ไต้หวันวิพากษ์ e-Visa ไทย ชี้ระบบไม่เอื้อ-กระทบ “เที่ยวไทย”

ดร.ถง เจิ้น หยวน

สัมภาษณ์พิเศษ

จากที่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ณ กรุงไทเป ไต้หวัน (Thai Trade and Economic Office, Office Taipei หรือ TTEO)ได้ประกาศเปลี่ยนรูปแบบการยื่นขอวีซ่าสำหรับคนไต้หวันเข้าประเทศไทย เป็นระบบ e-Visa โดยกำหนดเริ่มใช้ 31 มีนาคม2563 ซึ่งเป็นการเลื่อนการบังคับใช้มาจาก 30 พฤศจิกายน 2562 เพื่อให้นักท่องเที่ยวและกลุ่มผู้ประกอบการทัวร์ไต้หวันได้เตรียมความพร้อม และทำความเข้าใจในระบบการยื่นขอวีซ่ารูปแบบใหม่

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “ดร.ถง เจิ้น หยวน” ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ถึงประเด็นการเปลี่ยนระบบยื่นขอวีซ่าของสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ณ กรุงไทเป ไต้หวันเป็นรูปแบบ e-Visa รวมถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น และข้อเสนอต่าง ๆ ต่อภาครัฐของไทยไว้ ดังนี้

ยันซีเรียสเอกสารการเงิน

“ดร.ถง” เริ่มต้นให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากที่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ณ กรุงไทเป ไต้หวัน ออกประกาศว่า จะเปลี่ยนรูปแบบการยื่นขอวีซ่าเป็นขอผ่านระบบ e-Visa พร้อมทั้งระบุให้มีเอกสารเพิ่มเติม โดยเฉพาะเอกสารทางการเงินนั้นปฏิกิริยาตอบรับ หรือ feedback ของประชาชนคนไต้หวันค่อนข้างซีเรียสมากในเรื่องการขอเอกสารทางการเงิน

โดยมองว่าเอกสารเหล่านี้ทำให้พวกเขาไม่สะดวก และต้องใช้ระยะเวลาในการยื่นขอวีซ่า จึงมองว่าระบบของ e-Visa เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งของการมาเที่ยวประเทศไทย

สื่อไต้หวันทุกแขนงโหมข่าวหนัก

และบอกด้วยว่า ประเด็นดังกล่าวนี้เป็นที่สนใจของประชาชนคนไต้หวัน และผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวอย่างมาก และสื่อมวลชนไต้หวันก็สนใจและให้ความสำคัญกับการนำเสนอข่าวดังกล่าวนี้มาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมาที่มีกระแสนี้เกิดขึ้น โดยพบว่าระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน-10 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา มีสื่อแขนงต่าง ๆ ของไต้หวันนำเสนอข่าวมากถึง 95 ครั้ง

ที่สำคัญ ประชาชนคนไต้หวันให้ความสนใจและติดตามข่าวกันตลอด และมองว่าระบบใหม่ดังกล่าวนี้เป็นปัญหา และเริ่มมีคอมเมนต์ มีการแชร์ลิงก์ข่าวกันเป็นจำนวนมากด้วย

ไต้หวันเที่ยวไทย 5 ปีพุ่ง 157%

“ดร.ถง” บอกด้วยว่า สำหรับประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่คนไต้หวันเดินทางมาเที่ยวค่อนข้างเยอะมาก โดยปี 2561 ที่ผ่านมา มีจำนวนคนไต้หวันมาเที่ยวประเทศไทยถึง 6.8 แสนคน เติบโตเพิ่มขึ้น 22.8% และคาดการณ์ว่าปีนี้ คนไต้หวันจะเข้ามาเที่ยวประเทศไทยมากกว่า 8.2 แสนคน

และหากดูตัวเลขย้อนหลังตั้งแต่ปี 2015-2018 ยังพบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวไต้หวันที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 157% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนี้สะท้อนชัดเจนว่า คนไต้หวันนิยมมาเที่ยวเมืองไทยจริง ๆ ทั้งนี้ จากสถิติคนไต้หวันเที่ยวต่างประเทศในปี 2561 พบว่า ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมอันดับ 5 ของคนไต้หวันรองจากญี่ปุ่น, จีน, ฮ่องกง และเกาหลีใต้

“คนไต้หวันมาเที่ยวไทยเยอะมาก และเขาก็อยากจะให้ความสำคัญกับการมาเที่ยวจริง ๆ พอเขารู้เงื่อนไขของการประกาศเปลี่ยนรูปแบบการขอวีซ่าของไทยก็เลยรู้สึกว่า ต้องเตรียมเอกสารมากมายขนาดนั้นเลยหรือ ทำให้หลายคนเริ่มคิดถึงบัดเจตมากขึ้น และมองว่าการมาเที่ยวเมืองไทยจะคุ้มค่าไหม”

124 ปท.ทั่วโลกเปิดฟรีวีซ่า

พร้อมทั้งยังบอกด้วยว่า ปัจจุบันมีมากถึง 124 ประเทศทั่วโลกที่เปิดฟรีวีซ่าให้กับไต้หวัน ซึ่งในโซนประเทศใกล้ ๆ กับไทยอย่างอินเดีย, มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งทั้ง 3 ประเทศนี้ก็ได้เปิดฟรีวีซ่าให้ไต้หวันด้วยเช่นกัน โดยเหตุผลก็คืออยากให้คนไต้หวันไปเที่ยวประเทศของเขา

แต่สำหรับประเทศไทยนั้นกลับเพิ่มขั้นตอนในการยื่นขอวีซ่า และเพิ่มเอกสารประกอบการขอ ทำให้คนไต้หวันรู้สึกว่ายุ่งยาก ลำบากขึ้น

ดังนั้นจึงขอสรุปออกมาเป็น 2 ประเด็นหลัก ประเด็นแรก คือ คนไต้หวันเขารู้สึกว่าการเพิ่มเอกสารหลักฐานทางการเงินเป็นสิ่งที่ไม่สมควร เพราะทำให้เขาไม่สะดวก

และประการที่สอง คือ ทางไต้หวันค่อนข้างมั่นใจว่า นักท่องเที่ยวไต้หวันที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยนั้น พวกเขามีความตั้งใจที่จะมาเที่ยวจริง ๆ ไม่มีหลบมาทำงาน หรือมาทำอะไรในด้านลบ เพราะว่ารายได้พื้นฐานของคนไต้หวันค่อนข้างสูงและมากกว่าประเทศไทย

ชี้กระทบกระแสไต้หวันเที่ยวไทย

ต่อคำถามที่ว่า ประเด็นที่เกิดขึ้นนี้ทำให้นักท่องเที่ยว หรือบริษัทนำเที่ยว ทำการยกเลิกการเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยหรือยัง “ดร.ถง” ให้ข้อมูลว่า สำหรับเรื่องของการยกเลิกโปรแกรมมาเที่ยวประเทศไทยนั้นยังไม่เห็นชัดเจนนัก แต่ทำให้คนไต้หวันรู้สึกว่ายุ่งยากขึ้นแน่ ๆ และอาจจะส่งผลกระทบให้คนไต้หวันมาเที่ยวไทยลดน้อยลงได้

อย่างไรก็ตาม จากการมอนิเตอร์ของผู้อำนวยการฝ่ายการท่องเที่ยวของสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย พบว่า ทุกภาคส่วนในไต้หวันให้ความสนใจอัพเดตข้อมูลกันเป็นอย่างมาก

และนับตั้งแต่มีประกาศออกมาก็มีผู้ประกอบการจำนวนมากที่แสดงความไม่พอใจ ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าประเด็นดังกล่าวนี้น่าจะถูกพูดถึงกันอย่างมากอีกครั้งในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนถึงเวลาใช้ระบบใหม่วันที่ 1 มีนาคม 2563

แนะไทยปรับเงื่อนไข-ลดขั้นตอน

ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ทิ้งท้ายด้วยว่า จากประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ทางสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปอยากนำเสนอใน 3 ประเด็นหลัก ๆ

ประกอบด้วย 1.อยากให้ทางประเทศไทยยกเลิกการใช้เอกสารหลักฐานทางการเงินเพื่อประกอบการยื่นขอวีซ่า 2.อยากให้ลดขั้นตอนการสแกนอัพโหลดข้อมูล เป็นการกรอกข้อมูลเบื้องต้น เบอร์ติดต่อ เพื่อยืนยันตัวตน ไม่ต้องอัพโหลดเอกสารทุกอย่าง เพราะนักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มผู้ใหญ่ เขาอาจจะไม่สะดวกหรือทำไม่เป็น และ 3.ก่อนที่จะประกาศใช้ระบบใหม่อยากให้ประกาศออกมาก่อน หรือนัดผู้ประกอบการของไต้หวันเพื่อให้ได้รับทราบเรื่องนี้ก่อน

และหากเป็นไปได้ หรือมีโอกาสก็อยากให้ประเทศไทยพิจารณาในเรื่องการเปิดฟรีวีซ่าให้กับคนไต้หวันด้วย เพราะไต้หวันได้เปิดฟรีวีซ่าให้กับคนไทยไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2016 ทั้งนี้ เพื่อให้โอกาสคนไต้หวันเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยได้สะดวกขึ้น

พร้อมทั้งย้ำว่า หวังว่าในช่วงเวลาก่อนที่จะถึงกำหนดการใช้ระบบ e-Visa ในวันที่ 1 มีนาคม 2563 นี้ ทางรัฐบาลไทยจะพิจารณาลดเงื่อนไขในการยื่นขอวีซ่าให้กับคนไต้หวันลง เพื่อความสะดวกของคนไต้หวันที่จะมาเที่ยวประเทศไทยได้มากขึ้น…

 

“แอตต้า” หวั่นกระแสบอยคอต แนะ “ภาครัฐ” ทบทวนปัญหา

สำหรับในฟากของเอกชนท่องเที่ยวของไทยนั้น “สุรวัช อัครวรมาศ” อุปนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว(แอตต้า) ผู้ดูแลตลาดไต้หวัน ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงประเด็นปัญหาดังกล่าวว่า ทางสมาคมแอตต้าได้ติดตามข่าวที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นจากกลุ่มบริษัทนำเที่ยวไต้หวันที่เดินทางมาประเทศไทยในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

“สุรวัช” บอกว่า สมาคมแอตต้าในฐานะที่เป็นตัวแทนภาคเอกชน เมื่อรับทราบว่าคู่ค้าที่ไต้หวันมีปัญหาจึงมีหน้าที่ต้องดูแลเขาด้วย โดยขณะนี้ทางสมาคมแอตต้าได้เตรียมทำหนังสือเพื่อแจ้งเรียนถึงผลกระทบและปัญหาที่เกิดขึ้น และจำเป็นต้องแก้ไขโดยเร่งด่วนต่อรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป

สุรวัช อัครวรมาศ

โดยสาระหลักของหนังสือดังกล่าวระบุว่า ให้ภาครัฐเล็งเห็นถึงความสำคัญของตลาดนักท่องเที่ยวไต้หวันที่มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องถึงปีละกว่า 20% ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีจำนวนมากกว่า 8 แสนคนในปีนี้ และให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันนี้มีกว่า 120 ประเทศทั่วโลกที่คนไต้หวันสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า เนื่องจากไต้หวันเป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ค่อนข้างสูง

พร้อมทั้งขอให้รัฐบาลไทยพิจารณาทบทวนเงื่อนไขการยื่นขอวีซ่าสำหรับคนไต้หวันที่จะเดินทางมาประเทศไทยอีกรอบ เพื่อให้เกิดความสะดวกมากยิ่งขึ้น เนื่องจากกระบวนการปัจจุบันที่คนไต้หวันพูดกัน คือ แม้ว่าจะยื่นผ่านระบบ e-Visa ก็ยังต้องนำพาสปอตไปติดสติ๊กเกอร์ที่สำนักงานการค้าฯอีกครั้ง ซึ่งกลายเป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อน

“จากการทำงานร่วมกับเอเย่นต์ทัวร์ไต้หวันพบว่า ประเด็นสำคัญในตอนนี้ คือ คนไต้หวันเริ่มมีกระแสไม่พอใจ ต่อต้านและ boycott ประเทศไทยบ้างแล้ว โดยบางส่วนทำการยกเลิกโปรแกรมเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าวิตกอย่างมาก เพราะหากคนไต้หวันบอยคอตไม่มาเที่ยวเมืองไทยเมื่อไหร่ การจะกู้คืนสถานการณ์ให้นักท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้งจะทำได้ค่อนข้างยาก” สุรวัชกล่าว

“สุรวัช” ยังบอกด้วยว่า เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร ได้นำประเด็นปัญหาและอุปสรรคของการทำตลาดท่องเที่ยวเอาต์บาวนด์ (ขาออก) มาประเทศไทย กรณีสถานทูตไทยจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการยื่นขอวีซ่าของนักท่องเที่ยวชาวไต้หวัน พร้อมได้เชิญผู้แทนจากกรมการกงสุล และผู้แทนจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง มาร่วมประชุมหารือด้วย

หลังจากประชุม ภาครัฐของไทยก็ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน โดยสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ณ กรุงไทเป ไต้หวัน (Thai Trade and Economic Office, Office Taipei) หรือ TTEO ก็ได้ประกาศเลื่อนวันกำหนดใช้ระบบการยื่นขอวีซ่าให้คนไต้หวัน ไปเป็นวันที่ 1 มีนาคม 2563 จากเดิมที่จะเริ่มใช้วันที่ 3 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมาถือเป็นการแก้ปัญหาแบบเร่งด่วนที่สะท้อนให้คนไต้หวันรู้สึกว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับตลาดไต้หวันเช่นกัน

พร้อมทิ้งท้ายว่าในช่วงเวลาที่เหลืออีก 2 เดือนก่อนที่ระบบ e-Visa ใหม่สำหรับคนไต้หวันจะเริ่มใช้ 1 มีนาคมนี้ จึงน่าจะเป็น “เวลา” และ “จังหวะ” ที่ดี ที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะได้กลับมาทบทวนประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นอีกครั้ง…