ลุ้นซอฟต์โลน “ท่องเที่ยว” ททท.ระดมแบงก์ปลดล็อก 20 มี.ค.

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเตรียมวงเงิน 1.5 แสนล้านบาทสำหรับให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลน เพื่อให้ผู้ประกอบการกู้ในอัตราดอกเบี้ย 2% เป็นระยะเวลา 2 ปีนั้น

ล่าสุด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ได้เชิญสมาคมทางด้านการท่องเที่ยวทั้งหมด 10 สมาคมและธนาคาร 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME BANK) เข้าร่วมประชุมหารือและพูดคุยเกี่ยวกับมาตรการดูแล รวมถึงหลักเกณฑ์การปล่อยกู้

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนใหม่ดังกล่าวได้

ขอปรับเกณฑ์ปล่อยกู้

“ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า หลังการประชุมได้ข้อสรุปว่าผู้ประกอบการท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม ทำให้แต่ละบริษัทไม่สามารถยื่นขอสินเชื่อตามหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อเดิมของธนาคารได้ ผู้ประกอบการจึงเสนอให้มีการปรับหลักเกณฑ์บางส่วนให้สอดคล้องกับสภาวะวิกฤตอาทิ ขอให้ใช้ค่าใช้จ่ายประจำอย่างภาษีหรือประกันสังคมมาพิจารณาให้วงเงินกู้แทนรายได้, ขอให้ยืดหยุ่นบัญชีหลักทรัพย์ค้ำประกันโดยการเพิ่มสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ เช่น รถบัส ฯลฯ

นอกจากนั้น ผู้ประกอบการยังได้เสนอขอให้ธนาคารปล่อยวงเงินเดิมที่ผู้ประกอบการเคยกู้และชำระคืนไปแล้วบางส่วนออกมาให้กู้ใหม่ ส่วนหนี้เก่าขอให้มีการพักชำระดอกเบี้ยเพิ่มเติมจากการพักชำระเงินต้น โดยแต่ละข้อเสนอดังกล่าวทั้งธนาคารออมสินและ SME BANK ได้รับไปพิจารณาแล้ว แต่เนื่องจากหลายข้อเสนอไม่มีรายละเอียดอยู่ในมติคณะรัฐมนตรี จึงอาจจะต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป

เชื่อท่องเที่ยวฟื้นได้เร็ว

“ยุทธศักดิ์” บอกด้วยว่า ในส่วนของการขอสินเชื่อบุคคลให้กับมัคคุเทศก์และพนักงานในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวนั้น บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะเป็นผู้ค้ำประกันให้ในวงเงินกู้ 200,000 บาท เพื่อให้พนักงานมีเงินสดหมุนเวียนใช้จ่ายในช่วงเวลาที่ไม่มีรายได้นี้

“การขอให้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การปล่อยกู้ครั้งนี้เป็นสินเชื่อระยะสั้นอายุแค่ 6 เดือน-1 ปีเท่านั้น โดยมองว่าธุรกิจท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่ฟื้นไว ทันทีที่สามารถกลับมาเป็นปกติจะเติบโตกว่า 2 เท่าจากของเดิมโดยตลอด ดังนั้น ในช่วงเวลาวิกฤตนี้อะไรที่เราไม่เคยทำตอนนี้ก็อาจจะต้องลองทำดูก่อน แต่โดยเบื้องต้นการปรับโครงสร้างหนี้สามารถเกิดขึ้นได้แน่นอนผ่านการพูดคุยกับธนาคารเจ้าของหนี้เดิมก่อน”

มั่นใจได้เงินหมุนต้นเมษาฯนี้

พร้อมย้ำว่า ด้วยเงื่อนไขของแต่ละผู้ประกอบการแตกต่างกันมาก ทาง ททท.จึงเตรียมที่จะจัดเวิร์กช็อปเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการขอสินเชื่อให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวกว่า 300 ราย ได้พบปะกับธนาคาร 18 แห่ง และสถาบันทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารอีก 2 แห่ง ในวันที่ 20 มีนาคม 2563 นี้

โดยหากได้ข้อสรุปชัดเจนอาจจะมีบางหลักเกณฑ์ที่รวบรวมยื่นเสนอต่อกระทรวงการคลังได้เลยทันที และหากเป็นผลดีจะกระจายออกสู่ 5 ภูมิภาค เพื่อสร้างความเข้าใจให้ผู้ประกอบการทั่วประเทศ

“กระบวนการเพื่อทำความเข้าใจระหว่างผู้ประกอบการและธนาคารนั้น หวังว่าจะเร่งรัดดำเนินการให้ผู้ประกอบการได้รับวงเงินสดเข้ามาหมุนเวียนไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือนเมษายนนี้

ลุ้นสรุปเงื่อนไขอีกรอบ 20 มี.ค.

ขณะที่ “ชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ให้ข้อมูลว่า เนื่องจากมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาลไม่ได้แจกแจงรายละเอียดและเงื่อนไขอย่างชัดเจน ทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อมจำเป็นจะต้องร่วมพูดคุยหาข้อสรุปที่เห็นตรงกันและนำเข้าไปเจรจากับธนาคารและสถาบันทางการเงินให้พิจารณาผ่อนปรนเงื่อนไขหลักเกณฑ์การพักชำระหนี้เก่าและการขอแหล่งเงินทุนใหม่อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม หลังจากการประชุมพูดคุยไปแล้วก็ยังไม่มีข้อเสนอไหนได้ข้อสรุป และต้องรอพูดคุยหลังพบปะผู้ประกอบการอีกครั้งในวันที่ 20 มีนาคมนี้

เสนอปล่อยกู้ตามค่าใช้จ่ายจริง

โดยข้อเสนอที่ สทท.ได้รวบรวมจากผู้ประกอบการครอบคลุมข้อสรุปว่า จากวงเงินปล่อยกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 2% ระยะเวลา 2 ปี วงเงิน 1.5 แสนล้านบาทที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในสัปดาห์ที่ผ่านมา อยากจะขอให้แบ่งวงเงินสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวออกมา 3,000 ล้านบาท เพื่อยืนยันว่าผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะได้รับผลประโยชน์จากมาตรการเยียวยาดังกล่าวจริง พร้อมกำหนดระยะเวลาในการดำเนินเรื่องให้ผู้ประกอบการได้รับสินเชื่อก้อนดังกล่าว

ภายในสิ้นเดือนมีนาคมรวมถึงขอให้ธนาคารและสถาบันทางการเงินใช้ค่าใช้จ่ายรายเดือนเป็นหลักเกณฑ์การประเมินวงเงินกู้ยืม อาทิ มีค่าใช้จ่ายรายเดือน 1 ล้านบาทต่อเดือนประเมินระยะเวลาได้รับผลกระทบ 6 เดือนขอวงเงินกู้ยืมสินเชื่อ 6 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังขอให้มีการประเมินรถยนต์ รถตู้ รถบัส เรือยนต์ เรือโดยสาร เรือยอชต์ และสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ เป็นหลักประกันแทนที่ดินได้ด้วย

สำหรับหนี้เก่านั้น “ชัยรัตน์” บอกว่า สทท.เตรียมพูดคุยกับธนาคารและสถาบันทางการเงินขอยกเว้นการชำระเงินต้นให้กับผู้ประกอบการ 1 ปี และขอพักชำระดอกเบี้ยครึ่งหนึ่งเป็นเวลา 1 ปีเช่นกัน และขอให้ธนาคารและสถาบันทางการเงินยินยอมให้ผู้ประกอบการขอสินเชื่อจากวงเงินเดิมที่เคยใช้หลักประกันวางขอไว้

ผู้ประกอบการเลือดไหลไม่หยุด

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสมาชิก สทท. ยังได้เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายบางส่วน เพื่อนำเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวออกมาช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการในแง่ใช้เป็นหลักประกันสินเชื่อ รวมถึงมีการพูดถึงการเสนอขายบัตรกำนัล หรือโวเชอร์แพ็กเกจนำเที่ยวให้กับภาครัฐและเอกชน เพื่อนำกระแสเงินสดมาหมุนเวียนใช้จ่ายไปก่อน นอกจากนั้น ยังมีการพูดคุยถึงปัญหาการคืนเงินของสายการบินซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไข


“ชัยรัตน์” ยังบอกด้วยว่า ตอนนี้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวกำลังเผชิญสภาวะเลือดไหลไม่หยุด ขณะที่การแพร่ระบาดยังทวีความรุนแรงทำให้ความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวลดลงอีก ดังนั้นจึงค่อนข้างเชื่อว่าจะต้องใช้เวลาพอสมควรในการพลิกฟื้นวิกฤตในครั้งนี้