หวั่นธุรกิจทยอยปิด “ถาวร”

“วิชิต ประกอบโกศล” นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) บอกว่าปัจจุบันสถานะของผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั้งอุตสาหกรรมปิดกิจการชั่วคราวเกือบทั้งหมดแล้ว ขณะที่ผู้ประกอบการยังคงแบกรับภาระค่าใช้จ่าย ค่าจ้างแรงงานทั้งหมดมาเป็นเวลา 2-3 เดือนแล้ว ทั้งนี้ มองว่าหากในอีก 2 เดือนข้างหน้าภาครัฐยังคงไม่มีมาตรการช่วยเหลืออาจมีผู้ประกอบการจำนวนมากที่จำเป็นต้องปิดกิจการถาวร และมีการเลิกจ้างงานจำนวนมากเกิดขึ้น

“รัฐบาลออกโครงการเราไม่ทิ้งกัน เราก็ไม่อยากให้รัฐบาลทิ้งกัน และช่วยออกมาตรการเยียวยาในสัปดาห์หน้า เพื่อที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั้งหมดยังสามารถรักษาธุรกิจเอาไว้จนกว่าสถานการณ์จะกลับมาเปิดให้บริการตามปกติได้ และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศได้อีกครั้ง”

“วิชิต” ยังบอกด้วยว่า จากการเก็บข้อมูลขณะนี้พบว่า จำนวนแรงงานเฉพาะในกลุ่มสาขาธุรกิจบริษัททัวร์อินบาวนด์ (ขาเข้า), ทัวร์เอาต์บาวนด์ (ขาออก) และทัวร์ภายในประเทศ มีจำนวนกว่า 3 แสนคน จากจำนวนบริษัททัวร์ที่จดทะเบียนกว่า 15,000 บริษัทหากรัฐพิจารณาช่วยเหลือและจ่ายชดเชยให้กรณีว่างงานต่อคนที่ประมาณ 9 พันบาท ก็น่าจะใช้งบประมาณราว 2,700 ล้านบาทต่อเดือนเท่านั้น

ส่วนมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่ได้ออกมาก่อนหน้านี้นั้น ขณะนี้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวยังไม่สามารถเข้าถึงได้ จึงอยากจะให้สถาบันการเงินผ่อนปรนกฎระเบียบให้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้รายย่อยสามารถเข้าถึงเงินกู้ได้จริง ๆ

อย่างไรก็ตาม ตามที่รัฐบาลได้ประกาศมาตรการเยียวยาเพิ่มเติม พร้อมทั้งมีมติเห็นชอบให้ 2 วิชาชีพ ในสาขาอาชีพการท่องเที่ยว คือ มัคคุเทศก์และโรงแรม เข้าเกณฑ์ปิดกิจการด้วยเหตุสุดวิสัย และสามารถรับเงินชดเชยตามเกณฑ์ที่ประกันสังคมกำหนดไปแล้วนั้น ปัจจุบันยังมีผู้ประกอบการท่องเที่ยวอีก 11 สาขาวิชาชีพท่องเที่ยว อาทิ ธุรกิจนำเที่ยว, รถขนส่ง, ร้านอาหาร ฯลฯ ยังไม่ถูกนับเข้าเกณฑ์ดังกล่าวนี้

ขณะที่กลุ่มธุรกิจทุกเซ็กเตอร์ในภาคท่องเที่ยวนั้นได้รับผลกระทบมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนมาถึงการแพร่ระบาดทั่วโลกขณะนี้ เช่นเดียวกับทั้งมัคคุเทศก์และโรงแรม ดังนั้นนอกจากเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแล้ว จึงอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวโดยการประกาศให้อีก 11 วิชาชีพที่เหลือ ถูกนับเข้าเกณฑ์การปิดกิจการด้วยเหตุสุดวิสัย เพื่อรับเงินชดเชยรายได้ให้พนักงานลูกจ้างด้วยเช่นกัน