ปิยะ ยอดมณี ซีอีโอใหม่ “นกแอร์” เปิดแผน “เทิร์นอะราวนด์”

จากกรณีที่การประชุมคณะกรรมการบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา ได้รับทราบการลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ “พาที สารสิน” และที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบแต่งตั้งให้ “ปิยะ ยอดมณี” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ให้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์ ตั้งแต่วันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมานั้น

ล่าสุด “ปิยะ ยอดมณี” ได้เปิดใจให้สัมภาษณ์หลังจากประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2560 ถึงแผนการเข้ามาสานต่อภารกิจ รวมถึงทิศทางการดำเนินงานของสายการบินนกแอร์นับจากนี้ เพื่อให้สายการบินนกแอร์เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยต่อไปไว้ดังนี้

“ปิยะ” บอกว่า ทิศทางการก้าวเดินของสายการบินนกแอร์นับจากนี้โดยหลักใหญ่แล้วจะเป็นเรื่องของการลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ และต้องมีดูว่าแผนหลักที่จะพลิกฟื้น (turn around) ให้สายการบินนกแอร์กลับมามีกำไรอีกครั้งได้ต้องทำอย่างไรบ้าง

ซึ่งแน่นอนว่า บริษัทต้องเข้าสู่ภาวะแผนฟื้นฟูธุรกิจ ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ปี คือ ตั้งแต่ปี 2560-2562 โดยในระยะแรกได้พยายามอุดรอยรั่ว เพื่อไม่ให้นกแอร์ขาดทุนไปมากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ระยะที่สอง จะเป็นช่วงของการสร้างความแข็งแรงให้กับสายการบิน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการวางแผนเชิงรุกต่อไป และระยะที่สาม ซึ่งเป็นเฟสสุดท้ายนั้นจะเป็นช่วงที่สายการบินแข็งแรงทั้งในด้านของรายได้และบุคลากร และพร้อมที่จะเดินแผนเชิงรุกต่อไป

ทั้งนี้ ในช่วงเริ่มต้นนี้คงต้องวิเคราะห์ถึงแผนการใช้เครื่องไม้เครื่องมือ และบุคลากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร ซึ่งก็คงต้องมีการปรับโครงสร้างองค์กร และวิธีการบริหารงานให้เกิดความชัดเจน และมีศักยภาพ เพื่อรองรับการแข่งขันที่ยังรุนแรงมากขึ้นในอนาคต

โดยแผนการลดค่าใช้จ่ายในเบื้องต้นนั้น “ปิยะ” บอกว่า นกแอร์มีแผนปลดระวางเครื่องบินเก่า จำนวน 7 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินโบอิ้ง B737-800 จำนวน 5 ลำ และเครื่องบินขนาดเล็ก ATR จำนวน 2 ลำ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาต่อรอง คาดว่าน่าจะปลดระวางได้สำเร็จทั้งหมดภายในปลายปีนี้หรือต้นปี 2561

“ปิยะ” แจกแจงอีกว่า หากสามารถทำการปลดระวางเครื่องบินเก่าได้สำเร็จทั้ง 7 ลำได้ครบก็จะทำให้ต้นทุนด้านการบำรุงรักษาลดลงได้จำนวนหนึ่ง ขณะเดียวกันก็มีเป้าหมายในการบริหารจัดการการใช้เครื่องบินให้มีประสิทธิภาพ หรือต้องมีอัตราการงานอยู่ที่ประมาณ 11 ชั่วโมงต่อวันต่อลำ จากที่ผ่านมาใช้งานอยู่ที่ประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวันต่อลำ

นอกจากนี้ “นกแอร์” ยังคงต้องมอนิเตอร์รายได้-กำไร สำหรับเส้นทางบินภายในประเทศด้วย ว่าเส้นทางบินไหนที่มีปัญหาบ้าง แล้วก็นำมาพัฒนาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากตลาดในประเทศยังคงเป็นตลาดหลักของนกแอร์

สำหรับเส้นทางบินระหว่างประเทศนั้น “ปิยะ” บอกว่า ปัจจุบันนกแอร์ให้บริการเส้นทางบินในรูปแบบเช่าเหมาลำ หรือ ชาร์เตอร์ไฟลต์อยู่ประมาณ 40 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ โดยใช้ฐานการบินที่สนามบินนานาชาติดอนเมือง, สนามบินนานาชาติภูเก็ต และสนามบินเชียงใหม่อาทิ ดอนเมือง-หยินฉวน, ดอนเมือง-หนานหนิง ดอนเมือง-หนานทง, ดอนเมือง-หลินยี่, ดอนเมือง-อี้ซาง, ดอนเมือง-เป่าโถว, ดอนเมือง-เหยียนเฉิง, ดอนเมือง-เจิ้งโจว, ภูเก็ต-เฉิงตู, ภูเก็ต-หนานหนิง, เชียงใหม่-หนานหนิง เป็นต้น

และตั้งแต่วันที่ 30 กันยายนนี้เป็นต้นไป “นกแอร์” ยังมีแผนเพิ่มรายได้ด้วยการเปิดเส้นทางบินใหม่จากสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาสู่ประเทศจีนอีก 5 เมือง ประกอบด้วย อู่ตะเภา-ไหโซ่ว, อู่ตะเภา-หยินฉวน, อู่ตะเภา-หนานซาง, อู่ตะเภา-ฉางชา และอู่ตะเภา-หลินยี่จากนั้น จะเปิดให้บริการเส้นทางบินประจำเพิ่มอีก 1 เส้นทางคือ ดอนเมือง (กรุงเทพฯ)-แม่สอด-ย่างกุ้ง ในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้

ขณะเดียวกัน “นกแอร์” ยังมีแผนระดมทุนเพิ่มอีกประมาณ 1,700 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้เสร็จเรียบร้อยภายในเดือนตุลาคมนี้ หากการระดมทุนเป็นไปตามแผนก็จะทำให้สายการบินแห่งนี้สามารถแก้ปัญหาได้เร็วยิ่งขึ้น


ซีอีโอใหม่ “นกแอร์” ยังย้ำด้วยว่า พันธมิตรใหม่ที่มีแผนจะเข้ามาร่วมตามที่เป็นข่าวไปก่อนหน้านี้อาจจะยังไม่มีความจำเป็นก็ได้ เพราะภารกิจหลักของนกแอร์ในเวลานี้คือ ต้องช่วยตัวเอง และทำให้ตัวเองกลับมาแข็งแรงขึ้นก่อน…