รถท่องเที่ยวจอดแช่ทั่วประเทศ แบงก์ยืดค่างวด-พักหนี้ 6 เดือน

โควิด-19 ฟาดหางโหมดธุรกิจขนส่งทั่วประเทศ รถนักท่องเที่ยวจอดแช่ 7 พันคัน “เชียงใหม่-ภูเก็ต-สมุย” โคม่า สหกรณ์นครลานนาฯ 4 พันคันกระทบหนัก กรมการขนส่งฯช่วยเจรจายืดจ่ายค่างวด แบงก์พักหนี้ 6-12 เดือน “นครชัยแอร์” ขอลดจำนวนเที่ยววิ่ง เผย 28 สนามบินภูธรกระอัก จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ แห่ยกเลิกไฟลต์ หั่นค่าเช่าร้านค้า 50% รถไฟฟ้า-แอร์พอร์ตลิงก์เหงา

ปรากฏการณ์ของความกลัวที่เชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ลามถึง “ระบบขนส่ง” ทุกโหมดทั่วประเทศ ทั้งรถโดยสารประจำทางและไม่ประจำทาง รวมถึง 28 สนามบินภูธรและรถไฟฟ้าใต้ดินบนดิน

รถท่องเที่ยวลด 40%

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าขณะนี้ผู้ประกอบการรถรับจ้างได้รับผลกระทบเต็ม ๆ จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยว หากยืดเยื้อจะยิ่งวิกฤต

“สมาคมขนส่งทั่วไทยแจ้งว่า รถท่องเที่ยวในสังกัดจอดแบบไม่ได้ใช้งานมีมากถึง 7,000 คันแล้ว ขณะที่ผู้โดยสารรถแท็กซี่ลดลง 20% รถร่วม บขส.วิ่งระหว่างภาคในรัศมี 300-500 กม.ลดลงกว่า 40% อีสานลดมากสุด”

ส่วนเส้นทางกรุงเทพฯ-ต่างจังหวัดทั่วทุกภูมิภาค กลุ่มผู้ประกอบการ อาทิ นครชัยแอร์ สมบัติทัวร์ ฯลฯ ได้ขอลดจำนวนเที่ยว เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย

นครชัยแอร์ลดเที่ยววิ่ง

นางเครือวัลย์ วงศ์รักมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นครชัยแอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ธุรกิจเดินรถแย่มาก ๆ ในช่วงนี้ แม้ลดจำนวนเที่ยววิ่งลงแล้ว 20% จากเดิมวิ่งอยู่ 360 เที่ยว ลดเหลือ 300 เที่ยวต่อวันทั่วประเทศ และมีแนวโน้มว่าจะลดลงอีกอย่างต่อเนื่อง

นครชัยแอร์ได้ส่งเจ้าหน้าสำรวจสถานีขนส่งผู้โดยสารหมอชิต 2 พบว่า “เงียบเหงามาก ๆ รวมถึงสถานีต่างจังหวัด ทั้งนครราชสีมา อุบลราชธานี เชียงราย หนักสุดคือ เชียงใหม่ จากปกติที่เดินรถอยู่ 200-300 เที่ยวต่อวัน ปัจจุบันเหลือ 100 เที่ยวต่อวัน”

รถเชียงใหม่โคม่า

นายบุญเนียม บุญทา ประธานสหกรณ์นครลานนาเดินรถ จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้รถโดยสารสาธารณะทั้งระบบในจังหวัดเชียงใหม่ได้รับผลกระทบรุนแรง โดยเฉพาะสหกรณ์นครลานนาเดินรถที่มีสมาชิกกว่า 4,000 คนมีรถ 2,892 คัน ประกอบด้วย รถสี่ล้อแดง 2,465 คัน (รายได้เฉลี่ยต่อวันต่อคัน 1,000 บาท) แท็กซี่มิเตอร์ 368 คัน (รายได้ต่อวันต่อคัน 1,500 บาท) รถ วี.ไอ.พี. 9 คัน (รายได้ต่อวันต่อคัน 1,500 บาท) และรถตู้ (airport shuttle bus) 50 คัน (รายได้เฉลี่ยต่อวันต่อคัน 1,500 บาท)

เนื่องจากช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวที่ใช้รถของสหกรณ์ลดลง 80% แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวจีน 70% ซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มหลักหายไป 100% ที่เหลือเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วไปและนักท่องเที่ยวคนไทย ปกติมีรายได้เฉลี่ยวันละ 1,000-1,500 บาทต่อคัน แต่ทุกวันนี้รายได้ลดไป 50% ต่อวัน

จากรายได้ที่ลดลง ทำให้ผู้ประกอบการเกิดปัญหาการจ่ายค่างวดกับบริษัทไฟแนนซ์ และเริ่มติดค้างมากขึ้นเป็นจำนวนมาก หากเกิน 4 งวดจะถูกยึดรถ ล่าสุดสหกรณ์ได้หารือกับบริษัทไฟแนนซ์แล้ว โดยขอยืดระยะเวลาการผ่อนออกไป แต่บริษัทไฟแนนซ์ขอคิดดอกเบี้ยตามระยะเวลาที่ยืดออกไปด้วย

นายบุญเนียมกล่าวว่า นอกจากนี้ในจังหวัดเชียงใหม่ยังมีรถตู้ (หมวด 30)เป็นรถไม่ประจำทางกว่า 4,000 คัน กำลังได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

นายธีระยุทธ กองสุวรรณ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เชียงใหม่โลคอลทัวร์ จำกัด กล่าวว่า ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2563 กรุ๊ปทัวร์ได้ยกเลิกการจองทั้งหมด 100% ทั้งทัวร์จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย และกรุ๊ปคนไทย

ซึ่งขณะนี้รถทัวร์ รถตู้ และรถเอสยูวีของบริษัทถูกจอดทิ้งไว้เฉย ๆ ทำให้ขาดรายได้และต้องแบกภาระค่าจ้างพนักงาน ค่าผ่อนชำระค่างวดรถ ล่าสุดไฟแนนซ์ได้พักชำระหนี้ (รถตู้) ให้กับบริษัทเป็นเวลา 6 เดือน ขณะที่รถบัสซึ่งผ่อนชำระกับสถาบันการเงินอีกแห่ง อยู่ระหว่างขอปรับโครงสร้างหนี้

“ในส่วนของพนักงาน บริษัทยังไม่มีนโยบายเลิกจ้าง แต่ขอให้พนักงานลดเงินเดือนเหลือครึ่งหนึ่ง เพราะคาดการณ์ไม่ได้ว่า ตลาดจะฟื้นกลับมาเมื่อไหร่”

นายชนวีร์ เอกเตียวสกุล ผู้แทนชมรมผู้ประกอบการรถบัส 30 เปิดเผยว่า สถานการณ์ของกลุ่มผู้ประกอบการรถบัส รถทัวร์ และเรือสาหัสมาก ซึ่งกลุ่มรถบัส รถทัวร์ในภูเก็ต มีจำนวน 8,000-10,000 คันแต่ละรายล้วนติดเครดิตบูโร ทำให้ไฟแนนซ์ต้องตามยึดรถ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า นักท่องเที่ยวใช้บริการรถ บขส.ลดลงแล้ว 10-15% ในเส้นทางหัวเมืองท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ สมุย คาดว่าเดือน ก.ค.-ส.ค.จะลดลงอีกเพราะเป็นช่วงโลว์ซีซั่น

รถโดยสารจอด 100%

นายโสพนา บุญสวยขวัญ นายกสมาคมรถโดยสารไม่ประจำทาง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นอกเหนือจากสายการบินโลว์คอสต์ที่แย่งตลาดขนส่งการท่องเที่ยวแล้ว การเกิดโรคระบาดโคโรน่าก็ทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะเศรษฐกิจไทยอาศัยรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนกว่า 70% SMEs สังกัดในสมาคม 150-200 รายทั่วประเทศ ตอนนี้ได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงโรงแรม เกษตรกร

เจรจาขอยืดหนี้

อธิบดีกรมการขนส่งทางบกกล่าวเสริมว่า กรมจะเป็นตัวกลางหารือกับสมาคมธนาคารและสถาบันการเงิน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรถโดยสารทุกประเภท ล่าสุดได้รับรายงานจากสำนักงานขนส่งจังหวัดภูเก็ตได้หารือกับธนาคารในจังหวัดบ้างแล้ว เพื่อขอให้ช่วยเหลือเรื่องผ่อนชำระค่างวด

ทั้งหารือกับคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ให้ขยายระยะเวลาการคุ้มครองประกันภัยด้วย เนื่องจากเงื่อนไขกรม หากจอดรถไว้เฉย ๆ ต้องแจ้งว่างดใช้ชั่วคราว ถ้านำรถกลับมาวิ่งอีกก็ต้องเริ่มกระบวนการใหม่ ทั้งต่อภาษีและตรวจสภาพรถ

แบงก์พักหนี้

นายสารัชต์ รัตนาภรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยพักชำระหนี้สูงสุด 12 เดือน ส่วนธุรกิจโรงแรม และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง รวมลูกค้าสินเชื่อเช่าซื้อรถ ธนาคารจะพิจารณาช่วยเหลือเป็นรายกรณี

นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ธนาคารได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวและสินเชื่อเช่าซื้อกับกรุงศรี ออโต้ โดยพิจารณาเป็นรายกรณีตามความหนักเบาของอาการลูกค้า เบื้องต้นจะพักชำระหนี้ 6 เดือน

ลดจอดเครื่องบิน

นายทวี เกศิสำอาง อธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าวว่า กรมดูแลสนามบินภูมิภาค 28 แห่ง เที่ยวบินจากประเทศจีนที่ไปสนามบินกระบี่และสุราษฎร์ธานี ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.ถูกยกเลิกทั้งหมด 145 เที่ยวบิน คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวที่หายไป 10,000 คน และในเดือน เม.ย.จะมีการยกเลิกเที่ยวบินอีกจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และมาเลเซีย

“ข้อมูลปี 2562 ผู้โดยสารต่างชาติใช้สนามบินของกรมรวม 1.8 ล้านคน/ปี ในจำนวนนี้มีสัดส่วนเป็นนักท่องเที่ยวจีน 60% กรมเตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือสายการบินที่ได้รับผลกระทบโดยจะลดค่าธรรมเนียมการจอดเหลือ 100 บาทต่อวัน และร้านค้าในอาคารผู้โดยสารจะลดค่าเช่าพื้นที่ให้ 50% นาน 6 เดือน เริ่มเดือน มี.ค.-ส.ค. 2563”

รถไฟฟ้าเหงา

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ยอดผู้โดยสารลดลง 40,000 เที่ยวคนต่อวัน หลังเกิดไวรัสโควิด ทั้งเป็นช่วงปิดเทอม ทำให้ผู้โดยสารต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ คือ 400,000 เที่ยวคนต่อวัน สำหรับสายสีน้ำเงิน

ขณะที่ยอดผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ก็ลดลง 10,000 เที่ยวคนต่อวัน จากเดิม 80,000 เที่ยวคนต่อวัน เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปกลับสนามบินสุวรรณภูมิ

นายอาณัติ อาภาภิรม กรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กล่าวว่า ส่วนบีทีเอสผู้โดยสารลดลงเล็กน้อย แต่สถานีที่เป็นแหล่งช็อปปิ้งและท่องเที่ยวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ คือ สถานีสยาม ชิดลม อโศก และพร้อมพงษ์