บินไทยติดปีก “นกแอร์” เตรียมควัก 380 ล. เพิ่มทุนรอบ 2

เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันไว้ตั้งแต่ต้นว่า ท้ายที่สุดแล้ว “การบินไทย” ก็ยังคงสนับสนุนให้สายการบินนกแอร์ดำเนินการต่อไปได้ในอนาคต ตามแผนยุทธศาสตร์ “Thai Group” ที่ต้องการให้สายการบินในเครือข่ายทั้ง 3 ราย เดินหน้าต่อไปในทิศทางเดียวกัน และเติบโตไปพร้อม กันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งก็เป็นไปตามที่ “อุษณีย์ แสงสิงแก้ว” รักษาการดีดี การบินไทยที่เคยให้สัมภาษณ์ว่า บินไทยไม่เคยคิดทิ้งนกแอร์ แต่ที่ไม่เพิ่มทุนในช่วงที่ผ่านมานั้น เนื่องจากที่ประชุมบอร์ดได้พิจารณาแล้วเห็นว่า แผนการบริหารงานของนกแอร์ยังไม่มีความชัดเจน เรื่องการแก้ปัญหาขาดทุน และสร้างรายได้ พร้อมทั้งย้ำมาโดยตลอดว่า หากแผนของนกแอร์ชัดเจนอาจจะเข้าไปเพิ่มทุนในเวลาต่อไปก็ได้ เพราะการบินไทยไม่ได้มีปัญหาเรื่องเงินที่จะลงทุน

เริ่มนับ 1 อนาคต “นกแอร์”

นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าวออกมาเป็นระยะว่า สิ่งที่บอร์ดการบินไทยอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในสายการบินนกแอร์ คือ “ปลด” นายพาที สารสิน ออกจากตำแหน่งซีอีโอ เพราะบริหารงานผิดพลาดมาหลายครั้งหลายครา กระทั่งทำให้สายการบินแห่งนี้ขาดทุนต่อเนื่องมาในช่วง 3-4 ปีหลังนี้

กระทั่งล่าสุด บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ที่ประชุมคณะกรรมการมีมติรับทราบการลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของนายพาที สารสิน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา

และดูเหมือนว่า “นกแอร์” จะเริ่มมองเห็นอนาคตอีกครั้ง เพราะหลังจากที่ “พาที” ลาออก ราคาหุ้นก็เด้งรับข่าวนี้ทันที ขณะเดียวกันยังมีข่าวว่า “การบินไทย” พร้อมที่จะพิจารณาเรื่องการเพิ่มทุนในนกแอร์อีกครั้ง ดูเหมือนว่าการปลดล็อกครั้งนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นนับ 1 ของ “นกแอร์” อีกครั้ง

“นกแอร์” เพิ่มทุนรอบ 2 ต.ค.นี้

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นกแอร์ ได้ประกาศเพิ่มทุนรอบที่ 2 ด้วยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน 1,207 ล้านหุ้น จัดสรรหุ้นสามัญใหม่ไม่เกิน 1,135,999,882 หุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนจำนวนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นแต่ละรายถืออยู่ ในอัตรา 1 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นใหม่ ราคาเสนอขายหุ้นละ 1.50 บาท กำหนดวันจองซื้อตั้งแต่วันที่ 16-20 ตุลาคมนี้

“เรืออากาศเอกมนตรี จำเรียง” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การบินไทยมีแนวโน้มที่จะเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนรอบที่ 2 ของนกแอร์ ซึ่งให้สิทธิผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนที่ถืออยู่ (RO)

โดยคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 380 ล้านบาท เพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นที่ 21.5% ตามเดิม หลังเห็นว่าแผนฟื้นฟูธุรกิจ และแผนบริหารจัดการของนกแอร์ เริ่มมีความชัดเจนกว่าตอนประกาศเพิ่มทุนครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

พร้อมทั้งแจงว่า เรื่องการซื้อหุ้นเพิ่มทุนในสายการบินนกแอร์นั้น การบินไทยดูอยู่ 2 เรื่อง คือ แผนฟื้นฟูธุรกิจ และการบริหารจัดการ โดยตอนเพิ่มทุนรอบแรก การบินไทยยังไม่เคลียร์ใน 2 จุดนี้

เมื่อมาถึงการเพิ่มทุนรอบที่ 2 การบินไทยก็ยังต้องดูเรื่องความชัดเจนของแผนฟื้นฟูอยู่ ซึ่งพบว่าชัดเจนขึ้นทั้งเรื่องการลดต้นทุน การสร้างรายได้ และการบริหารที่มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้การบินไทยจึงมีแนวโน้มที่จะเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนนกแอร์รอบนี้

ยันไม่จำเป็นต้องเป็น “หุ้นใหญ่”

โดยยืนยันว่า “การบินไทย” ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในนกแอร์ แต่การลงทุนต้องไม่สูญเปล่า โดยการบินไทยจะดูขีดความสามารถของตัวเองในปัจจุบันด้วยว่าจะสนับสนุนนกแอร์ จากนี้ไปไม่ต่ำกว่า 1 ปี โดยนกแอร์ยังถือเป็นบริษัทร่วมทุนของการบินไทย

ทั้งนี้ ได้ให้บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินของการบินไทยวิเคราะห์และประเมินฐานะทางการเงินของบริษัทให้ชัดเจนด้วย เพราะการบินไทยเองก็ต้องพิจารณาเรื่องการจัดหาเครื่องบินใหม่รวม 28 ลำ ซึ่งจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการการบินไทย ในวันที่ 20 กันยายนนี้

จับตาเพิ่มทุนรอบ 3 กับต่างชาติ

“เรืออากาศเอกมนตรี” ยังบอกด้วยว่า คาดว่านกแอร์จะมีการเพิ่มทุนรอบที่ 3 กับพันธมิตรต่างประเทศ เพราะสายการบินยุคนี้อยู่แบบโดดเดี่ยว (Stand Alone) ไม่ได้ การมีพันธมิตรเข้ามาช่วยจะทำให้สายการบินมีความแข็งแกร่งขึ้น สามารถแข่งขันกับสายการบินอื่น ๆ ได้

โดยรูปแบบพันธมิตร มีทั้งที่เป็นพันธมิตรสายการบินด้วยกัน ผู้ประกอบการท่าอากาศยาน หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน ซึ่งพันธมิตรที่มาจะต้องสร้างความร่วมมือเพื่อแชร์ทรัพยากรให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ การดึงพันธมิตรทางการเงินมาร่วมทุน ก็จะช่วยธุรกิจสายการบินได้อย่างมากด้วย

แนวโน้มสถานะการเงินอ่วม

สำหรับผลดำเนินงานของ บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK) ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า มีหนี้สินเพิ่มขึ้นรวดเร็วในช่วงปี 2557-2559 จำนวนประมาณปีละ 2,000 ล้านบาท โดยปี 2557 หนี้สินที่อยู่ 2,219 ล้านบาท พอมาถึงปี 2559 หนี้สินอยู่ที่ 6,340 ล้านบาท นับเป็นปีแรกที่หนี้สินสูงกว่าทรัพย์สินที่อยู่ราว 6,000 ล้านบาท

ขณะที่รายได้รวมของ NOK มีการปรับตัวขึ้น แต่ละปีราว 2,000 ล้านบาท แต่กลับปรากฏว่าบริษัทมีผลขาดทุนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 ทำให้มูลค่าหุ้นทางบัญชีจากปี 2557 ที่เคยอยู่หุ้นละ 5.99 บาท เหลือเพียง 1.50 บาท ในสิ้นปี 2559 และราคาหุ้นไหลลงต่อเนื่อง จากที่ 13.10 บาท (สิ้นปี 2557) ร่วงลงมาอยู่ที่ 7.40 บาทในปี 2559

ล่าสุด NOK แจ้งผลดำเนินงาน ณ สิ้น มิ.ย. 2560 บริษัทยังมีภาระหนี้สินสูงกว่าทรัพย์สินรวม โดยทรัพย์สินเหลือ 5,954 ล้านบาท ขณะที่หนี้สินสูง 6,106 ล้านบาท

พันธมิตรใหม่ต้อง Synergy

อย่างไรก็ตาม การเข้าเพิ่มทุนใน “นกแอร์” ของการบินไทยรอบใหม่นี้ ยังเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายเฝ้ามอง เพราะเชื่อว่าทั้งการบินไทยและนกแอร์คงมีการเจรจาในเงื่อนไขนอกรอบกันแล้ว ทั้งเรื่องของทีมบริหาร ราคาหุ้น ฯลฯ รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการ ก่อนที่จะถึงวันประชุมบอร์ดของการบินไทย ในวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา เพราะในสถานะปัจจุบันของนกแอร์นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะดึงให้นักลงทุนหรือบริษัทต่างชาติเข้าร่วมลงทุนด้วย


ที่สำคัญ การปฏิรูป “นกแอร์” ครั้งนี้ก็ควรที่จะต้องมีทีมที่ปรึกษาทางด้านการเงิน และทีมบริหารที่กล้าคิด กล้าตัดสินใจ และหากจะมีพันธมิตรใหม่เข้ามาร่วมลงทุนก็จะต้องเป็นพันธมิตรที่มาเพื่อ Synergy หรือทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดอย่างแท้จริง