เร่ง ‘ต่อลมหายใจ’ ท่องเที่ยว

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ มีมติเห็นชอบให้ออกมาตรการการเงินการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวปี 2563 พร้อมทั้งทยอยออกมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการในภาคธุรกิจท่องเที่ยวมาเป็นระยะ ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมาได้ออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบกู้ในอัตราดอกเบี้ย 2% ระยะเวลา 2 ปี 

“ชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า จนถึงวันนี้ยังไม่มีผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายใดเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดังกล่าวแม้แต่รายเดียว เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งไม่เข้าเกณฑ์พิจารณาตามเงื่อนไขการปล่อยกู้ปกติของสถาบันการเงิน

โดย สทท.ได้พยายามเจรจากับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เพื่อประสานและเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อปลดล็อกเงื่อนไขบางข้อ เพื่อให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเข้าถึงซอฟต์โลนและนำเงินสดมาเสริมสภาพคล่อง และเป็นการต่อลมหายใจให้กับกลุ่มเอกชนท่องเที่ยวพยุงธุรกิจให้เดินต่อไปได้

“ดร.วสุเชษฐ์ โสภณเสถียร” รองประธาน สทท. เสริมว่ามาตรการเร่งด่วนเพื่อเยียวยาผู้ประกอบการที่ สทท.ได้ร่วมกับ13 สมาคมนำเสนอ มีดังนี้ 1.ขอให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่เข้าถึงแหล่งเงินกู้อยู่แล้วสามารถพักการชำระเงินต้นอย่างน้อย 12 เดือน, ลดชำระดอกเบี้ย 50% อย่างน้อย 12 เดือนและขอกู้เพิ่มได้เต็มวงเงินเดิมที่เคยได้รับ

ในส่วนของ soft loan สำหรับเสริมสภาพคล่องนั้นให้ working capital อย่างน้อย 6 เดือน ในวงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย พร้อมขอกันวงเงินกู้เร่งด่วน3,000 ล้านบาท ภายใน 31 มีนาคม 2563 จากธนาคารออมสินโดยตรง จากยอดวงเงินเยียวยาที่รัฐบาลกำหนด 150,000 ล้าน โดยมีคณะทำงานจาก สทท.เข้าไปเป็นคณะทำงานติดตามผล 

ทั้งนี้ ผู้ขอกู้จะมีเอกสารรับรองจาก สทท.โดยเอกสารประกอบจากค่าใช้จ่ายจริง เช่น เงินเดือน (ประกันสังคม/ภ.ง.ด.) และขอให้ยกเว้นหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือให้ บสย.ค้ำประกันแทน พร้อมผ่อนปรนสำหรับผู้ประกอบการที่ติดเครดิตบูโร นอกจากนั้นยังขอวงเงินกู้ฉุกเฉินสำหรับการยังชีพให้กับบุคคลผู้ประกอบอาชีพอิสระ ในวงเงินไม่เกิน 2 แสนบาทต่อราย โดยให้ยกเว้นหลักทรัพย์ค้ำประกัน และขอให้ บสย.ค้ำประกันแทน และผ่อนปรนสำหรับผู้ที่ติดเครดิตบูโรเช่นกัน โดยใช้เอกสารประกอบจากค่าใช้จ่ายจริง

ด้าน “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ บอกว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงท่องเที่ยวฯ ทำสำรวจกองทุนทางด้านการท่องเที่ยวต่าง ๆ ว่ามีกองทุนใดที่สามารถนำออกมาใช้ประโยชน์ได้ โดยพิจารณาจากขนาดของกองทุน โดยล่าสุดนี้ได้มติเสนอขอให้คืนเงินค้ำประกันที่ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวได้วางมัดจำไว้กับกรมการท่องเที่ยวตอนจดทะเบียนบริษัทในสัดส่วน 50-70%เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเงินสดไปหมุนเวียนเสริมสภาพคล่อง

นอกจากนี้ยังเสนอให้ธนาคารของรัฐซื้อหนี้ของผู้ประกอบการท่องเที่ยวจากธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ พร้อมพักชำระเงินต้น และกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง เพื่อแก้ไขปัญหาธนาคารพาณิชย์ไม่ยินยอมให้มีการพักชำระส่วนมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงานในกลุ่มธุรกิจที่มีการประกาศปิดชั่วคราว อาทิ สปา นวดไทย
สถานบันเทิง ฯลฯ คาดว่าจะมีการหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งต่อไป

“ยุทธชัย สุนทรรัตนเวช” ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์มีมติเห็นชอบปรับลดเงินค้ำประกันชั่วคราวลง 70% เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการนำเที่ยวนำเงินดังกล่าวมาสร้างสภาพคล่องให้กับธุรกิจของตัวเองแล้ว 

โดยกำหนดว่าหากสถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติแล้ว ผู้ประกอบการจะต้องนำเงินดังกล่าวมาวางค้ำประกันไว้ที่กรมการท่องเที่ยวเหมือนเดิม ซึ่งคาดว่าโดยกระบวนการขั้นตอนน่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนนับจากนี้

มาตรการต่าง ๆ ที่หน่วยงานรัฐพยายามออกมาเป็นระลอกนี้ นับเป็นความพยายามที่จะช่วย “ต่อลมหายใจ”
และพยุงให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวสามารถเดินหน้าต่อไปในช่วงระหว่างที่รอเข้าถึงซอฟต์โลน…