ทอท.แก้โจทย์ ‘สลอตการบิน’ สร้างโอกาส (ฟื้น) ท่องเที่ยวไทย

หลังจากรัฐบาลจีนออกประกาศควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือไวรัสอู่ฮั่นด้วยการประกาศห้ามนักท่องเที่ยวและประชาชนคนจีนเดินทางออกนอกประเทศ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลให้สายการบินต่าง ๆ บอกยกเลิกเที่ยวบินเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเส้นทางบินระหว่างประเทศไทย-จีน 

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ที่ประชุมบอร์ดบริษัท ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. เมื่อ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการบริหารจัดการตารางบิน (slot) ในท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง คือ ดอนเมือง, สุวรรณภูมิ, ภูเก็ต, เชียงใหม่, หาดใหญ่ (สงขลา) และแม่ฟ้าหลวง (เชียงราย) เพื่อช่วยเหลือสายการบินที่ได้รับผลกระทบและสร้างโอกาสให้กับสายการบินที่มองเห็นโอกาสได้เข้ามาเปิดเส้นทางบินแทนได้ 

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “นิตินัยศิริสมรรถการ”กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ถึงแนวคิด รายละเอียด และเป้าหมายของมาตรการดังกล่าว รวมถึงแผนและทิศทางของ ทอท. สำหรับปีนี้ ไว้ดังนี้

“นิตินัย” บอกว่า นับตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2563 เป็นต้นมา มีผู้ประกอบการสายการบินจำนวนหนึ่งไม่สามารถทำการบินตามตารางบินที่ขออนุญาตไว้ได้ ซึ่งส่วนใหญ่บอกยกเลิกกะทันหัน ทำให้ ทอท.ไม่สามารถหาสายการบินใหม่เข้ามาทำการบินแทนได้ทัน ทำให้ตารางบินบางช่วงเวลาว่างลง ซึ่งทำให้สายการบินอื่น ๆ ที่มีความสนใจจะทำการบินเข้าประเทศไทยเสียโอกาส ขณะเดียวกันยังทำให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยเสียโอกาสไปด้วย

ดังนั้น เพื่อให้ ทอท.สามารถบริหารจัดการสนามบินและตารางบินได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยที่กำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตไวรัสโคโรน่าให้ฟื้นตัวได้ในเวลาที่เร็วขึ้น จึงได้ออกมาตรการจูงใจให้สายการบินต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบครั้งนี้ส่งคืนตารางบินทั้ง 6 ท่าอากาศยานของทอท.ล่วงหน้า โดยมีระยะเวลาของโครงการตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์-26 มีนาคม 2562 

ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้สายการบินที่ประสงค์จะให้บริการเที่ยวบินพิเศษ (extra flight) และเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (charter flight) มองเห็นโอกาสและมีลูกค้ามีเวลาสำหรับขออนุญาตทำการบินและทำการตลาดเข้าประเทศไทยได้ทันเวลา

โดยให้โบนัส หรือ kick back จำนวน 200 บาทต่อผู้โดยสาร 1 คน กับสายการบินที่บอกยกเลิกตารางบินล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน เพื่อนำไปเป็นส่วนลดค่าบริการขึ้นลงอากาศยาน (landing fee) เมื่อมีสายการบินใหม่เข้าให้บริการทดแทนเที่ยวบินที่ทำการยกเลิกไป

“มาตรการนี้เป็นการเปิดโอกาสให้สายการบินยกเลิกตารางบินล่วงหน้า 1 เดือน โดยโบนัส 200 บาทที่จ่ายให้กับสายการบินที่คืนตารางบินนั้นจะมาจากผู้โดยสารของสายการบินที่ทำการบินแทน แต่ถ้าทำการยกเลิกกะทันหัน ก็จะไม่ได้โบนัสส่วนนี้”

“นิตินัย” บอกว่า ทอท.ผ่านวิกฤตมาหลายรอบ ไม่ว่าจะเป็นโรคซาร์ส, ไข้หวัดนก, ไข้หวัดเมอร์ส, ปราบทัวร์ศูนย์เหรียญ ฯลฯ รวมถึงเรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต ทีมบริหารได้เห็นพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของตลาดและกลยุทธ์ของสายการบินมาอย่างต่อเนื่องยกตัวอย่าง เช่น กรณีปราบทัวร์ศูนย์เหรียญ ทันทีที่สายการบินที่ให้บริการเส้นทางไทย-จีน หลายรายขอยกเลิกตารางบินก็มีสายการบินที่ทำตลาดรัสเซีย, อินเดีย ฯลฯ เข้ามาแทนทันที ทำให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยกลับมาฟื้นตัวได้ในเวลาอันรวดเร็ว หรือเป็นรูปตัว V 

ขณะที่วิกฤตเรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อกลางปี 2561 สายการบินส่วนใหญ่ยังคงประคองตารางบินของตัวเองไว้ ทำให้การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวของไทยช้า หรือเป็นรูปตัว U  ซึ่งลักษณะนี้ทำให้เกิดผลกระทบกับในทุกภาคส่วน กล่าวคือ สายการบินอื่นที่มองเห็นโอกาสเสียโอกาสที่จะเข้ามาทดแทน ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยเสียโอกาสไปด้วย ขณะเดียวกันก็ทำให้ ทอท.สูญเสียรายได้ไปด้วยเช่นกัน

การออกมาตรการจูงใจให้สายการบินที่ต้องการยกเลิกตารางบินชั่วคราว พร้อมทั้งให้โบนัสตอบแทนจากการ
เข้ามาของรายใหม่ในวิกฤตไวรัสโคโรน่าครั้งนี้ จึงน่าจะเป็นมาตรการที่ตอบโจทย์ให้ทุกภาคส่วน win-win ด้วยการทุกฝ่าย 

โดยเฉพาะในเรื่องของการช่วยให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวโดยรวมของประเทศฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และไม่กระทบ
หนักเหมือนที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวในอีกหลายตลาดที่มีความต้องการเข้ามาในประเทศไทย เพียงแต่ที่ผ่านมาตารางการบินของท่าอากาศยานหลักของไทยเต็มแน่นมาตลอด

“เราไม่ห่วงเรื่องความยืดเยื้อ เพราะเราผ่านเหตุการณ์ลักษณะนี้มาเยอะ แต่ที่น่าห่วงคือบริบทของธุรกิจและสภาวะแวดล้อมของธุรกิจในวันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก การบริหารสนามบินวันนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องการบริหารดีมานด์-ซัพพลายเท่านั้น จึงเชื่อว่ามาตรการที่ออกมาจะช่วยได้ระดับหนึ่ง และจะเริ่มเห็นผลตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไป ซึ่งคงต้องประเมินผลกันอีกครั้งหลังจากนั้น”

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.ยังพูดถึงผลการดำเนินงานในช่วงระหว่าง 1 ตุลาคม 2562-22 มกราคม 2563 (ก่อนรัฐบาลจีนประกาศห้ามนักท่องเที่ยวเดินทางออกนอกประเทศ) ว่าจำนวนผู้โดยสารขยายตัวเฉลี่ยที่ 2.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากนั้นพบว่า ระหว่าง 23-31 มกราคม 2563 ขยายตัวติดลบราว 7-8% และลดลงเป็น 20-25% ในช่วง 1-4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้อัตราการขยายตัวเฉลี่ยของผู้โดยสารล่าสุด ณ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 อยู่ที่ราว 1.1% 

“สถานการณ์ในภาพรวมของ ทอท.ตอนนี้ยังคาดการณ์ยาก ต้องรอดูผลตอบรับจากมาตรการที่กระตุ้นให้สายการบินคืนตารางบิน และดูว่ามีสายการบินใหม่เข้ามาทดแทนได้มากน้อยแค่ไหนในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวคาดว่าสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าจะจบได้ภายในเดือนมีนาคม-เมษายนนี้ ซึ่งคงต้องมาลุ้นตัวเลขในช่วงตารางบินฤดูร้อนกันต่อไป”

พร้อมย้ำว่า ประเด็นสำคัญที่ทาง ทอท.ให้ความสำคัญ คือ บริหารสนามบินที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และลุ้นให้สายการบินที่ได้รับผลกระทบทำการยกเลิกตารางบินล่วงหน้า เพื่อให้สายการบินในตลาดที่มีดีมานด์มองเห็นโอกาสและเพิ่มเที่ยวบินพิเศษและเที่ยวบินเช่าเหมาลำเข้ามาเสริม โดยเชื่อมั่นว่าแนวทางนี้จะเป็นการสร้างโอกาสให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยกลับมาฟื้นตัวได้ในเวลาอันรวดเร็ว