หัวเรือใหม่ “ไทยแลนด์ อีลิท” เร่งกระตุ้นตลาด-แก้ขาดทุนสะสม

สัมภาษณ์

กว่า 1 ปีที่ตำแหน่ง “ผู้จัดการใหญ่” ไทยแลนด์ อีลิท คาร์ด หรือทีพีซี ผู้ดำเนินงานโครงการบัตรเอกสิทธิ์พิเศษสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการพำนักในประเทศไทย “ไทยแลนด์ อีลิท คาร์ด” ได้ว่างลงหลังจากที่ “พฤกษ์ บุปผาคำ” ได้ยื่นใบลาออกเมื่อกลางปี 2561 ในที่สุดบอร์ดทีพีซีก็ได้แต่งตั้ง “สมชัย สูงสว่าง”เป็นผู้จัดการใหญ่เรียบร้อยแล้ว

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมสัมภาษณ์ “สมชัย สูงสว่าง” ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด (ทีพีซี) ผู้ดำเนินโครงการบัตร “ไทยแลนด์ อีลิท คาร์ด” ถึงแนวทางในการบริหารจัดการเพื่อนำพาองค์กร พร้อมตอกย้ำบทบาทในการเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไว้ดังนี้

“สมชัย” บอกว่า ที่ผ่านมาตนคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงธุรกิจมาโดยตลอดและผ่านธุรกิจมาจากหลากหลายด้าน ตั้งแต่นั่งในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของบริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) ก่อนจะขยับมารับตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป ประจำประเทศไทย ที่บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (ประเทศไทย) และรับตำแหน่งสุดท้ายในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ก่อนที่จะตัดสินใจสมัครเข้ามารับตำแหน่งในบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด

โดยสาเหตุสำคัญที่ตัดสินใจเข้าสู่การทำงานในบริษัทของรัฐนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเดิมตนมีความสนใจในฟังก์ชั่นการทำงานของ “ไทยแลนด์ อีลิท คาร์ด” อยู่ก่อนแล้ว และเล็งเห็นว่าการทำงานกับองค์กรที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยว น่าจะสามารถเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ตนสามารถลงแรงช่วยทำอะไรคืนกลับให้ประเทศชาติได้บ้าง

“สมชัย” บอกว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเข้ามารับงานนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด ยังคงมียอดขาดทุนสะสมเหลืออยู่อีกราว 500 ล้านบาท ทำให้แม้ปีงบประมาณ 2562 ที่ผ่านมา บริษัทจะมีรายได้จากการขายบัตรสมาชิกกว่า 1,300 ล้านบาทและมีกำไรมากกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามีการเติบโตกว่าปี 2561 ซึ่งทำยอดขายได้เพียง 1,021 ล้านบาท แต่บริษัทก็ยังไม่สามารถล้างขาดทุนและจ่ายปันผลคืนกลับให้กับผู้ถือหุ้นรายเดียวอย่าง ททท.ได้

“ส่วนตัวยืนยันว่าบริษัทมีสภาพคล่องและกระแสเงินสดพอที่จะบริหารจัดการบริษัทให้ออกดอกออกผล รวมถึงบัตรไทยแลนด์ อีลิท คาร์ดยังคงมีศักยภาพในการดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มพรีเมี่ยมตัดสินใจร่วมเป็นสมาชิก และเพิ่มการเดินทางมาพำนักในไทยทั้งระยะสั้นและระยะยาวมากขึ้น” สมชัยย้ำ

บวกกับปีที่ผ่านมา “ไทยแลนด์ อีลิท คาร์ด” ได้รับเลือกให้ติดอันดับ 1 ใน 5 จากการจัดอันดับในหัวข้อ The Global Residence Program Index 2018-2019 ขององค์กรที่ดูแลทางด้านการย้ายถิ่นฐาน โดยอยู่ในอันดับที่ 4 จาก 20 ประเทศทั่วโลกว่าเป็นประเทศที่มีความเหมาะสมในการอยู่อาศัยด้วยปัจจัยหลายประการอาทิ ชื่อเสียง คุณภาพชีวิต ภาษี การลงทุน ค่าครองชีพ ฯลฯ ทำให้ปัจจุบันสมาชิกผู้ถือบัตร “ไทยแลนด์ อีลิท คาร์ด”

มีจำนวน 8,602 ราย เติบโตราว 20% จาก 7,135 รายในปี 2561 และมีอัตราเติบโตมาตลอดหลายปีติดกัน โดยประเทศที่ติดอันดับยอดขายบัตรสมาชิกสูงสุด คือ จีน, อังกฤษ, ญี่ปุ่น, อเมริกา และฝรั่งเศส

ทั้งนี้ แพ็กเกจที่ได้รับความนิยมและมียอดสมาชิกสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อีลิท อีซี่ แอสเซส (Elite Easy Access) ระยะเวลา 5 ปี ราคา 500,000 บาท, อีลิท ซูพีเรียริตี้ เอ็กซ์เทนชั่น (Elite Superiority Extension) ระยะเวลา 20 ปี ราคา 1 ล้านบาท และอีลิท แฟมิลี เอ็กซ์เคอร์ชัน (Elite Family Excursion) ระยะเวลา 5 ปี ราคา 800,000 บาท

“สมชัย” บอกด้วยว่า งานต่อไปตามแผนที่วางไว้ของบริษัทจึงเป็นการเร่งรุกขยายตลาดใหม่ ๆ โดยเน้นหาตัวแทนจำหน่ายเพื่อทำตลาดใน 5 ประเทศ ซึ่งเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตสูงและค่อนข้างมีศักยภาพ อาทิ ตลาดจีน, ออสเตรเลีย, อินเดีย, ญี่ปุ่น, อังกฤษ, บังกลาเทศ เป็นต้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายต่อไปของบริษัทในการเพิ่มสมาชิกบัตรอีกอย่างน้อยเดือนละ 200 ราย และสร้างการเติบโตเชิงรายได้ได้กว่า 1,500 ล้านบาทในปี 2563 และล้างขาดทุนสะสมได้ภายใน 3-4 ปีข้างหน้าโดยทั้ง 5 ตลาดที่ถูกเลือกนั้นเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูงมากอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะตลาดจีนที่เติบโตถึง 88% รวมถึงตลาดอังกฤษและบังกลาเทศที่เติบโตถึง 42% และ 36% ตามลำดับ

ส่วนตลาดญี่ปุ่นเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตอย่างสม่ำเสมอ และประชากรญี่ปุ่นให้ความสนใจกับการมาเที่ยวพักผ่อนในประเทศไทย เพื่อสำรวจโอกาสในการใช้ชีวิตช่วงหลังเกษียณค่อนข้างมาก

ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด ยังให้สัมภาษณ์ถึงเป้าหมายระยะยาวของตัวเองในตำแหน่งด้วยว่า ในอนาคตอยากจะเห็น “ไทยแลนด์ อีลิท คาร์ด” ขยายการให้บริการอย่างเต็มรูปแบบออกไปยังท่าอากาศยานนานาชาติอื่น ๆ ในประเทศไทยให้ครบถ้วน จากของเดิมในปัจจุบันที่มีการทำงานอย่างเต็มรูปแบบในท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิและภูเก็ตเท่านั้น