเที่ยวไทย

อุตฯท่องเที่ยวยังแกร่ง ! ศูนย์วิจัยแบงก์กรุงไทยเผยไทยยังครองเบอร์ 1 เดสติเนชั่นในใจนักท่องเที่ยวจีน คาดอีก 10 ปีคนจีนเที่ยวนอกพุ่งกว่า 330 ล้าน แห่เที่ยวไทยทะลุ 20 ล้านคน เผย “ญี่ปุ่น-เวียดนาม” มาแรงโตแซงโค้งไทย พร้อมฟันธงค่าเงินบาทแข็งไม่ใช่ปัจจัยลบ ความปลอดภัยต่างหากที่นักท่องเที่ยวเป็นกังวล แนะผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยเร่งทำตลาดบนออนไลน์จีน

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส (Krungthai COMPASS) ธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ตัวเลขรายได้โดยรวม (GDP) ของประเทศไทยสำหรับปีนี้ว่าจะมีอัตราการเติบโตอยู่ในระดับ 2.5% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ที่ราว 2.8% ซึ่งเป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยที่เผชิญกับปัจจัยลบ อาทิ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง

“ท่องเที่ยว” เสาหลักดัน GDP

ดร.พชรพจน์กล่าวว่า ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลให้ภาคธุรกิจการส่งออกซึ่งเป็นเสาหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศติดลบ อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าสำหรับภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยนั้นยังมีศักยภาพในการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และยังคงเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมสำหรับปีนี้ได้

โดยจากตัวเลขของกระทรวงการท่องเที่ยวฯพบว่า ในช่วง 10 เดือนแรกปีนี้ (มกราคม-ตุลาคม) มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยรวม 32.50 ล้านคนขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.29% สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 1.57 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.97% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

“สำหรับปีนี้ธุรกิจท่องเที่ยวถือเป็นเซ็กเตอร์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และยังคงเชื่อมั่นว่าจำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมในปีหน้าจะยังสามารถขยายตัวได้อีกราว 5%”

คาดปี”62 จีนเที่ยวไทย 11.1 ล้าน

นางสาวพิมฉัตร เอกฉันท์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทยกล่าวเสริมว่า จากงานวิจัยเกาะติดทิศทางนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุดถึงราว 160 ล้านคนในปีนี้ เพื่อดูแลศึกษาทิศทางนักท่องเที่ยวจีนในอีก 10 ปีข้างหน้า รวมถึงดูแนวโน้มการเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยของนักท่องเที่ยวชาวจีน พบว่า คนจีนยังมีแนวโน้มเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าใน 10 ปีข้างหน้าจะมีจำนวนคนจีนเดินทางออกไปท่องเที่ยวทั่วโลกรวมประมาณ 334 ล้านคนจากจำนวนประมาณ 160 ล้านคนในปี 2562

“จากการวิจัยยังพบว่า คนจีนเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละประมาณ 6.9% และเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือกลุ่มมิลเลนเนียลที่เข้าถึงเทคโนโลยีและโลกออนไลน์สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการท่องเที่ยวด้วยตัวเอง และปัจจัยเรื่องการอำนวยความสะดวกด้านการเดินทาง นอกจากนี้ จีนยังมีแผนเพิ่มสนามบินใหม่อีกกว่า 200 แห่งหรือมีสนามบินในประเทศถึงราว 450 แห่งภายใน 10 ปีข้างหน้า รวมถึงนโยบายผ่อนปรนด้านวีซ่าของประเทศต่าง ๆ ที่ทำให้คนจีนเดินทางท่องเที่ยวได้ง่ายขึ้นด้วย” นางสาวพิมฉัตรกล่าว

และว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนยังคงเป็นตลาดหลักที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทยสูงสุดอันดับ 1 โดยคาดว่าปีนี้จะมีจำนวนที่ราว 11.1 ล้านคน และขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 11.6-12 ล้านคนในปีหน้า ทั้งนี้ หากประเทศไทยสามารถรักษาอัตราการเติบโตไว้ได้ในระดับ 7% จะทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยถึงราว 23 ล้านคนในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือหากการแข่งขันรุนแรงขึ้นอาจทำให้นักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยขยายตัวได้ในอัตราที่ราว 5.5% หรืออยู่ที่ประมาณ 20 ล้านคนในอีก 10 ปีข้างหน้า

“ความปลอดภัย” หัวใจหลัก

ด้านนายณัฐพร ศรีทอง หัวหน้าส่วนทีมวิจัย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวเสริมว่า งานวิจัยดังกล่าวยังชี้ชัดว่าประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางอันดับ 1 ที่คนจีนนิยมมาเที่ยว โดยในปี 2561 ที่ผ่านมามีส่วนแบ่งตลาด 15% ตามด้วยญี่ปุ่น 12% และเวียดนาม 7% และพบว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพบว่าอัตราการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวญี่ปุ่นและเวียดนามพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในอัตรา 37% และ 26% ตามลำดับ ขณะที่ประเทศไทยเติบโตเฉลี่ยที่ 25%

หากประเมินในช่วง 9 เดือนแรกที่ผ่านมา พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวเกาหลีขยายตัวสูงสุดที่ 27% ตามด้วยญี่ปุ่น 15%, สิงคโปร์ 5%, เวียดนาม 4% และไทย 2% โดยปัจจัยที่นักท่องเที่ยวจีนคำนึงถึงเมื่อจะมาท่องเที่ยวเมืองไทย คือ ธรรมชาติที่สวยงาม, วัฒนธรรม, บริการที่ดี การเดินทางที่สะดวก รวมถึงราคาที่ดีเมื่อเทียบกับคู่แข่ง

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีปัจจัยลบในเรื่องของความปลอดภัย ซึ่งถือว่าเป็นจุดอันตรายและน่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากประเทศคู่แข่งของไทยอย่างเวียดนามมีอันดับความปลอดภัยสูงกว่ามาก ขณะที่ปัจจัยบวกด้านอื่น ๆ อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน

“ค่าเงิน” ไม่กระทบท่องเที่ยวจีน

นางสาวพิมฉัตรกล่าวเสริมด้วยว่า จากการวิจัยครั้งนี้ยังพบด้วยว่า การชะลอตัวของนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยนั้นยังคงเป็นประเด็นเรื่องของมาตรการด้านความปลอดภัย และยังคงเป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ตในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2561 เป็นหลัก

“ประเด็นเรื่องเศรษฐกิจโลก สงครามการค้า และค่าเงินบาทที่แข็งค่า หรือค่าเงินหยวนที่อ่อนค่านั้นส่งผลกระทบน้อยมาก”

นางสาวพิมฉัตรกล่าวและว่า นอกจากนี้ยังพบว่าค่าเงินที่ผันผวนมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวต่างประเทศของจีนน้อยมาก โดยพบว่ามีปัจจัยอื่นที่เป็นตัวกำหนดอนาคตของการท่องเที่ยวมากกว่าระดับค่าเงิน ซึ่งหากวิเคราะห์ภาพรวมการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยใน 7 ประเทศที่คนจีนไปเที่ยวมากที่สุด (ไทย, ญี่ปุ่น, เวียดนาม, เกาหลีใต้, สิงคโปร์, สหรัฐ และอินโดนีเซีย) ตั้งแต่ปี 2553-2561 ที่ผ่านมานั้นเป็นช่วงที่มีทั้งปัจจัยบวกและลบที่ส่งผลต่อการเดินทางของคนจีนออกนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง

แนะทำตลาดออนไลน์

นายณัฐพรกล่าวเสริมด้วยว่า จากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มมิลเลนเนียลนั้น ทำให้คาดว่าโครงสร้างนักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง (FIT) มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากเดิมที่โครงสร้างหลักจะเดินทางผ่านบริษัทนำเที่ยว โดยกลุ่มดังกล่าวนี้จะให้บริโภคข่าวสารและคอนเทนต์ผ่านโซเชียลมีเดีย (WeChat, Weibo)ในสัดส่วนถึง 40% ที่สำคัญโซเชียลมีเดียยังมีอิทธิพลต่อการรับรู้สินค้า ประเมินและเปรียบเทียบ รวมถึงช่วยในการตัดสินใจซื้อเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

“ผู้ประกอบการไทยที่โฟกัสตลาดจีนควรทำการตลาดบนโซเชียลมีเดียของจีนเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักเพราะมีกฎระเบียบค่อนข้างมาก ที่สำคัญก็มีงบประมาณจำนวนหนึ่งที่มากระดับหนึ่งด้วย” นายณัฐพรกล่าว