กางแผนรับมือ “โคโรน่า” อพท. ดัน 25 จังหวัด สู่เครือข่ายยูเนสโก

อพท.เตรียมปั้นแผนรับมือโคโรน่า เผยกระทบจริงหลายพื้นที่ ชี้ระยะสั้นเน้นดูแลชุมชน ก่อนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว-กิจกรรมในระยะยาว หวังพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวหลังวิกฤต สานต่อพันธกิจเมืองสร้างสรรค์ ผลักดัน 25 จังหวัดไทยสู่เครือข่ายยูเนสโก

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่านั้น ขณะนี้ในพื้นที่พิเศษที่ อพท.รับผิดชอบยังไม่มีรายงานการพบผู้ติดเชื้อ แต่ก็มีบางพื้นที่ภายใต้การดูแลของ อพท.ที่ได้รับผลกระทบจากตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ลดลงในภาพรวม ได้แก่ พื้นที่พิเศษเมืองพัทยา, พื้นที่เชื่อมโยงเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามัน และพื้นที่พิเศษเลย ซึ่งเป็นจุดหมายหลักของนักท่องเที่ยวจีน

โดย อพท.ได้เตรียมแผนทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ในการรับมือกับสถานการณ์แล้ว โดยเบื้องต้นได้ส่งผู้บริหารและเจ้าหน้าที่เข้าร่วมเป็นคณะทำงานของศูนย์อำนวยการแก้ไขและรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวยั่งยืน เพื่อประสานพื้นที่ที่รับผิดชอบร่วมรายงานและติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าอย่างใกล้ชิด พร้อมประสานให้ความรู้ด้านสุขอนามัย และวิธีปฏิบัติตัวให้ปลอดภัยจากเชื้อดังกล่าว

ส่วนแผนระยะกลางถึงระยะยาว อพท.จะพัฒนาชุมชน พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว พัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวให้น่าสนใจยิ่งขึ้น เพื่อให้มีความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวหลังวิกฤต เพราะที่ผ่านมาการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชนของ อพท. ดีและมีความน่าสนใจในระดับหนึ่ง แต่ อพท.ต้องร่วมกับชุมชนและภาคีเครือข่ายพัฒนาให้ดีขึ้น สามารถรองรับนักท่องเที่ยวมาใหม่และนักท่องเที่ยวมาซ้ำได้

“อพท.มีชุมชนพร้อมขายและนำเสนอนักท่องเที่ยว ทั้งชุมชนที่อยู่พื้นที่พิเศษและอีก 80 ชุมชนในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวทั่วประเทศ โดยเบื้องต้นจะเลือกเพิ่มขีดความสามารถให้กับชุมชนที่อยู่ในเส้นทางท่องเที่ยวยอดนิยมในภาคเหนือ ภาคอีสาน และฝั่งอันดามันก่อน” นายทวีพงษ์กล่าว

ทั้งนี้ ล่าสุด อพท.ประสบความสำเร็จของการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันจังหวัดสุโขทัย เข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ซึ่งนับจากนี้ไปอีก 5 ปี อพท.ต้องร่วมกับคณะทำงานดำเนินการขับเคลื่อนสุโขทัยเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาสุโขทัยเมืองสร้างสรรค์ ปี 2563-2567 โดย อพท.ทำหน้าที่ภารกิจหลักในการเป็นผู้ประสานงานพัฒนาเมือง การสืบทอดและการต่อยอด

“ขั้นตอนการดำเนินงาน อพท.ต้องจัดทำโครงการวิจัยและพัฒนา โดยจะตั้งเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ ส่วนปัญหาที่เห็นขณะนี้ คือ ชุมชนและคนในพื้นที่ยังขาดความรู้ด้านการออกแบบและการดีไซน์ เพราะที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าทุกฝ่ายดำเนินการเพียงด้านงานอนุรักษ์ แต่ยังไม่มีใครคิดนอกกรอบ”

นายทวีพงษ์กล่าวต่อว่า ปีงบประมาณ 2564 อพท.จะร่วมกับจังหวัดสุพรรณบุรี องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลักดันจังหวัดสุพรรณบุรีเข้าสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์แห่งดนตรีของยูเนสโก และในอนาคต อพท.จะทยอยผลักดันจังหวัดที่มีศักยภาพเข้าสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ อาทิ จังหวัดเพชรบุรี ที่มีจุดเด่นคืออาหาร หัตถกรรม และศิลปะ จังหวัดเชียงรายที่โดดเด่นเรื่องศิลปิน ศิลปะ และจีโอพาร์คจังหวัดเลยที่โดดเด่นเรื่องจีโอพาร์ค ฯลฯ

“อพท.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลโดยสภาพัฒน์ ให้ดำเนินการพัฒนาและผลักดันพื้นที่ที่มีศักยภาพเข้าสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ 25 แห่ง ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน เพราะประโยชน์จากการเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรรค์ คือ การเปิดโอกาสให้พื้นที่นั้น ๆ ได้เป็นที่รู้จักของทั่วโลกเกิดการพัฒนา เกิดเงินไหลเวียนผู้คนในพื้นที่ไม่ต้องเดินทางย้ายถิ่นเพื่อไปทำงาน และเกิดการสืบทอด” นายทวีพงษ์กล่าว