ท่องเที่ยวไทยลุ้น “ค่าบาทอ่อน” หนุนต่างชาติเที่ยวไทย”63 ทะลุ 42 ล้านคน

เอกชนท่องเที่ยวชี้อุตฯท่องเที่ยวไทยปี”63 ยังโตได้ เผยปัจจัยลบเบร็กซิต สงครามการค้า ปัญหาสหรัฐ-อิหร่านเริ่มลดความรุนแรง เหลือลุ้นแค่ “ค่าเงินบาท” คาดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ปีนี้ขยับแตะ 42 ล้านคน เร่งเพิ่มน้ำหนักรุก “อินเดีย-อาเซียน” ด้าน ส.โรงแรมเร่งเพิ่มอัตราการเข้าพักเฉลี่ยกลับมาอยู่ในระดับ 80% เท่ากับปี”61 แนะผู้ประกอบการมุ่งสู่ความยั่งยืน พร้อมก้าวทันเทคโนโลยี-นวัตกรรมใหม่

นายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวถึงทิศทางภาพรวมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยสำหรับปี 2563 นี้ว่า ทางสมาคมแอตต้าคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยปีนี้จะยังคงเติบโตได้ต่อเนื่องในระดับ 3-5% หรือเพิ่มขึ้น 1-2 ล้านคน จากปี 2562 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวรวมอยู่ที่ 39.7 ล้านคน หรือมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมที่ราวประมาณ 41-42 ล้านคน

(ยัง) ต้องลุ้น “ค่าเงินบาท”

“การคาดการณ์ดังกล่าวนี้เป็นการคาดการณ์สถานการณ์ในปัจจุบัน คือ สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ เริ่มเจรจากันได้ และปัญหาระหว่างสหรัฐและอิหร่านก็เริ่มลดความรุนแรงลง จะเหลือปัจจัยลบที่น่าเป็นห่วงเรื่องเดียว คือ ค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง และเชื่อว่าการขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยจะขึ้น-ลงตามภาวะการผันผวนของค่าเงินบาท หากโชคดีค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยไปอยู่ที่ 31-32 บาท ก็น่าจะเอื้อให้ต่างชาติเดินทางมาเที่ยวมากขึ้น แต่หากโชคไม่ดี เงินบาทแข็งค่าไปอยู่ในระดับต่ำกว่า 30 บาท อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยก็จะยิ่งน่าเป็นห่วงเพิ่มขึ้น” นายวิชิตกล่าว

ทั้งนี้ คาดว่าตลาดจีนจะยังสามารถครองแชมป์ตลาดที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของไทย ไปได้อีกไม่ต่ำกว่า 10 ปี เนื่องจากด้วยจำนวนประชากร การเติบโตของจีดีพี และชนชั้นกลางของจีนที่เพิ่มขึ้นกว่าปีละ 10 ล้านคน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่เติบโตอย่างก้าวกระโดดเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

มุ่งโฟกัส “อินเดีย-อาเซียน”

นายวิชิตกล่าวด้วยว่า นอกจากนักท่องเที่ยวตลาดจีนแล้ว ประเทศไทยยังมีตลาดอินเดียและตลาดอาเซียน หรือ CLMV ซึ่งทั้ง 2 ตลาดดังกล่าวนี้เป็นตลาดที่มีศักยภาพและยังมีโอกาสทางการตลาดที่สูง และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

โดยในส่วนของตลาดอินเดียนั้นเป็นตลาดศักยภาพด้วยจำนวนประชากรและอัตราการเติบโตของจีดีพีสูงถึงปีละ 7-8% ทำให้เชื่อว่าในอีกไม่เกิน 10 ปี อินเดียจะมีขนาดทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับจีน ขณะที่ตลาดอาเซียนก็มีจำนวนรวมกันทั้งหมดแล้วใกล้เคียงกับตลาดจีน ที่สำคัญเป็นตลาดที่มีการเติบโตที่น่าสนใจ นอกจากนี้ยังเป็นตลาดระยะใกล้ง่ายกับการทำการตลาดอีกด้วย

สำหรับตลาดในโซนยุโรปนั้นมีปัจจัยการเติบโตที่แตกต่างกัน แม้ว่าจะยังสามารถทำตลาดได้ แต่น่าจะเป็นตลาดที่มีอัตราการขยายตัวได้ไม่สูงนัก เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในโซนยุโรปไม่สูงนัก ที่สำคัญโครงสร้างประชากรของประเทศในยุโรปเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นรูปแบบการทำการตลาดจึงต้องใช้ความเชี่ยวชาญและมุ่งโฟกัสเฉพาะกลุ่มให้มากยิ่งขึ้น

ชี้นักท่องเที่ยวกระจายสู่เมืองรอง

สำหรับปี 2562 ที่ผ่านมานั้น นายวิชิตกล่าวว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านสมาคม ใน 2 ท่าอากาศยานคือดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเป็นกรุ๊ปทัวร์ โดยภาพรวมมีจำนวนลดลงเกือบทุกตลาด ไม่ว่าจะเป็น จีน, เวียดนาม, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น ฯลฯ ใน 10 ลำดับแรกมีเพียงตลาดอินเดียและตลาดไต้หวันเท่านั้นที่มีการเติบโต 3.65% และ 22.17% ตามลำดับ

โดยจากสถิติของกระทรวงการท่องเที่ยวฯระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวโดยภาพรวมมีจำนวนรวม 39.7 ล้านคน เติบโตเพิ่มขึ้นราว 4% นั่นหมายความว่าจำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมของไทยยังคงเติบโตต่อเนื่อง แต่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เปลี่ยนรูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวเป็นนักท่องเที่ยวอิสระ หรือ FIT ส่วนที่เดินทางท่องเที่ยวกับกรุ๊ปทัวร์ลดน้อยลง รวมถึงมีความเป็นไปได้ที่นักท่องเที่ยวจะหันมาเดินทางไปยังท่าอากาศยานภูมิภาคที่กระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปี 2562 ที่ผ่านมา การเติบโตของนักท่องเที่ยวต่ำกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา โดยเชื่อว่าจะมีสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง คือ ค่าเงินบาทที่ทวีความแข็งค่า และยังคงมีแนวโน้มที่จะทวีความแข็งค่าขึ้นอีกในปี 2563 นี้

โรงแรมเร่งเพิ่มอัตราเข้าพัก

ด้านนางศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) กล่าวว่าผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจโรงแรมในปี 2562 ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เติบโตต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ แต่ก็ยังถือว่าเติบโตในระดับที่รับได้ โดยอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมทั่วประเทศอยู่ในระดับประมาณ 75%

ทั้งนี้ หากแบ่งตามภูมิภาคพบว่า โรงแรม ที่พักในเขตกรุงเทพฯ และภาคกลาง มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 81%, ภาคใต้เฉลี่ย 76.9%, ภาคเหนือเฉลี่ย 64.2% และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลี่ย 59.4% ซึ่งถือว่าลดลงจากปีก่อนทุกภูมิภาค

นางศุภวรรณกล่าวต่อไปว่า สาเหตุหลักที่อัตราการเข้าพักโดยรวมลดลงนั้นเป็นผลจากนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งมีสัดส่วน 30% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดของไทยเดินทางมาน้อยลง ทำให้ผู้ประกอบการหันมาแข่งขันด้านราคารุนแรงขึ้น รวมถึงผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งที่ทำให้นักท่องเที่ยวหลีกเลี่ยงการเดินทางมาประเทศไทย และหันไปเที่ยวในประเทศคู่แข่งแทน อาทิ เวียดนาม เป็นต้น

“อีกเหตุผลหนึ่ง คือ ประเทศไทยเรากำลังจะมีห้องพักเพิ่มอีก 50,000 ห้องในช่วงปี 2 ปีนี้ ทำให้ปี 2563 น่าจะเป็นปีที่ยากสำหรับผู้ประกอบการในการดึงนักท่องเที่ยวเข้าสู่โรงแรม” นางศุภวรรณกล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ในปีนี้กลุ่มธุรกิจโรงแรมตั้งเป้าจะทำการตลาดเพื่อผลักดันอัตราการเข้าพักเฉลี่ยโดยรวมให้เพิ่มขึ้นจากประมาณ 75% ในปีที่ผ่านมา ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 80% ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2561 ให้ได้

แนะผู้ประกอบการเร่งปรับตัว

นางศุภวรรณกล่าวต่อไปอีกว่า ขณะเดียวกันทางสมาคมจะให้ความสำคัญกับเรื่องการจัดการโรงแรมอย่างยั่งยืนมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับเทรนด์ของโลก ซึ่งในบางประเทศความยั่งยืนมีความสำคัญในระดับที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกหรือไม่เลือกเข้าพักในโรงแรมด้วย รวมทั้งเร่งเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม และการวัดคาร์บอนฟุตพรินต์ด้วย

นอกจากนั้น เพราะพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป เดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเองมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ประกอบการโรงแรมต้องเร่งปรับตัวและทำความรู้จักกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะต้องใช้ในการทำตลาด โดยในอนาคตจะเป็นช่วงเวลาของโลกยุค 5G ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องเตรียมตัวสำหรับความเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โดย AR และ VR จะได้รับความสำคัญเพิ่มมากขึ้น ทำให้เราเตรียมพร้อมที่จะให้ผู้ประกอบการปรับตัวสำหรับอนาคตอันใกล้นี้