“เซ็นเทล”ไม่หวั่นวิกฤตโควิด เทงบลงทุน2ปี1.2หมื่นล้าน

“เซ็นเทล” เดินหน้าลงทุนโรงแรม2 ปี 1.2 หมื่นล้าน ทั้งเปิดใหม่-ปรับปรุงโรงแรมเก่า ตั้งเป้าปี”67 ทะลุ 76 โรงแรม1.47 หมื่นห้องทั่วโลก รับวิกฤตโควิดกระทบรายได้ ยันพร้อมปรับตัวลดต้นทุนรับสถานการณ์

นายกันย์ ศรีสมพงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและบริหารสินทรัพย์ บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซ่า จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนลงทุนเพิ่มเฉพาะในกลุ่มธุรกิจโรงแรมสำหรับปี 2563-2564 คิดเป็นมูลค่าลงทุนกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการลงทุนทั้งในโครงการใหม่และปรับปรุงโรงแรมเก่าหลายแห่ง

โดยในส่วนโรงแรมใหม่นั้น บริษัทมีแผนจะลงทุนเพิ่มอีก 6 แห่ง ได้แก่ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ สมุย ซึ่งจะทำการปรับปรุงใหม่ เปลี่ยนเแบรนด์เป็นเซ็นทารา รีเซิร์ฟ และเปิดอย่างเป็นทางการในชื่อใหม่ภายในปีนี้ นอกจากนั้นยังมีโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ ดูไบ ที่ลงทุนในรูปแบบจอยต์เวนเจอร์ (joint venture) 40% กับบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และจะเปิดให้บริการภายในปีนี้ ในขณะที่โรงแรมเซ็นทารา มัลดีฟส์ 2 แห่งที่

ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับพื้นที่ คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมดำเนินการส่วนต่อไปภายในมิถุนายนนี้ และแล้วเสร็จพร้อมเปิดบริการภายใน 2 ปีข้างหน้า เช่นเดียวกับโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ โอซากา ซึ่งลงทุนในรูปแบบจอยต์เวนเจอร์กับพันธมิตรญี่ปุ่น 2 ราย อย่าง Taisei Corporation และ Kaden Realty & Development คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในปีนี้และแล้วเสร็จทั้งหมด 515 ห้องพักภายใน 3 ปี ส่วนโรงแรมโคซี่ เชียงใหม่ ถือเป็นโรงแรมแห่งที่ 3 ภายใต้แบรนด์โคซี่ ต่อจากโรงแรมโคซี่ สมุย และโคซี่ พัทยา

นอกจากนั้นยังมีแผนที่จะปรับปรุงโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ และเซ็นทาราแกรนด์ หัวหิน (อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อต่อสัญญาเช่าที่ดิน) เพื่อยกระดับการบริการและปรับเพิ่มอัตราค่าห้องพักเช่นเดียวกับที่สามารถปรับเพิ่มอัตราค่าห้องพักในพื้นที่ที่ปรับปรุงแล้วได้มากกว่า 30% จากอัตราเดิม พร้อมเตรียมพิจารณาเร่งความเร็วในการปิดปรับปรุงให้มากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในช่วงนี้

นายกันย์กล่าวด้วยว่า โดยตามแผน CENTEL จะมีโรงแรมเพิ่มขึ้นอีก 33 แห่ง รวม 6,665 ห้อง ภายในปี 2567 แบ่งเป็นโรงแรมที่ลงทุนเองหรือร่วมลงทุน 5 แห่ง หรือ 1,573 ห้อง และโรงแรมที่รับบริหารจัดการอีก 28 แห่ง หรือ 5,092 ห้อง ในหลายประเทศทั่วทุกภูมิภาคของโลก อาทิ จีน ตุรกี อินโดนีเซีย กัมพูชา ลาว เมียนมา มัลดีฟส์ กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และไทย ทำให้มีโรงแรมรวม 76 แห่ง 14,758 ห้อง จากปัจจุบัน 43 แห่ง 8,093 ห้อง

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวเป็นวงกว้างในปีนี้นั้น บริษัทคาดว่ารายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก(RevPAR) น่าจะลดลงประมาณ 15%จากอัตราการเข้าพักที่ลดลงมากกว่าอัตราค่าห้องที่ลดลง ซึ่งในกรณีที่สถานการณ์ยุติภายในเดือนมิถุนายนนี้ แต่หากสถานการณ์ลากยาวออกไปก็อาจจะมีความเสียหายมากกว่า โดยคาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อรายได้รวมราว 15% เช่นกัน

“ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา โรงแรมในเครือมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยราว 60% จากปกติราว 80-90% โดยโรงแรมในกรุงเทพฯได้รับผลกระทบมากกว่าโรงแรมในต่างจังหวัด ซึ่งมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยประมาณ 70% และคาดว่าเดือนมีนาคมนี้ อัตราการเข้าพักเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 53-54% ขณะเดียวกันถ้าสถานการณ์ยุติภายในเดือนมิถุนายนตามคาด อัตราการเข้าพักเฉลี่ยของทั้งกลุ่มตลอดทั้งปีน่าจะลดลงราว 10%”

นอกจากรายได้จากค่าห้องพักแล้ว รายได้จากการประชุมสัมมนาก็ได้รับผล กระทบ เพราะผู้จัดงานทยอยยกเลิก ออกไป อาทิ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทารา แกรนด์ ลาดพร้าว, เซ็นทาราแกรนด์ มิราจ บีช รีสอร์ท พัทยา และเซ็นทารา รีสอร์ท มัลดีฟส์ อยู่ในโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของ รวมคาดว่าน่าจะสูญรายได้ในส่วนนี้ไปกว่า 30% ใน 2 เดือนที่ผ่านมา หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท

“ในปี 2562 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้รวมจากธุรกิจโรงแรม 8,895.9 ล้านบาทลดลง -8.9% และมีกำไรสุทธิจากการดำเนินการ 1,721.7 ล้านบาท ลดลง -20.9%จากปี 2561 เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวจากยุโรปไม่เติบโต และตลาดสำคัญอย่างจีนและมาเลเซียมีอัตราการเติบโตในระดับปานกลางเท่านั้น สำหรับวิกฤตในปีนี้ไม่ใช่ครั้งแรก บริษัทจึงมุ่งมั่นที่จะบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ เน้นทั้งประหยัดต้นทุนและเพิ่มรายได้” นายกันย์กล่าว

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแผนที่จะควบคุมต้นทุนที่ไม่จำเป็นอย่างการลดใช้เอาต์ซอร์ซในการจัดงานประเภทต่าง ๆ ที่โรงแรมใช้อยู่เดิม รวมถึงการปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอในห้องอาหารของโรงแรม จากปกติที่เป็นบุฟเฟต์อาหารเย็นก็อาจจะเปลี่ยนเป็นอาหารจานเดี่ยว เพื่อลดขยะอาหารและต้นทุนที่ไม่จำเป็น พร้อมกันนั้น บริษัทพยายามให้โรงแรมในเครือแนะนำให้ลูกค้าและโฮลเซลเลื่อนการจองออกไปมากกว่าการยกเลิก เพื่อรักษาลูกค้าเอาไว้ โดยเอื้อให้ลูกค้าสามารถเลื่อนได้โดยไม่มีค่าธรรมเนียม


“ปีนี้คาดว่าสัดส่วนรายได้ของบริษัทจะเปลี่ยนไป โดยสัดส่วนรายได้จากธุรกิจอาหารน่าจะเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่สัดส่วนรายได้จากธุรกิจโรงแรมจะลดลงจากผลกระทบของสถานการณ์ไวรัสโควิด-19” นายกันย์กล่าว