ซีอีโอนกแอร์ วุฒิภูมิ จุฬางกูร “ไวรัสอู่ฮั่นไม่น่ากลัวเท่าสงครามราคา”

แม้ว่าภาครัฐโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะคาดการณ์ว่ากระแสของไวรัสโคโรน่า หรือไวรัสอู่ฮั่น ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในประเทศจีนและกระจายไปในประเทศต่าง ๆ แล้วร่วม 20 ประเทศนั้น จะส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยในช่วง 3 เดือนแรกนี้ (มกราคม-มีนาคม) คิดเป็นมูลค่ารวมถึงราว 3 แสนล้านบาท

แต่สำหรับ “นกแอร์” สายการบินโลว์คอสต์สัญชาติไทยรายนี้ดูเหมือนจะไม่ตื่นตระหนกกับกระแสดังกล่าวนัก เหตุผลคือ นกแอร์เป็นสายการบินสัญชาติไทยเพียงรายเดียวที่มุ่งเน้นให้บริการคนไทย โดยมีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นกลุ่มคนไทยถึงราว 80%

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “วุฒิภูมิ จุฬางกูร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสายการบินนกแอร์ ถึงแนวคิด มุมมอง รวมถึงทิศทางการบริหาร และแผนการดำเนินงานของสายการบินนกแอร์สำหรับปี 2563 ไว้ดังนี้

“วุฒิภูมิ” บอกว่า เขาได้เข้ามาบริหารงานสายการบิน นกแอร์ในฐานะซีอีโอเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ระยะเวลากว่า 7 เดือนนี้ได้เรียนรู้และลงมือแก้ไข ปัญหาหลายอย่างเริ่มลงตัวและเชื่อว่าเดินมาถูกทางแล้ว ถึงเวลานี้ได้ข้อสรุปแล้วว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าของประเทศจีนที่ว่ากันว่าส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยอย่างหนักในปีนี้นั้นส่วนตัวยังเชื่อว่าไม่น่ากลัวเท่า “สงครามราคา” ของธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์เมืองไทยที่ดุเดือด รุนแรง ต่อเนื่องมาหลายปี และยังคงแข่งขันกันแรงอย่างต่อเนื่อง

ปัญหาใหญ่ คือ นโยบายการเปิดน่านฟ้าเสรีของเมืองไทยที่เปิดทางให้กับสายการบินทุกสัญชาติเข้ามาทำธุรกิจและเปิดเส้นทางบินภายในประเทศได้หมด ผู้ประกอบการที่มีเครือข่ายขนาดใหญ่จึงเข้ามาทุ่มตลาดโดยใช้กลยุทธ์ “ราคา” แข่งขันกันอย่างหนัก เพื่อให้คู่แข่งซึ่งเป็นรายเล็กอยู่ไม่ได้ ขาดทุน และจำเป็นต้องปิดเส้นทางบินไป สุดท้ายก็จะเหลือรายใหญ่ที่ผูกขาดและกินรวบตลาดอยู่เพียงรายเดียว

“นกแอร์มีนโยบายชัดเจน ว่า เราไม่เล่นสงครามราคา ฉะนั้น เส้นทางไหนที่ให้บริการแล้วขาดทุนเราจะหยุด ที่ผ่านมาได้ปิดเส้นทางบินที่สู้เรื่องราคาไม่ได้ไปแล้ว 3 เส้นทางบิน คือ ร้อยเอ็ด, นครพนม และน่าน ซึ่งท้ายที่สุดเมื่อเหลือผู้ประกอบการที่ให้บริการเพียงรายเดียวก็ทำให้เขาสามารถกำหนดราคาขายที่สูงขึ้นได้ ลูกค้าก็จะเจอปัญหาการผูกขาดราคา ไม่มีทางเลือก ประเด็นปัญหานี้เป็นสิ่งที่น่ากลัวและน่าเป็นห่วงมากสำหรับคนทำธุรกิจสายการบินในประเทศไทย”

อย่างไรก็ตาม หลังจากเข้ามาก็ได้มาทำแผนงานใหม่ ปรับกลยุทธ์และปรับแนวทางการบริหารและเร่งดำเนินการไปแล้วในหลาย ๆ ส่วน เรื่องแรก คือ จุดที่ผู้โดยสารมองว่านกแอร์ไม่ดีก็คือเรื่องของการดีเลย์ ถึงวันนี้ภาพลักษณ์เรื่องดีเลย์ของนกแอร์ลดหายไปอย่างมาก กระทั่งเมื่อเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมาสถิติการตรงเวลา หรือ on time performance : OTP อยู่ในระดับกว่า 90% ซึ่งถือว่าอยู่ในมาตรฐานโลก (85%)

เรื่องที่ 2 คือ ปรับภาพลักษณ์ของนกแอร์จากสายการบินโลว์คอสต์ทั่วไปเป็น “พรีเมี่ยม บัดเจต แอร์ไลน์” โดยยกระดับคุณภาพทั้งด้านสินค้าและบริการ ตอกย้ำความเป็นสายการบินของคนไทยที่มีวัฒนธรรมและมีน้ำใจ พร้อมสื่อสารผ่านแคมเปญต่าง ๆ เป็นระยะในทุกเทศกาล เช่น แคมเปญวันพ่อ, วันแม่ ฯลฯ ที่ชัดเจนที่สุด คือ นกแอร์เป็นสายการบินเดียวที่ยังมีเครื่องดื่มแจกฟรีให้ผู้โดยสารทุกคน จุดนี้ทีมบริหารมองว่าเป็นน้ำใจที่นกแอร์มีให้ อยากให้คนไทยด้วยกันได้รับ แม้จะมีต้นทุนที่สูงถึงราว 5 ล้านบาทต่อเดือน

ขณะเดียวกัน ยังได้ปรับและยกระดับโปรดักต์เพื่อตอกย้ำความเป็นพรีเมี่ยม โดยนำเสนอที่นั่งรูปแบบใหม่ 3 รูปแบบ ได้แก่ ฮันนีมูนซีต (ลูกค้าซื้อ 2 ที่นั่ง ได้ที่นั่ง 3 ที่) ซูเปอร์ซีต (สำหรับผู้โดยสารที่ไม่อยากให้มีคนนั่งข้าง ๆ) และทริเบิลซีต (คนเดียวซื้อ 3 ที่นั่ง) สำหรับผู้โดยสารที่ต้องการนอนยาว 3 ที่นั่ง โดยในอนาคตมีแผนจะพัฒนาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เช่น เพิ่มเตียง ผ้าปู ผ้าห่ม ที่วางขา ฯลฯ

“โปรดักต์ใหม่เหล่านี้ ตอนนี้เราให้บริการในเส้นทางกรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-ฮิโรชิมา (ญี่ปุ่น) ก่อน หากได้รับการตอบรับที่ดีก็พร้อมที่เพิ่มการให้บริการไปยังเส้นทางต่างประเทศอื่นที่ใช้เวลาทำการบินเกิน 4 ชั่วโมง สิ่งที่เราคาดหวังในขณะนี้ คือ การตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีความต้องการไม่เหมือนใครหรือหลากหลายมากขึ้น

ไม่เพียงเท่านี้ เพื่อยกระดับภาพลักษณ์และตอกย้ำความเป็น “พรีเมี่ยมบัดเจตแอร์ไลน์” ของนกแอร์ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในเดือนมีนาคมนี้มีแผนให้บริการเสิร์ฟอาหารเช้าสำหรับผู้โดยสารไฟล์ตเช้าทุกที่นั่งที่ใช้บริการเที่ยวบินที่ให้บริการด้วยเครื่อง Q400 อาทิ กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) สู่แม่สอด, พิษณุโลก, แม่ฮ่องสอน, แพร่ เป็นต้น

เรื่องที่ 3 คือ การปรับปรุงเส้นทางการบินให้ตอบรับนโยบายของ ททท.ที่สนับสนุนเมืองรอง ปัจจุบันสายการบินนกแอร์มีเส้นทางบินที่สนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรองมากถึง 24 จังหวัด หรือบางเมืองที่มีดีมานด์-ซัพพลายไม่สอดรับกันนกแอร์ได้เน้นเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมด้วยการให้บริการเส้นทางบินสู่เมืองใหญ่ และต่อบริการรถตู้หรือเรือไปยังเมืองท่องเที่ยวใกล้เคียง

และ เรื่องที่ 4 คือ การมองหาพาร์ตเนอร์ ทั้งพาร์ตเนอร์ที่เป็นสายการบินและนอกธุรกิจสายการบิน โดยปัจจุบันนกแอร์มีกลุ่มพันธมิตรของสายการบินโลว์คอสต์ ที่เรียกว่า แวลูอัลไลแอนซ์ (value alliance) อาทิ นกสกู๊ต แอร์ไลน์, เจจู แอร์ไลน์, เซบู แอร์ไลน์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมองหาพันธมิตรใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่มอีกเป็นระยะ โดยปีนี้มีแผนทำงานร่วมกับกลุ่ม “ไทยกรุ๊ป” ที่ประกอบด้วย การบินไทย, ไทยสมายล์ และบางกอกแอร์เวย์ส อย่างใกล้ชิดขึ้น และน่าจะเห็นความชัดเจนได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงปรับเปลี่ยนตารางบินใหม่

“โมเดลธุรกิจของเรา คือ ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า และยังไม่มีสายการบินไหนทำ เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้านับตั้งแต่ก่อนทำการจองตั๋วโดยสาร ขั้นตอนเช็กอินหน้าเคาน์เตอร์ที่รวดเร็ว (ไม่เกิน 5 นาที) ฯลฯ กระทั่งถึงลูกค้าใช้บริการแล้วกลับบ้าน โดยพัฒนาเว็บและแอปพลิเคชั่นจองที่เข้าถึงง่าย ใช้ความจริงใจในการให้บริการ รวมถึงให้น้ำหนักโหลดสัมภาระ พร้อมทั้งให้บริการโปรดักต์และบริการที่หลากหลาย ลูกค้าสามารถเลือกใช้บริการที่สอดรับกับพฤติกรรมของตัวเองได้ในราคาที่เป็นโลว์คอสต์”

“วุฒิภูมิ” ยังบอกด้วยว่า หัวใจสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว คือ การทยอยปลดระวางเครื่องบินเก่าที่หมดสัญญาและมีอายุการใช้งานเกิน 14 ปีออกไปแล้ว 4 ลำ เพื่อลดต้นทุนค่าบำรุงรักษา อีกทั้งยังเป็นการรักษาโพซิชันนิ่งให้นกแอร์เป็นสายการบินที่มีเครื่องบินใหม่ เครื่องบินทุกลำจะมีอายุไม่เกิน 14 ปี พร้อมทยอยรับเครื่องบินใหม่เข้ามาเสริมอย่างต่อเนื่อง

“การปลดระวางเครื่องบินเก่าออกทำให้นกแอร์สามารถบริหารต้นทุนการดำเนินงานได้ดีขึ้นอย่างมาก จากผลประกอบการไตรมาส 3/2562 ที่ผ่านมาบริษัทมีค่าใช้จ่ายลดลงถึง 49% และคาดว่าจะลดลงต่อเนื่องในไตรมาส 4/2562 บวกกับการพัฒนาสินค้าและบริการที่หลากหลายขึ้น ปรับเส้นทางการบินใหม่ ตัดเส้นทางที่ขาดทุนออก ทำให้คาดว่าผลประกอบการโดยรวมของปี 2562 ที่ผ่านมาน่าจะดีกว่าที่คาดกาณ์ไว้เดิม” วุฒิภูมิย้ำ

ซีอีโอนกแอร์ยังให้สัมภาษณ์ถึงทิศทางของปีนี้ด้วยว่า ตอนนี้แผนกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่ทำไว้ต้องนำมาปรับให้สอดรับกับสถานการณ์มากขึ้น เนื่องจากปีนี้ภาคการท่องเที่ยวของไทยต้องเผชิญกับกระแสการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ซึ่งเข้ามาเป็นปัจจยลบใหม่ โดยนกแอร์คงต้องเขย่าพอร์ตเส้นทางการบินใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในต่างประเทศ จากเดิมมีเส้นทางสู่จีนอยู่ถึง 4 เส้นทาง หลังจากนี้ คงต้องมาทบทวนสถานการณ์และมองหาตลาดใหม่ ๆ เข้ามาเสริม อาทิ อินเดีย, เมียนมา, เวียดนาม เป็นต้น

กระนั้นก็ตาม “วุฒิภูมิ” ได้ย้ำว่า ไวรัสอู่ฮั่นที่กำลังแพร่ระบาดที่สร้างผลกระทบอย่างหนักอยู่ในขณะนี้ ไม่ได้น่ากลัวเท่า “สงครามราคา” ของธุรกิจสายการบินของไทย