200 ราย หนุนโรงแรมช่วยชาติ เช่าวันละพันเคลียร์เตียงโควิด

ผู้ประกอบการ 200 โรงแรมเทใจเข้าร่วมโปรเจ็กต์ “โรงแรมช่วยชาติ” รับผู้ป่วยโควิด-19 เฝ้าระวังเข้าพักชั่วคราว เคลียร์เตียงใน รพ.รับผู้ป่วยหนัก ย้ำพนักงานโรงแรมปลอดภัย-ไม่เสี่ยง-ใช้แพทย์-พยาบาลดูแลทุกขั้นตอน

นายสมศักดิ์ พะเนียงทอง ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากจำนวนผู้ป่วยโรคไวรัสโควิด-19 ที่ยังมีตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในจำนวนทั้งหมดนั้นพบว่ามีสัดส่วนผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยถึงไม่มีอาการเลยรวมกว่า 70% และมีผู้ป่วยที่มีอาการหนักราว 20% และมีผู้ป่วยอาการโคม่าจำเป็นต้องใส่เครื่องช่วยหายใจอีก 10% และการที่ยังมีตัวเลขจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นดังกล่าว อาจจะส่งผลให้จำนวนเตียงผู้ป่วยของโรงพยาบาลต่าง ๆ มีไม่เพียงพอต่อความต้องการ และที่สำคัญคือ โรงพยาบาลจำเป็นจะต้องสำรองและเก็บเตียงไว้ให้กับผู้ป่วยหนักที่ต้องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์

ที่ผ่านมากระทรวงจึงมีการเสนอให้ใช้โรงแรมเป็นสถานที่ในการดูแลและกักตัวผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนัก โดยโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับรายได้จากงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขตอบแทน และโครงการนี้จะนำร่องด้วยโรงแรมในพื้นที่กรุงเทพฯก่อน เพื่อเป็นการจำกัดเชื้อไม่ให้ออกไปยังต่างจังหวัด และอาจจะมีการขยับขยายออกไปยังพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มเติมในกรณีที่มีความจำเป็นมากขึ้น และโครงการนี้จะอยู่ภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งหมอ พยาบาล ตลอดเวลา โดย สธ.จะจัดผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ให้มีสัดส่วนที่พอดีและเหมาะสมกับขนาดของโรงแรม

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ สธ.จึงอยากได้โรงแรมขนาดค่อนข้างใหญ่มาเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้สามารถจัดสรรบุคลากรได้อย่างคุ้มค่า ประกอบกับโรงแรมขนาดใหญ่จะมีระบบสุขาภิบาล ระบบบำบัดน้ำเสีย และระบบอื่น ๆ ใกล้เคียงกับระบบของโรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้มีโรงแรมสมัครเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมากเกินกว่าที่คาดไว้ และน่าจะเพียงพอกับระยะที่ 1 ของโครงการแล้ว ต่อไปน่าจะเป็นช่วงเวลาของการคัดเลือกและการเสนอราคาซึ่งจะต้องอยู่ในกรอบงบประมาณที่ทาง สธ.มีอยู่

“ยืนยันว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นภายใต้ความเห็นชอบของแพทย์และความสมัครใจของคนไข้ และหลังจบโครงการ กระทรวงพร้อมที่จะทำความสะอาดเต็มรูปแบบให้กับโรงแรมผู้เข้าร่วมโครงการ พร้อมทั้งช่วยประชาสัมพันธ์เชิงบวกให้กับโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการต่อไป เพื่อให้ผู้ใช้บริการมั่นใจและเห็นถึงน้ำใจของโรงแรมที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือประเทศในช่วงเวลาวิกฤต” นายสมศักดิ์ย้ำ

และว่าปัจจุบันมีผู้ประกอบการโรงแรมเสนอตัวเข้าร่วมแล้วราว 200 โรงแรม ขณะนี้อยู่ระหว่างการบวนการคัดกรองความเหมาะสมของแต่ละโรงแรม ซึ่งในเสแรกนี้ตั้งเป้าไว้ที่ประมาณ 2,000-3,000 เตียง จากนั้นจะประเมินสถานการณ์แพร่ระบาดอีกครั้งอีกครั้ง เพื่อเตรียมพร้อมรองรับในทุกๆ กรณี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลักเกณฑ์เบื้องต้นของโรงแรมที่จะเข้าร่วมโครงการฯ หลัก ๆ เช่น พื้นของห้องพักไม่ควรเป็นพรม มีระบบแอร์แยก, มีจำนวนห้องพักมากและอยู่ใกล้โรงพยาบาลในเมืองชั้นใน มีบริเวณเป็นสัดส่วน , มีบ่อบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น นอกจากนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการโรงแรมมีความมั่นใจและคุ้มค่าความเสี่ยงทางธุรกิจ สธ. กำหนดผู้เข้าพักต้องเป็นผู้ป่วยไม่รุนแรง ช่วยเหลือตนเองได้ และมีแพทย์และพยาบาลคอยดูแลผู้ป่วยตลอดเวลา และผู้ประกอบการไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องทำความสะอาดห้องพัก เนื่องจาก สธ.จะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ เป็นต้น และผู้ประกอบการจะมีรายได้ต่อวันไม่เกิน 1,000 บาท ไม่รวมอาหาร และมีการันตีขั้นต่ำระยะเวลา 4-5 เดือน และเมื่อเลิกโครงการแล้วกระทรวงสาธารณสุขจะทำความสะอาด-ฆ่าเชื้อให้

ด้านนางสาวศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ สธ.ประสานมายังสมาคมโรงแรมไทย เพื่อให้ช่วยประชาสัมพันธ์และประสานงานในฐานะตัวกลางกับโรงแรมต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ และให้สมาชิกตัดสินใจตามความเหมาะสม ปัจจุบันโครงการดังกล่าวก็ยังคงเปิดให้ผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมโครงการอยู่ นอกจากโครงการดังกล่าวแล้ว ขณะนี้สมาคมฯก็ยังมีโครงการหารายได้เสริมให้กับโรงแรมในช่วงเวลาวิกฤตอีกหนึ่งโครงการ

ซึ่งสมาคมฯร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ภายใต้ชื่อ “Amazing Distancing @ Hotel” โดยเปิดโอกาสให้โรงแรมที่สนใจสมัครเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเป็นที่พักทางเลือกให้กับผู้ที่ไม่สะดวกในการทำงานในที่พักหรือกลุ่มที่ต้องพบปะกับผู้คนจำนวนมาก แล้วไม่อยากเดินทางกลับไปบ้าน โดยตอนนี้ปิดรับสมัครแล้ว และเริ่มเปิดให้ประชาชนที่สนใจแจ้งความประสงค์เข้ามา มีเป้าหมายหลักคือกลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานบริษัทที่องค์กรมีนโยบายทำงานที่บ้าน กลุ่มที่ต้องการแยกตัวออกจากครอบครัว และกลุ่มที่ต้องการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในการทำงาน เป็นแพ็กเกจ 8 วัน 7 คืน รวมอาหาร 21 มื้อ มีให้เลือก 3 ราคา ได้แก่ 8,400 บาท, 11,900 บาท และ 17,500 บาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากโครงการกล่าวแล้ว ที่ผ่านมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำการดัดแปลงจากอาคารหอพักความสูง 14 ชั้น มาทำเป็นโรงพยาบาลสนาม เป็นโรงพยาบาลขนาด 308 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 และได้ทยอยรับผู้ป่วยเข้าพักแล้วตั้งแต่ช่วงวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา เช่นเดียวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้จัดตั้งโครงการ CU V Care เพื่อรองรับบุคลากรและนิสิตจุฬาฯที่ติดเชื้อ โควิด-19 ที่ได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้นจนสามารถกลับไปดูแลตัวเองได้ ด้วยการปรับปรุงอาคาจุฬานิเวศน์ และหอพักจำปา สำหรับผู้ที่เข้าข่ายการสืบค้นว่าติดเชื้อหรือไม่ โดยจะสามารถรองรับได้ประมาณที่ละ 50 เตียง