พัทยา-บางแสน-ศรีราชา สูญรายได้แล้วกว่า 1 แสนล้าน

เมืองพัทยา ชลบุรี เมืองท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมติดอันดับท็อป 3 ของประเทศมาโดยตลอด เนื่องจากใกล้กรุงเทพฯ เดินทางสะดวก และที่สำคัญหลังจากประเทศไทยเปิดให้บริการสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา (ระยอง) ยิ่งหนุนให้เมืองพัทยาได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นในกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วโลก

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “ธเนศ ศุภรสหัสรังสี” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดชลบุรี, ที่ปรึกษาสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก และในฐานะเจ้าของกิจการกลุ่มโรงแรมและรีสอร์ตเครือซันไชน์ ในพื้นที่เมืองพัทยา นาจอมเทียน และสัตหีบ ถึงแนวทางการดูแลภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองพัทยา บางแสน ศรีราชา ซึ่งเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวหลัก ไว้ดังนี้

“ธเนศ” บอกว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวของพื้นที่ในหลายจังหวัดในภาคตะวันออกขณะนี้หยุดหมดแล้วบางจังหวัดผู้ว่าราชการจังหวัดออกประกาศปิดให้บริการโรงแรมไปเรียบร้อยตั้งแต่เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา อาทิ จันทบุรี, ชลบุรี ซึ่งก็เป็นตามที่ภาคเอกชนเรียกร้องขอให้ทางจังหวัดสั่งปิดการให้บริการ เนื่องจากทุกพื้นที่ไม่มีตัวเลขนักท่องเที่ยวเข้ามาอยู่แล้ว อีกทั้งยังเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนผู้ประกอบการในด้านแรงงานได้ในระดับหนึ่งด้วย

โดยตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นที่ภาคการท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบจากการเริ่มต้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ประเทศจีน ส่งผลให้รัฐบาลจีนสั่งปิดประเทศ นักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ของพื้นที่เมืองพัทยาหยุดการเดินทางทันที ผู้ประกอบการทั้งบริษัทนำเที่ยว, รถรับจ้าง, สถานที่ท่องเที่ยว, โรงแรม ฯลฯ ที่เกี่ยวเนื่องกับภาคท่องเที่ยวได้รับผลกระทบทันทีเช่นกัน และต้องแบกรับต้นทุนการดำเนินงานอย่างหนักตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา

“ตอนนี้ทางจังหวัดสั่งปิดโรงแรมแล้ว ผู้ประกอบการโรงแรมก็เบาใจไปนิดหนึ่ง เพราะพนักงานของโรงแรมสามารถไปรับค่าชดเชยรายได้จากสำนักงานประกันสังคมได้ตามกฎหมาย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น ขณะนี้คือ ความไม่ชัดเจนว่าแล้วแรงงานในเซ็กเตอร์ท่องเที่ยวอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัททัวร์, รถขนส่ง, ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก ฯลฯ สามารถไปลงทะเบียนขอเงินชดเชยรายได้จากประกันสังคมได้หรือไม่ อย่างไร”

“ธเนศ” อธิบายว่า ประเด็นปัญหาคือ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เปลี่ยนคำนิยามของคำว่า “เหตุสุดวิสัย” ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมว่าให้หมายความรวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโรคร้ายแรงด้วย ซึ่งหากอ่านและตีความตามรายละเอียดนี้ คนทั่วไปจะเข้าใจว่าไม่ว่าธุรกิจอะไรก็แล้วแต่ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แรงงานที่ตกงานน่าจะเข้าข่ายได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคมทั้งหมด

แต่ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานตีความคำว่า “เหตุสุดวิสัย” เป็น 2 กรณี คือ 1.มีคนติดเชื้อในสถานการณ์ประกอบการและ 2.กรณีร้านแรงจริงรัฐต้องพิจารณาสั่งปิด เมื่อธุรกิจท่องเที่ยวเจอการตีความลักษณะนี้ทำให้ผู้ประกอบการทุกเซ็กเตอร์ลำบากอย่างมาก เพราะหลาย ๆ กิจการมีความจำเป็นต้องปิดกิจการชั่วคราวไปแล้ว เนื่องจากนักท่องเที่ยวหยุดการเดินทางมาตั้งนานแล้ว ไม่ได้สั่งปิดก็เหมือนจำเป็นต้องปิดโดยปริยาย

“ที่ผ่านมาทางสมาคมโรงแรมได้เคลื่อนไหวด้วยการทำหนังสือขอให้ทางผู้ว่าฯแต่ละจังหวัดประกาศปิดโรงแรม ซึ่งชลบุรีเป็นหนึ่งในหลาย ๆ จังหวัดที่ถูกสั่งปิดแล้ว ตอนนี้กว่า 90% ปิดแล้วเหลือเพียงประมาณ 10 โรงแรมที่ยังแจ้งความจำนงเปิดให้บริการตามปกติ เนื่องจากยังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลืออยู่ในพื้นที่ราว 1,000 คน ซึ่งโรงแรมไหนที่พอมีแขกอยู่ 3-5 ห้องแล้วต้องการปิดก็จะส่งแขกต่อไปให้โรงแรมที่เปิดต่อ ซึ่งส่วนที่เปิดอยู่สามารถรองรับได้ทั้งหมด”

อย่างไรก็ตาม สำหรับภาคธุรกิจท่องเที่ยวเซ็กเตอร์อื่น ๆ นั้น “ธเนศ” มองว่าน่าจะค่อยทยอยตามมา เนื่องจากทางสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อขอให้รัฐช่วยประกาศสั่งปิดธุรกิจท่องเที่ยวทั้งหมดเป็นการชั่วคราวไปแล้ว

ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดชลบุรี และในฐานะที่ปรึกษาสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก ยังได้ประเมินถึงผลกระทบทั้งในด้านรายได้จากภาคการท่องเที่ยวและแรงงานที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ด้วยว่า เฉพาะในพื้นที่เมืองพัทยา ซึ่งเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวหลักของชลบุรีมีจำนวนโรงแรมที่เปิดให้บริการอยู่ทั้งหมดราว 2 แสนห้องพักมีจำนวนพนักงานรวมประมาณ 1 แสนคนหรือหากรวมพื้นที่บางแสนและศรีราชา น่าจะประมาณ 1.5-1.6 แสนคน

และหากรวมแรงงานในเซ็กเตอร์อื่น ๆ ด้วยน่าจะไม่ต่ำกว่า 2 แสนคน จากแรงงานภาคท่องเที่ยวทั้งหมดทั่วประเทศราว 4.3 ล้านคน

ต่อคำถามที่ว่าถึง ณ ขณะนี้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่ชลบุรีสูญเสียรายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวไปแล้วมากน้อยเพียงใด “ธเนศ” บอกว่า ปกติพื้นที่เมืองพัทยา, บางแสน และศรีราชานั้น ฤดูการท่องเที่ยวหลักมีระยะเวลา 5 เดือน คือ ช่วงเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูการท่องเที่ยวของชาวยุโรป, รัสเซีย โดยในช่วง 5 เดือนดังกล่าวนี้จะมีศักยภาพในการสร้างรายได้คิดเป็น 2 เท่าของอีก 7 เดือนที่เหลือของปี หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 70% ของรายได้รวมทั้งปี

โดยในปีที่ผ่านมาชลบุรีมีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 10 ล้านคน มีอัตราการใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 5,000 บาทต่อคนต่อวันโดยมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยที่ราว 5 วัน หรือมีรายได้รวมทั้งปีที่ราว 2.5 แสนล้านบาท

หากคำนวณจากในช่วงไฮซีซั่น 5 เดือนทำรายได้ประมาณ 70% จะคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 1.75 แสนล้านบาทหรือเฉลี่ยประมาณเดือนละ 3.5 หมื่นล้านบาท สำหรับปีนี้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวทำรายได้ได้เพียงแค่มกราคมเพียงเดือนเดียว

นั่นหมายความว่า เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม และเมษายน รวม 3 เดือนนี้ แค่ชลบุรีจังหวัดเดียวภาคธุรกิจท่องเที่ยวสูญเสียรายได้ไปแล้วราว 1.05 แสนล้านบาท