โรงแรมชัตดาวน์ชั่วคราว โควิดทุบซ้ำ ‘โอเวอร์ซัพพลาย’

การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างรวดเร็ว จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 15.9 ล้านคนในปี 2553 เป็น 39.8 ล้านคนในปี 2562 ที่ผ่านมา หรือเพิ่มขึ้นถึงราว 24 ล้านคน หรือ 2.5 เท่าตัว (ดูตารางประกอบ) ส่งผลให้นักลงทุนหันมาทุ่มลงทุนด้านซัพพลายเชนด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจโรงแรมที่ไม่เพียงแต่จะเป็นกลุ่มทุนเดิม ๆ เท่านั้น ยังมีกลุ่มทุนใหม่จากค่ายอสังหาริมทรัพย์ที่หันมาลงทุนในธุรกิจโรงแรมอย่างหนักในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าธุรกิจจะอยู่ในสถานะ “โอเวอร์ซัพพลาย” ในเมืองท่องเที่ยวแล้ว

ห้องพักเพิ่ม-อัตราเข้าพักลดลง

จากข้อมูลของศูนย์วิจัยการท่องเที่ยว ที่ประมวลผลโดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจฯ ธนาคารออมสิน ระบุว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีห้องพักโรงแรมทั่วประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2559มี 676,167 ห้องพัก, ปี 2560 มี 719,500 ห้องพัก เพิ่มขึ้น 43,333 ห้องพักปี 2561 มี 741,557 ห้องพัก เพิ่มขึ้น22,057 ห้องพัก และปี 2562 มี 763,803 ห้องพัก เพิ่มขึ้น 22,246 ห้องพัก (ดูตารางประกอบ)

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยยังได้รายงานถึงตัวเลขอัตราการเข้าพักในโรงแรมทั่วประเทศ ซึ่งก็พบว่า โรงแรมทั่วประเทศมีอัตราการเข้าพักที่ลดลง โดยในปี 2561 ที่ผ่านมาทั่วประเทศมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 70.5% ลดลงจากปี 2561 ที่มีอัตราเฉลี่ยที่ 75.3% (ดูตารางประกอบ)

ห้องพักล้นตลาดต่อเนื่อง

แหล่งข่าวในวงการธุรกิจโรงแรมรายหนึ่ง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยก้าวสู่ภาวะ “โอเวอร์ซัพพลาย”อย่างชัดเจนในทุกเมืองท่องเที่ยวหลัก ซึ่งหากดูสถิติจำนวนโรงแรม ห้องพัก และอัตราการเข้าพักจะพบว่าสวนทางกันมาตลอด

“ด้วยจำนวนห้องพักที่เพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นห้องต่อปีนั้นได้นำไปสู่การแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะด้านราคา ซึ่งจะเห็นว่าราคาห้องพักได้ลดลงต่อเนื่องเช่นกัน” แหล่งข่าวระบุ

สอดรับกับ “ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ”นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) ที่ให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ไว้ตั้งแต่ปี 2561 ที่ผ่านมาว่า ถ้ามองในมุมของโอเวอร์ซัพพลายนั้นเป็นในทุกเมืองที่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก

“โควิด-19” ทุบโรงแรมปิดตัว

แหล่งข่าวในธุรกิจท่องเที่ยวรายหนึ่ง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการแข่งขันที่รุนแรงโดยเฉพาะด้านราคา ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการปรับตัวอย่างหนักในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ประเทศไทยเจอวิกฤตจากเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวล่มที่ภูเก็ตเมื่อกลางปี 2561กระทั่งถึงปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและค่าเงินบาทที่แข็งค่าในปี 2562 เมื่อเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ซ้ำเติมอีกรอบในปีนี้ ทำให้ธุรกิจโรงแรมทุกระดับได้รับผลกระทบอย่างหนักและเริ่มทยอยปิดให้บริการชั่วคราวแล้ว

ล่าสุดนายกสมาคมโรงแรมไทยให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปีนี้จะส่งผลให้โรงแรมทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดทยอยปิดกิจการชั่วคราวเนื่องจากด้วยสถานการณ์ขณะนี้ คือ ทุกโรงแรมไม่มีผู้เข้าพัก

“แม้จะไม่ประกาศปิดกิจการก็เหมือนกับการปิดกิจการชั่วคราวอยู่แล้ว แต่การปิดไปเลยชั่วคราวก็อาจจะทำให้ลดต้นทุนที่จะต้องเสียไปได้มากกว่า เนื่องจากปกติแล้วโรงแรมจะต้องมีอัตราการเข้าพักมากกว่า 50% จึงจะคุ้มต้นทุนในการเปิดให้บริการ”

“AWC-ไมเนอร์” ปิดชั่วคราว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา “แอสเสท เวิรด์ฯ” หรือ AWC ได้ประกาศปิดการให้บริการโรงแรมในเครือ 5 แห่งในกรุงเทพฯเป็นการชั่วคราว ประกอบด้วย แบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค, ดับเบิ้ลทรี บาย ฮิลตัน สุขุมวิท กรุงเทพฯ, เลอ เมอริเดียน กรุงเทพ, ดิ โอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ และแบงค็อก แมริออท เดอะ สุรวงศ์

โดยพนักงานทั้งหมดกว่า 2,000 คนของ 5 จะยังคงได้รับค่าจ้าง เงินเดือน ตามปกติในระหว่างการหยุดงาน ทั้งนี้ มีข้อกำหนดให้พนักงานทั้งหมดพักอยู่ที่บ้าน เลี่ยงเดินทางเคลื่อนย้ายไปยังจังหวัดอื่น ๆ โดยเด็ดขาด พร้อมทั้งจัดทำความสะอาดใหญ่ทั่วทั้งบริเวณ (big cleaning) เพื่อเพิ่มความมั่นใจด้านสุขอนามัยหลังกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง

เช่นเดียวกับกลุ่ม “ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล” ที่ได้ออกจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมืองผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ โดยระบุว่าจะปิดโรงแรมในกรุงเทพฯทั้งหมด และอยู่ระหว่างการพิจารณาในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงอื่น ๆ ในประเทศด้วย

ทั้งนี้ โรงแรมที่ปิดให้บริการ 7 แห่งในกรุงเทพฯ ได้แก่ อนันตรา ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ รีสอร์ท, อนันตรา สาทร กรุงเทพฯ โฮเทล, อนันตรา สยาม กรุงเทพฯ โฮเทล, อวานี พลัส ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ, อวานี สุขุมวิท กรุงเทพฯ, อวานี เอเทรียม กรุงเทพฯ และเดอะ เซนต์ รีจิส กรุงเทพฯ โดยเชื่อว่ามาตรการที่เข้มงวดในระยะเวลาสั้น ๆ จะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ในขณะนี้

ทุกค่ายพร้อมตั้งรับ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากเครือโรงแรม 2 รายใหญ่ข้างต้นขณะนี้โรงแรมหลายแห่งทั่วประเทศไทยยังไม่มีการเคลื่อนไหว อาทิ เครือเคป & แคนทารี โฮเทลส์ 23 โรงแรมในประเทศไทยยังคงเปิดให้บริการตามปกติ เครือเซ็นทารา 42 โรงแรมทั่วทุกภูมิภาคทั่วโลกยังคงเปิดให้บริการตามปกติ เครือออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้ฯ ยังคงเปิดให้บริการปกติ แต่อยู่ระหว่างหารือการรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบัน

เช่นเดียวกับด้านเครือดุสิตธานีที่มีโรงแรมในพื้นที่กรุงเทพฯ 2 โรงแรม ยังคงเปิดให้บริการปกติ แต่อยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

ส่วนเครือใบหยกที่มีโรงแรมให้บริการในประเทศไทย 6 โรงแรม ยังคงเปิดให้บริการปกติเช่นกันจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ โดยแม้ร้านอาหารต่าง ๆ จะปิดให้บริการ แต่ว่าปัจจุบันทางโรงแรมเริ่มให้บริการการขายอาหารผ่านช่องทางดีลิเวอรี่เรียบร้อยแล้ว

กลุ่มทุนอสังหาฯโหมลงทุน

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนโรงแรม ห้องพักนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกลุ่มทุนรายใหญ่เข้ามาโหมการลงทุนอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็น “แอสเสท เวิรด์ฯ” หรือ AWC ของกลุ่มตระกูล “สิริวัฒนภักดี” ที่ลงทุนปีละ 1 หมื่นล้านบาทสำหรับพัฒนาต่อยอดโรงแรมในเซ็กเมนต์ระดับกลางขึ้นไป รวมถึงโรงแรมกลุ่มไมซ์-โครงการมิกซ์ยูส เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มธุรกิจ

โดยปัจจุบัน AWC เป็นเจ้าของโรงแรมในระดับ midscale ขึ้นไป เป็นรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีห้องพักทั้งหมดที่เปิดดำเนินการแล้ว และที่อยู่ระหว่างการพัฒนารวม 15 แห่ง มีจำนวน 4,960 ห้อง นอกจากนี้ ยังมีแผนเข้าซื้อหุ้นในบริษัทผู้เป็นเจ้าของโรงแรมอีก 12 แห่ง จำนวนห้องพัก 3,546 ห้อง โดยคาดว่าภายในอีก 5 ปีข้างหน้า AWC จะมีโรงแรมที่เปิดให้บริการทั้งสิ้น 27 โรง และมีจำนวนห้องพักมากถึง 8,500 ห้อง

ค่าย “สิงห์ เอสเตท” หรือ เอส โฮเทล ปัจจุบันมีโรงแรมในเครือ 39 แห่ง จำนวน 4,647 ห้อง ใน 5 ประเทศทั่วโลก โดยมีทั้งโรงแรมที่ลงทุนเอง, บริหารจัดการภายใต้แฟรนไชส์ และบริหารจัดการผ่านแบรนด์อื่น (3rd Party Hotel Management) หรือกลุ่ม “พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค” ที่เข้าซื้อหุ้นแกรนด์แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ ที่มีพอร์ตธุรกิจโรงแรมอยู่ในมือแล้วกว่า 2,000 ห้องพัก พร้อมประกาศว่าจะขยายการลงทุนเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

ค่ายใหญ่ปูพรมกว่า 10 แห่งต่อปี

ขณะที่กลุ่มทุนหน้าเดิมอย่าง “เซ็นทรัล” หรือเซ็นทารา ประกาศชัดเจนว่าตั้งเป้ามีการลงทุนในเครือข่ายรวม 130 แห่ง ภายในปี 2565 นี้ จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 70 แห่ง โดยตั้งเป้าว่าตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นไป “เซ็นทารา” จะเพิ่มโรงแรมในเครือปีละ 15-20 โรงแรมทั้งในและต่างประเทศ

เช่นเดียวกับกลุ่ม “ดุสิตธานี” ที่ตั้งเป้าขยายโรงแรมใหม่ทั้งในและต่างประเทศไว้ที่จำนวน 10-12 แห่งต่อปี โดยมีเป้าหมายเปิดให้บริการเพิ่มอีกประมาณ 60 แห่ง ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า หรือมีจำนวนโรงแรมรวม 94 แห่ง ในกว่า 25 ประเทศ หรือมีจำนวนห้องพักรวมทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 20,000 ห้อง ภายในปี 2023 จากปัจจุบันที่เปิดให้บริการอยู่ราว 34 แห่ง ใน 13 ประเทศ รวมห้องพักกว่า 8,500 ห้องพัก

ปรากฏการณ์ “ปิดชั่วคราว” ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ไม่เพียงแต่ภาคธุรกิจโรงแรมของไทยเท่านั้น ในระดับนานาชาติก็มีโรงแรมที่ปิดตัวชั่วคราวไปก่อนเช่นกัน อาทิ สเปน ที่รัฐบาลสั่งปิดโรงแรมทุกแห่งภายในประเทศชั่วคราว หรือ “เครือดิสนีย์” ที่ประกาศปิดร้านค้าและโรงแรมในเครือที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคอเมริกาเหนือเป็นการชั่วคราว รวมถึง “เครือแมริออท” ที่ประกาศเตรียมพักงานพนักงานหลายหมื่นคนในหลายโรงแรมทั่วทุกภูมิภาคของโลก