“เที่ยวไทย” ฝ่าวิกฤต ดึง “อาเซียน-อินเดีย” เติมพอร์ต

Photo by Anusak Laowilas/NurPhoto via Getty Images

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือโควิด-19 ที่กระจายตัวออกจาก “จีน” ไปยังกลุ่มประเทศข้างเคียง ทั้งเกาหลี, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, ฮ่องกง รวมถึงประเทศในโซนยุโรป, อเมริกา ฯลฯ เริ่มส่งสัญญาณ “น่ากลัว” ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจ การท่องเที่ยวทั่วโลกในปีนี้จะชะงักและใช้เวลานานในการควบคุมสถานการณ์ให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยหลายสำนักได้คาดการณ์ว่า กลุ่มนักท่องเที่ยว “จีน” ซึ่งเป็นตลาดหลักและเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของไทย คงหยุดชะงักไปไม่ต่ำกว่า 5-6 เดือนที่สำคัญไม่เพียงแต่ตลาดจีนเท่านั้น ตลาดส่งออกนักท่องเที่ยวมาไทยสำคัญอีกหลายประเทศก็เริ่มชะลอเช่นกัน

กระนั้นก็ตาม ภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยก็ยังคาดหวังว่า ตลาดอาเซียนและอินเดียยังมี “โอกาส” และเป็น “ความหวัง” ที่จะช่วยพยุงให้ภาพรวมการท่องเที่ยวของไทยในปีนี้สามารถพยุงตัวให้รอด “วิกฤต” ในรอบนี้ไปได้

จ่อบุก “อาเซียน-อินเดีย”

“กฤษฎา รัตนพฤกษ์” ผู้อำนวยการภูมิภาคอาเซียน เอเชียใต้ และแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บอกว่า ขณะนี้ ททท.ได้กำหนดแผนงานเพื่อกระตุ้นตลาดในภูมิภาคอาเซียนและอินเดียแล้ว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวอาเซียนและอินเดีย มาทดแทนตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่หายไปจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 โดยแบ่งแผนการทำงานเป็น 2 ระยะสำคัญ โดยระยะแรกจะเน้นการปรับบรรยากาศ สร้างมู้ดการท่องเที่ยวผ่านการประชาสัมพันธ์มาตรการป้องกันสาธารณสุข และสุขลักษณะของคนไทยเพื่อสื่อสารให้เห็นว่าคนไทยยังสามารถใช้ชีวิตตามปกติและปลอดภัยดี สามารถท่องเที่ยวได้ตามปกติ

จากนั้นในระยะที่สองจะร่วมกับพันธมิตรทั้งสายการบิน, โรงแรมที่พัก, ห้างร้าน, บริษัททัวร์ และเอเย่นต์ออนไลน์ (OTA) ในการจัดทำแผนการส่งเสริมการตลาดร่วมกัน อาทิ โครงการพาสปอร์ตพรีวิลเลจ, โครงการเลิฟมีไทยแลนด์, โครงการบายนาวทราเวลนาว ฯลฯ จัดโปรโมชั่นลดกระหน่ำ 70% รวมถึงเสนอสินค้าและบริการการท่องเที่ยวแบบ ซื้อ 2 แถม 1 ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในเดือนมีนาคมนี้ หลังจากสถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น

“กฤษฎา” บอกด้วยว่า ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอาเซียนยังคงมีการเดินทางอยู่ แต่มีจำนวนลดลงจากบรรยากาศและความรู้สึกเป็นกังวล ซึ่งนักท่องเที่ยวจากเวียดนาม พบว่าสายการบินมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารลดลงมากที่สุด เหลือเพียง 40-45% ในขณะที่อินโดนีเซียลดลงเช่นกัน อัตราการบรรทุกผู้โดยสารอยู่ประมาณ 68-70%

ส่วนมาเลเซียยังมีการเดินทางใกล้เคียงกับปกติจากการข้ามแดนทางบกสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยว “อินเดีย” นั้น ค่อนข้างอ่อนไหวต่อการติดเชื้อ เนื่องจากอินเดียมีระบบสาธารณสุขที่ไม่แข็งแกร่งนัก

ลุ้นตลาดฟื้นไตรมาส 3-4

“ในช่วงที่ผ่านมานักท่องเที่ยวอินเดียลดลงไม่มากนัก ขณะนี้มีอัตราบรรทุกผู้โดยสารอยู่ราว 65% โดยกลุ่มที่หายไปคือ กลุ่มประชุมสัมมนา ส่วนกลุ่มอื่น ๆ ยังคงเดินทางอยู่”

นอกจากนั้น เชื่อว่าตลาดอินเดียจะค่อย ๆ ฟื้นคืนอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีรายการจองในเดือนเมษายนเข้ามาบ้างแล้ว แสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวอินเดียรอที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยหลังจากเหตุการณ์สงบ

โดยเชื่อว่าไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีนี้ ทั้งตลาดอินเดียและอาเซียนจะสามารถรักษาตัวเลขนักท่องเที่ยวจากปีก่อนเอาไว้ได้ เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากช่วงปิดภาคการศึกษาย่อยของสถานศึกษาในอาเซียนและเทศกาลดีวาลีของอินเดีย

แนะเร่งสร้างความเชื่อมั่น

“ไพรัตน์ ห่านศรีสุข” อุปนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ด้านตลาดอาเซียน ให้ข้อมูลว่า ตลาดอาเซียนจะเป็นตลาดที่ฟื้นกลับมาท่องเที่ยวในไทยก่อนตลาดอื่น ๆ ด้วยระยะทางเดินทางที่สั้น และวัฒนธรรมประเพณีที่ใกล้เคียงกัน ทำให้ที่ผ่านมาไทยเป็นจุดหมายปลายทางอันดับ 1 ของตลาดอาเซียนเสมอ

“ไพรัตน์” ย้ำว่า โดยปกติแล้วตลาดอาเซียนค่อนข้างไว้วางใจที่จะออกเดินทางในประเทศไทยอยู่แล้ว หากไทยสามารถยกระดับมาตรการทางสาธารณสุขทั้งขาเข้าและขาออกให้เข้มงวดมากขึ้น โดยลงทุนกับมาตรการในสนามบิน, แหล่งท่องเที่ยว และห้างร้านต่าง ๆ ให้เข้มข้นขึ้น และเชื่อว่าทันทีที่จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงก็จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นและก่อให้เกิดการเดินทางได้เร็วขึ้น

เชื่อ CLMV ขยับก่อน

“เชื่อว่ากลุ่ม CLMV จะเป็นกลุ่มที่ตัดสินใจออกเดินทางก่อน โดยเฉพาะตลาดเมียนมาที่มีการยกเลิกการจองน้อยมาก ในขณะที่ตลาดอื่น ๆ อย่างเวียดนาม, ลาว และเขมร ที่แม้ยังคงเดินทาง

อยู่ แต่มีการยกเลิกการจองมากกว่า นอกจากนี้ยังมีตลาดอื่น ๆ เช่น มาเลเซีย ที่มีศักยภาพที่จะฟื้นคืนได้ทันทีที่เราพร้อม ตอนนี้นักท่องเที่ยวส่วนมากใช้วิธีเลื่อนมากกว่ายกเลิกการเดินทาง”

พร้อมย้ำว่า ในส่วนของตลาดอาเซียนนั้นเชื่อว่าจะฟื้นคืนเกือบเป็นปกติ โดยรักษาจำนวนนักท่องเที่ยวได้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาในไตรมาส 3 และ 4 เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส

แต่ในภาพรวมนั้นต้องยอมรับว่า ไทยอาศัยตลาดจีนในสัดส่วนที่มากกว่าตลาดอื่น ๆ จึงจำเป็นที่จะต้องอาศัยเวลาในการฟื้นตัว

ชี้ตลาด “อินเดีย” ฟื้นไว

ด้าน “ปรีชา จำปี” กรรมการกลางสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ระบุว่า ครั้งนี้เป็นวิกฤตครั้งแรกที่ตลาดอินเดียได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีข่าวเชิงลบเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยถูกเผยแพร่ในอินเดียจำนวนมาก หลายบริษัทมีรายการจองถูกยกเลิกไปกว่า 80% แล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการยกเลิกรายการจอง แต่ขณะเดียวกันก็มีการยืนยันการจองเข้ามาในเดือนมีนาคม-เมษายนนี้อย่างต่อเนื่อง จึงเชื่อว่าหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสค่อย ๆ สงบลงจนนิ่ง อินเดียจะกลับมาเดินทางทันทีเป็นตลาดแรก

แนะเข้าใจตลาด “อินเดีย”

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ รัฐบาลไทยอยากให้อินเดียเข้ามาช่วยทดแทนตลาดจีนที่หายไป แต่ภาคท่องเที่ยวไทยยังไม่เข้าใจพฤติกรรมและธรรมชาติของคนอินเดียมากนัก ทำให้ตลาดอินเดียกระจุกอยู่ในพื้นที่เดิม ๆ คือ กรุงเทพฯ พัทยา และภูเก็ต โดยมองว่าถ้าไทยต้องการดึงนักท่องเที่ยวอินเดียเข้ามาเติมควรต้องให้ความสำคัญกับ 2 เรื่อง

คือ เรื่องการบริการ ที่อินเดียต้องการผู้ประกอบการที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารการกินของคนอินเดีย ซึ่งที่ผ่านมาเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนอินเดียไม่สามารถออกเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่อื่น ๆ ของไทยได้ และสอง คือ การสร้างสื่อระดับประเทศ เพื่อเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของไทยในสายตาคนอินเดียให้เป็นไปในเชิงบวก

ณ เวลานี้คงต้องช่วยกันภาวนาให้กระแสการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยุติโดยเร็ว เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวทั่วโลกกลับมาคึกอีกครั้ง