“บางกอกแอร์เวย์ส” แจ้งปิด 30 เส้นทางบินถึง 24 ต.ค. – เร่งเจรจาแบงก์เลื่อนชำระหนี้

file. Photo by Fabrizio Gandolfo/SOPA Images/LightRocket via Getty Images)

“บางกอกแอร์เวย์ส”แจ้งปิด 30 เส้นทางบินใน-ต่างประเทศจนถึง 24 ต.ค.63 เร่งหั่นค่าใช้จ่ายทุกทาง”ลดเงินเดือน-ยกเลิกสวัสดิการ”พนักงาน พร้อมเจรจาแบงก์ขอเลื่อนชำระหนี้

นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายงานการเงินและบัญชี บมจ.การบินกรุงเทพ(BA) ผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ ของนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 และยังเพิ่มความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับธุรกิจการบินทั่วโลก ทำให้บริษัทจำเป็นต้องออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อบริหารจัดการให้บริษัทฯสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. “ยกเลิก”เส้นทางบินระหว่างประเทศทั้งหมด 20 เส้นทางตั้งแต่ 29 มีนาคม ถึง 24 ตุลาคม 2563

2.”ยกเลิก”เส้นทางบินในประเทศ 10 เส้นทาง (จากทั้งหมด 17 เส้นทาง) ตั้งแต่เดือนเมษายน-ตุลาคม 2563 ได้แก่ กรุงเทพฯ-เชียงราย / กรุงเทพฯ-กระบี่ / เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน/ เชียงใหม่-ภูเก็ต / เชียงใหม่-กระบี่ / เชียงใหม่-สมุย / กระบี่-สมุย / ภูเก็ต-หาดใหญ่ / ภูเก็ต-อู่ตะเภา และ สมุย-อู่ตะเภา

3. เส้นทางบินภายในประเทศที่ยังทำการปฏิบัติการบิน จำนวน 7 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ / กรุงเทพฯ-ภูเก็ต / กรุงเทพฯ-ลำปาง / กรุงเทพฯ-ตราด / กรุงเทพฯ-สุโขทัย / กรุงเทพฯ-สมุย และสมุย-ภูเก็ต โดยทำการปรับลดจำนวนเที่ยวบินลง และปรับเปลี่ยนฝูงบินเป็นเครื่องบินแบบ ART เท่านั้น

สำหรับผลกระทบด้านรายได้ที่ลดต่ำลง บริษัทฯมีมาตรการปรับลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากการยกเลิกการปฏิบัติการบินชั่วคราวและปรับลดความถี่เที่ยวบิน ดังนี้

1) ปรับลดเงินเดือน และค่าตอบแทนสำหรับ ผู้บริหารและพนักงาน ในอัตราร้อยละ 10 ถึง ร้อยละ 50 ตามตำแหน่งงาน

2) การลาโดยไม่รับค่าจ้างของพนักงาน

3) ปรับลด/ยกเลิกสวัสดิการต่าง ๆ ของพนักงาน

4) ลดค่าใช้จ่ายด้านการปฏิบัติงาน ณ สถานีต่าง ๆ ทุกแห่ง โดยให้พนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ตามสถานีต่าง ๆ กลับมาประจำการที่สถานีกรุงเทพ

5) ปรับลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน อาทิเช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การโฆษณาประชาสัมพันธ์ และกิจกรรมอื่น ๆ รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

6) เจรจาขอลดค่าใช้จ่ายด้านการปฏิบัติการบินกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิเช่น ค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริการภาคพื้นดิน ค่าจดอากาศยาน ค่าจราจรทางอากาศ ค่าภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บจากค่าน้ำมันอากาศยาน เป็นต้น

7) ลดจำนวนเครื่องบินที่ใช้ในการปฏิบัติการ รวมทั้งการเจรจาต่อรองค่าเช่าเครื่องบินกับผู้ให้เช่า


8) ขอวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงิน และการเจรจาปรับเปลี่ยนตารางการชำระหนี้