“ท่องเที่ยวไทย” ติดหล่มยาว ! ชี้เป็นภาวะ “วิกฤตซ้อนวิกฤต”

ความสาหัสที่ “อุตสาหกรรมท่องเที่ยว” กำลังประสบในวิกฤตการณ์โควิด-19 อาจจะเป็นภาพยืนยันว่าท่องเที่ยวไทยนั้นขาดสิ่งที่ควรมีไปหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรากฐานที่มั่นคง เครือข่ายที่เข้มแข็ง หรืออาจจะเป็นแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจนเป็นหลักให้ไม่ต้องซวนเซเหมือนเรือแตกทุกครั้งที่เกิดปัญหา

“ต้นทุนเดิม” อ่อนแอ

“อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลเด้น ดิสคัฟเวอรี่ เอ็กซ์เพรส จำกัด บอกว่าสถานการณ์ก่อนวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยตั้งแต่ระดับผู้ประกอบการไปจนถึงระดับแรงงานมีปัญหาสะสมค่อนข้างมากอยู่แล้ว เนื่องจากการแข่งขันที่พุ่งสูงจากการเปิดประเทศดึงดูดนักท่องเที่ยวของหลายประเทศทั่วโลก

โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากตลาดจีน ซึ่งคิดเป็นเกือบ 30% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทย ทำให้ผู้ประกอบการมีผลตอบแทนต่ำเป็นทุนเดิม เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบจึงรุนแรงเหมือนกับโอ่งที่มีน้ำอยู่น้อยนิดแตก และอาจจะทำให้มีผู้ประกอบการเหลืออยู่ไม่มากนักเมื่อสถานการณ์สิ้นสุด

โดยประเมินว่านักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในปี 2563 นี้จะหายไปไม่ต่ำกว่า 70% ของจำนวนนักท่องเที่ยวปกติ เพราะขณะนี้ไวรัสได้แพร่ระบาดไปในกลุ่มประเทศยุโรป ขณะที่ประเทศไทยยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าการแพร่ระบาดจะขยายวงออกไปแค่ไหน อาจถึงเดือนมิถุนายน และอาจเริ่มทำตลาดไทยเที่ยวไทยได้อีกครั้งช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ส่วนตลาดต่างประเทศอาจเริ่มได้ช่วงปลายปี

ชี้ (อาจ) ฟื้นเต็มที่ปี”65

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้จะสามารถกลับมาทำตลาดได้อีกครั้ง แต่ปีนี้จะเป็นปีที่เหนื่อยที่สุด หนักที่สุด รวมถึงยาวและยาก เมื่อจะต้องเผชิญวิกฤตซ้อนวิกฤตทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการแข่งขันแบบแทบจะไร้ผลตอบแทนดังนั้น จำเป็นที่จะต้องอาศัยระยะเวลายาวนานกว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจะสามารถฟื้นตัวขึ้นมาเต็มที่ ทั้งนี้ คาดว่าอาจจะต้องใช้ระยะเวลายาวไปจนถึงสิ้นสุดปี 2564 หรืออาจจะยาวข้ามไปจนถึงต้นปี 2565

“อดิษฐ์” บอกด้วยว่า หลังไวรัสโควิด-19หยุดแพร่ระบาด เทรนด์การเดินทางท่องเที่ยวจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอนจากพฤติกรรมและวิธีคิดของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป โดยความปลอดภัยและสุขอนามัยจะต้องมาก่อน การคัดกรองผู้โดยสาร การเว้นระยะทางสังคม การท่องเที่ยวกลุ่มเล็ก ฯลฯ จะเข้ามามีบทบาทสำคัญเช่นเดียวกับการฟื้นตัวของสายการบินที่จะค่อย ๆ ขยับอย่างช้า ๆ

ปิดชั่วคราวรอตลาดฟื้น

สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันนั้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยแทบไม่มีนักท่องเที่ยวเหลืออยู่แล้วในทุกเซ็กเมนต์ นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ที่ยังอยู่ในประเทศไทยตอนนี้ คือ นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาก่อนจะเกิดวิกฤตและยินดีจะอยู่ในประเทศไทยมากกว่าเดินทางกลับประเทศต้นทางของตนเอง สำหรับตลาดในประเทศก็ไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางแล้วเช่นเดียวกัน

“จะก้าวข้ามวิกฤตขณะนี้ได้ สิ่งแรกที่จะต้องทำคือ การลดรายจ่ายของผู้ประกอบการท่องเที่ยวลงผ่านการปิดกิจการชั่วคราว และขอให้พนักงานหยุดโดยรับค่าจ้างไม่เต็มจำนวน ก่อนจะเริ่มประเมินสถานการณ์ว่าจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อที่จะอดทนผ่านช่วงจำศีลไปให้ได้ รวมถึงเตรียมความพร้อมที่จะทำตลาดหลังวิกฤต”

“อดิษฐ์” ยังคาดการณ์ด้วยว่า ตลาดแรกที่จะเปิดให้ทำได้ก่อนคือ “ไทยเที่ยวไทย” โดยกลุ่มที่จะมีศักยภาพที่จะเดินทางช่วงแรกคือ ชนชั้นกลางกับชนชั้นบน ซึ่งต้องการท่องเที่ยวที่เป็นส่วนตัวในกลุ่มเล็ก ๆ เดินทางไม่ไกล สะดวกและบริการคุณภาพ

นอกจากนั้น อีกสิ่งที่สำคัญและสามารถใช้เวลาในช่วงนี้ทำได้เลยในทันที คือ การพัฒนามาตรฐานอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยให้ชัดเจนและเป็นที่รู้จัก วัดผลได้จริง พร้อมนำเสนอสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวใหม่ ๆ เพื่อเตรียมเสนอให้กับนักท่องเที่ยว

ปรับตัวสู่ “ดิจิทัล-ปิดจุดเสี่ยง”

ไม่เพียงเท่านี้ คนท่องเที่ยวรุ่นใหม่จะต้องทำธุรกิจแบบสมาร์ทแอนด์สมอล กล่าวคือ ฉลาดและคล่องตัว ลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น ปรับธุรกิจให้ยืดหยุ่นสอดคล้องกับสถานการณ์ รวมถึงเริ่มบริหารงานแบบดิจิทัล ซึ่งอาจจะนับช่วงเวลานี้ที่สภาพสังคมบังคับให้ปรับเข้าสู่การทำงานผ่านออนไลน์ เป็นจุดเริ่มต้นโอกาสที่จะปรับตัวจากในอดีตที่ผู้ประกอบการ

ท่องเที่ยวส่วนใหญ่ขาดความก้าวหน้าทางดิจิทัลและเทคโนโลยี

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการท่องเที่ยวก็จำเป็นที่จะต้องหันมาให้ความสำคัญกับ “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” มากขึ้นผ่านการกำหนดกรอบมาตรการและวางแผนในการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จากในอดีตที่รายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 85% กระจุกตัวอยู่ใน 7 เมืองท่องเที่ยวหลักจะต้องกระจายรายได้และพื้นที่ออกไปให้มากยิ่งขึ้นรวมถึงการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ให้คงเดิม รวมถึงให้ความสำคัญกับการอัพสกิลและรีสกิลของบุคลากรให้มากขึ้น เช่นเดียวกันกับการบริหารความเสี่ยงและสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง แก้ไขจุดบอดที่ประสบในครั้งนี้จากการขาดแหล่งเงินทุนและไม่สามารถเข้าถึงนโยบายของรัฐบาล โดยอาจหันกลับมาพูดคุยเกี่ยวกับ “ภาษีท่องเที่ยว” (tourism taxes)

สมมติว่าเราเก็บเงินส่วนนี้จากนักท่องเที่ยวคนละ 100 บาท เพื่อสร้างกองทุนขึ้นมาจัดการกับความเสี่ยงในภาวะวิกฤตต่อปีก็จะมีรายได้ถึง 4,000 ล้านบาทแล้ว