“ไวรัสอู่ฮั่น” ทุบเที่ยวไทย 3 เดือน 3 แสนล้าน ก.ท่องเที่ยวฯของบ 500 ล้าน ฟื้นความเชื่อมั่น

Photo: Adryel Talamantes/NurPhoto via Getty Images

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาหลายภาคส่วนหลายสำนักวิจัยได้คาดการณ์ว่า ผลกระทบจาก ไรรัสโคโรน่า หรือไวรัสอู่ฮั่นจะทำให้นักท่องเที่ยวจีนหายไปราว 2 ล้านคน ในช่วง 3 เดือนแรกนี้ และส่งผลกระทบต่อรายได้จากการท่องเที่ยวรวมกว่า 1 แสนล้านบาท แต่หากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศจีนยืดเยื้อและยิ่งนานก็จะส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ (ทั้งจีนและชาติอื่นทั่วโลก) และรายได้เป็นมูลค่ายิ่งเพิ่มสูงขั้น สุดท้ายผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้มีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะทำให้จีดีพีของประเทศไทยปีนี้ปรับตัวลดลงจากเป้าที่วางไว้

พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้ข้อมูลว่า จากรายงานล่าสุดพบว่าในช่วงระหว่างวันที่ 24 มกราคม-1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลงกว่า 232,114 คน หรือลดลงราว 60.59% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย 383,112 คน ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวจากชาติอื่นนั้น

ขณะนี้ยังไม่มีการรายงานว่าลดลง และยังพบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวบางตลาดเพิ่มมากขึ้น อาทิ นักท่องเที่ยวจากตลาดยุโรป เชื่อว่าน่าจะเกิดจากการที่นักท่องเที่ยวเลือกเบนเข็มจากการท่องเที่ยวในประเทศจีนมาประเทศไทยแทน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการท่องเที่ยวฯได้ประเมินเบื้องต้นจากสถานการณ์ของการระบาดของไวรัสโคโรน่าประเทศจีนว่า หากสถานการณ์การแพร่ระบาดยุติลงภายในเดือนมีนาคมและนักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเดินทางตามปกติในเดือนกรกฎาคมนี้ ประเทศไทยมีโอกาสสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวราว 3 แสนล้านบาท แต่ถ้าหากภายในเดือนมีนาคมทางการจีนยังไม่สามารถยุติการแพร่กระจายของโรคได้ ก็อาจจะมีความเสียหายมากกว่าตัวเลขที่ประเมินไว้ ในทางกลับกันถ้าสถานการณ์ยุติลงเร็วกว่าที่คาดไว้ ความเสียหายก็อาจจะลดลง

ทั้งนี้ เนื่องจากการหายไปของนักท่องเที่ยวจีนส่งผลกระทบโดยตรงต่อเป้าหมายด้านการท่องเที่ยวไทย ด้วยนักท่องเที่ยวจีนที่มีจำนวนกว่า 11 ล้านคนคิดเป็นกว่า 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 39.8 ล้านคนของไทย ซึ่งเดิมทีเดียวรัฐบาลคาดการณ์ไว้ว่าหากสถานการณ์ดำเนินไปโดยปกติ ในปีนี้ประเทศไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 3.16 ล้านล้านบาท และมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 41 ล้านคน

“ปัจจุบันกระทรวงอยู่ระหว่างการหารือภายในกระทรวง เพื่อหาแนวทางที่จะชดเชยรายได้ที่หายไปจากสถานการณ์นี้ผ่านการประชาสัมพันธ์ให้คนไทยออกเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาติอาเซียนโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งมีภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตดีมาท่องเที่ยวในประเทศไทย พร้อมทั้งดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ยังไม่ได้มีเป้าหมายชัดเจนให้เข้ามาเที่ยวในประเทศไทยแทน”

ขณะเดียวกันยังเตรียมที่จะหารือกับทางการอินเดียเพื่อนำนักท่องเที่ยวอินเดียเข้ามาเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มเติมอีก พร้อมทั้งหาแนวทางในการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวอินเดียเพิ่มเติม เพื่อให้นักท่องเที่ยวทุกประเทศได้รับการอำนวยความสะดวกอย่างเท่าเทียมกันต่อไป

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯยังบอกด้วยว่า เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา กระทรวงได้ยื่นของบประมาณ 500 ล้านบาท จากงบกลาง เพื่อนำมาสนับสนุนมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจ คณะรัฐมนตรี (ครม.เศรษฐกิจ) ก่อนจะผ่านเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดใหญ่ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเบื้องต้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ขัดข้องแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงความชัดเจนเกี่ยวกับโครงการที่จะจัดทำด้วยงบประมาณ 500 ล้านบาท “พิพัฒน์” อธิบายว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะใช้ในรูปแบบใด แต่หลังจากได้รับการอนุมัติงบประมาณจากคณะรัฐมนตรีจะเร่งทำโครงการ เพื่อหารือกับสำนักงบประมาณต่อไปในทันที เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการได้ทันเวลาที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางกลับมาท่องเที่ยวอีกครั้ง

พร้อมชี้แจงว่า ในภาวะปัจจุบันตราบใดที่ทางการจีนยังหาวิธีแก้ปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสไม่ได้ นักท่องเที่ยวก็คงไม่มีความรู้สึกอยากออกเดินทางท่องเที่ยวมากนัก เพราะกังวลว่าอาจมีโอกาสติดเชื้อจากการเดินทางไปในต่างประเทศ การของบประมาณส่วนนี้มา 500 ล้าน ก็เพื่อสร้างความมั่นใจให้เห็นว่าประเทศไทยเอาอยู่และพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว

ส่วนข้อหารือเกี่ยวกับการถอดมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองยังอยู่ในการหารือภายในของคณะรัฐมนตรี อยากให้รอความชัดเจนจากคณะกรรมการที่รับผิดชอบอีกครั้งและโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้แถลงต่อไป ขณะที่มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการนั้นอยู่ที่ความหนักเบาของสถานการณ์ หากสถานการณ์แพร่ระบาดยังดำเนินต่อไปก็จะมีมาตรการตามออกมาเพิ่มเติมอีกเป็นระยะ

ขณะเดียวกันกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ประมาณการผลกระทบของมาตรการสั่งระงับการดำเนินกิจกรรมของบริษัททัวร์ในจีนทั้งในแบบกลุ่มและแบบเดินทางอิสระว่า จะส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้าไทยใน 4 สมมุติฐาน คือ กรณีที่ 1 จีนห้ามเดินทาง 3 เดือน (มกราคม-มีนาคม) จะส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวหายไป 1.47-1.98 ล้านคน สูญเสียรายได้ 6.7-9.1 หมื่นล้านบาท

กรณีที่ 2 จีนห้ามเดินทาง 4 เดือน (มกราคม-เมษายน) จะส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวหายไป 2.16-2.83 ล้านคน สูญเสียรายได้ 0.99-1.3 แสนล้านบาท กรณีที่ 3 จีนห้ามเดินทาง 6 เดือน (มกราคม-มิถุนายน) จะส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนหายไป 3.23-4.37 ล้านคน สูญเสียรายได้ 1.48-2.01 แสนล้านบาท และกรณีที่ 4 จีนห้ามเดินทาง 9 เดือน (มกราคม-กันยายน) จะส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนหายไป 5.21-7.07 ล้านคน และสูญเสียรายได้ 2.4-3.25 แสนล้านบาท

พร้อมระบุด้วยว่า ในช่วง 9 วันที่ผ่านมา (24 มกราคม-1 กุมภาพันธ์) ประเทศไทยสูญเสียรายได้ด้านการท่องเที่ยวไปแล้ว 9,156 ล้านบาท โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบสูงสุด 3 กลุ่ม ได้แก่ สินค้าและของที่ระลึก โรงแรมที่พัก อาหารและเครื่องดื่ม