ธุรกิจ “แสนล้าน” อ่วม ! ท่องเที่ยว 2 ฝั่งเจ้าพระยาซบหนัก

file. Photo by Frank Bienewald/LightRocket via Getty Images)

ปี 2562 ที่ผ่านมาถือเป็นปีทองของธุรกิจริมแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างแท้จริง เป็นปีที่มีเงินสะพัดในพื้นที่ดังกล่าวมูลค่าสูงกว่า 1 แสนล้านบาท ทั้งโครงการคอนโดมิเนียม, โรงแรมหรู, ร้านอาหาร, เรือนำเที่ยว ฯลฯ รวมถึงโครงการรถไฟฟ้า เชื่อมต่อกับระบบขนส่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้ภาพรวมของธุรกิจริม 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (เจริญนคร, ธนบุรี) มีสีสันและเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นตามลำดับ

แต่ด้วยธุรกิจริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นหนึ่งในธุรกิจที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบ 100% ในห้วงเวลาที่พิษโควิด-19 แผ่ลามไปทั่วโลกเช่นนี้ ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการริม 2 ฝั่งแม่น้ำต้องเผชิญกับวิกฤตในครั้งนี้อย่างหนักเช่นกัน

นทท.หายมากกว่าครึ่ง

“ปริญญา รักวาทิน” นายกสมาคมการค้าธุรกิจในแม่น้ำเจ้าพระยา ระบุว่า ธุรกิจริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกับธุรกิจท่องเที่ยวทั่วประเทศ โดยปัจจุบันนักท่องเที่ยวบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาหายไปมากกว่า 50% เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนและเอเชียที่ลดลง และปัจจุบันผู้ประกอบการส่วนมากยังคงกังวลว่า ผลกระทบจะขยายไปสู่กลุ่มประเทศยุโรป และทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกลดลงอีก

จับตา “โลว์ซีซั่น” ไตรมาส 2

“หลังจากเริ่มมีนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวไทยไม่ได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวในช่วงนอกฤดูการท่องเที่ยวมากนัก ส่วนปีนี้ซึ่งเป็นปีที่จะไม่มีนักท่องเที่ยวจีน ทำให้คาดการณ์ว่าเมื่อเราออกจากฤดูการท่องเที่ยวโดยสมบูรณ์ในช่วงไตรมาส 2 นี้ จะทำให้เราได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อมที่จะได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ”

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าผู้ประกอบการธุรกิจริมแม่น้ำจะยังคงประคับประคองสถานการณ์ไปได้อีกราว 3-5 เดือน และยังไม่มีการปิดกิจการหรือเลิกจ้างในระยะนี้ แต่ถ้าสถานการณ์ยังไม่ขยับตัวดีขึ้นน่าจะทำให้ความเดือดร้อนขยายวงกว้างจากปัญหาเศรษฐกิจจะกลายเป็นปัญหาสังคม ขณะเดียวกันหากสามารถควบคุมได้เร็ว ไตรมาส 3-4 น่าจะเริ่มคึกคักขึ้น และนักท่องเที่ยวน่าจะเริ่มออกเดินทางโดยไม่มีเงื่อนไขของหน้าโลว์ซีซั่นเข้ามาเกี่ยว

ลุ้นนักท่องเที่ยวยุโรป

ด้าน “พิริยะ วัชจิตพันธ์” กรรมการผู้จัดการ “เจ้าพระยาทัวร์ริสท์โบ๊ท” ที่กล่าวว่า ปัจจุบันลูกค้าและรายได้ของเรือเจ้าพระยาทัวร์ริสท์โบ๊ทลดลงประมาณ 20-30% จากช่วงเวลาปกติ เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศยุโรปยังคงเดินทางท่องเที่ยวอยู่ตามปกติ แม้จะลดลงบ้างเล็กน้อย ซึ่งดีกว่าสถานการณ์ที่บริษัทประเมินไว้ว่าอาจจะลดลงมากกว่า 60-70%

“บริษัทของเราไม่ได้เผชิญกับปัญหาสภาพคล่อง เนื่องจากในปีที่ผ่านมาได้ลงทุนต่อเรือทั้งหมดเสร็จสิ้นไปแล้ว ทำให้เรือปัจจุบันกินน้ำมันน้อยมาก และลดต้นทุนน้ำมันไปมากกว่าครึ่ง เราจึงปรับจำนวนเรือที่ใช้วิ่งให้เหมาะสมกับจำนวนลูกค้า โดยลดจำนวนเรือจาก 5 ลำเหลือ 4 ลำ แต่ส่วนที่น่าเป็นกังวลคือ ถ้าหากนักท่องเที่ยวจากยุโรปเริ่มลดจำนวนลงน่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจมากขึ้น”

“พิริยะ” ยืนยันว่า ถ้าหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสยุติลง นักท่องเที่ยวจะเดินทางกลับมาท่องเที่ยวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้านักท่องเที่ยวกลับมาทันฤดูการท่องเที่ยวหน้าน่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดและพลิกฟื้นกลับมาเป็นปกติ

“ยอดพิมานฯ” ระงับลงทุนใหม่

ด้าน “เฉลียว ปรีกราน” ประธานกรรมการกลุ่ม “ตลาดยอดพิมาน” ที่บอกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวของยอดพิมาน ริเวอร์วอล์คลดลงไปมากกว่า 60% ของช่วงเวลาปกติ เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปเกือบทั้งหมดจนส่งผลกระทบต่อรายได้ของคอมมิวนิตี้มอลล์

โดยขณะนี้บริษัทได้ระงับการลงทุนในโครงการต่าง ๆ เอาไว้ก่อน และเดินหน้าเจรจากับธนาคารผู้ปล่อยกู้ เพื่อขอพักเงินชำระเงินต้น และขอคงสถานะดอกเบี้ยเทียบเท่ากับปีที่ผ่านมา เพื่อไม่ให้กระทบกับสภาพคล่องของกลุ่ม

“ปัจจุบันโครงการที่ยังเดินหน้าปรับปรุงจึงมีแค่โครงการยอดพิมาน ริเวอร์วอล์คที่กลุ่มได้เปิดให้ผู้ลงทุนรายใหม่เข้ามาเช่าพื้นที่เกือบทั้งหมด โดยกลุ่มขยับมาทำหน้าที่ผู้ให้เช่า ซึ่งผู้เช่าใหม่แจ้งแล้วว่าจะเดินหน้าปรับปรุงพื้นที่ตั้งแต่ช่วงนี้ โดยเริ่มต้นก่อสร้างภายในเดือนสิงหาคม และจะแล้วเสร็จภายในกลางปีหน้าซึ่งน่าจะทันกับช่วงฟื้นของภาคการท่องเที่ยวไทยพอดี”

ลูกค้าเอเชียหายเกลี้ยง

“เดชา ตั้งสิน” รองประธานกรรมการ โรงแรมแม่น้ำ รามาดาพลาซา บอกว่า ในช่วงที่ผ่านมา อัตราการเข้าพักของโรงแรมลดลงเหลือประมาณ 60% ด้วยจำนวนลูกค้าที่ลดลงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โดยขณะนี้โรงแรมไม่มีผู้เข้าพักเอเชียแล้ว เหลือเพียงลูกค้าจากภูมิภาคอื่น ๆ เท่านั้น

นอกจากนั้น สถานการณ์โควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่องานจัดเลี้ยงประเภทต่าง ๆ ที่ทยอยยกเลิก และโรงแรมคาดว่าจะส่งผลให้เกิดการยกเลิกการจองห้องพักในระยะเวลาอันใกล้ด้วย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโรงแรมแม่น้ำ รามาดาพลาซา เปิดให้บริการมานานและมีลูกค้าประจำต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์ดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของโรงแรมแต่อย่างใด แต่เชื่อว่าโรงแรมขนาดเล็กและโรงแรมบูทีคจำนวนมากทั้งบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาและในต่างจังหวัดจะต้องได้รับผลกระทบมากกว่าอย่างแน่นอน


โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้อาจจะส่งผลถึงสภาพคล่องในอนาคตอันใกล้ โดยขณะนี้โรงแรมเฝ้าจับตาสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและรอคอยโอกาสในการพลิกฟื้นอีกครั้งคงต้องลุ้นกันต่อไปอีกว่าธุรกิจริม 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพฯ จะสามารถประคับประคอง ยืนหยัด และต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้อยู่รอดปลอดภัยตลอดทั้งปี 2563 นี้ได้หรือไม่อย่างไร