ทั่วโลกทุ่มเยียวยา “ท่องเที่ยว” เร่งอัดฉีดสภาพคล่อง-อุ้มแรงงาน

โควิดเอฟเฟ็กซ์รอบนี้ส่งผลให้ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวโลกทั้งหมดถูก “ชัตดาวน์” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการและบุคลากรด้านการท่องเที่ยวต้องเผชิญกับภาวะความยากลำบากทั่วโลกเช่นกัน

จากรายงานของสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (World Travel and Tourism Council-WTTC) พบว่า นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยาภาคการท่องเที่ยวจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในครั้งนี้ว่า หลายประเทศทั่วโลกมีมาตรการเยียวยาและช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่น และน่าสนใจ เนื่องจากมาตรการเยียวยาดังกล่าวครอบคลุมตั้งแต่การดูแลแรงงาน การสนับสนุนด้านการเงิน และการอัดฉีดสภาพคล่องและกระแสเงินสด

โดยชาติแรกที่ WTTC ระบุว่า มีมาตรการและนโยบายที่น่าสนใจ คือ “อิตาลี” ที่รัฐบาลได้ออกแพ็กเกจภายใต้ชื่อ อิตาลี เคียว (Italy Cure) ครอบคลุมดูแลพนักงานลูกจ้างจากทุกภาคส่วน รวมถึงภาคการท่องเที่ยว โดยรัฐจะจ่ายเงินเดือน 80% ให้กับลูกจ้างประจำ และจ่ายเงินกว่า 600 ยูโร (หรือประมาณ 20,000 บาท) เพื่อเยียวยาเจ้าของกิจการ หรือลูกจ้างอิสระ รวมถึงระงับการผ่อนชำระหนี้ให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด

นอกจากนั้น ยังได้จัดตั้งกองทุนอีกกองทุนด้วยเม็ดเงิน 500 ล้านยูโร (ประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท) เพื่อรับมือกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการบินของประเทศ รวมถึงสายการบินอาลีตาเลีย ซึ่งเป็นสายการบินประจำชาติรวมถึงมีนโยบายเพิ่มระยะเวลาการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร ขยายออกไปถึง 15 วัน พร้อมมอบวันลาเพิ่มเป็น 12 วันต่อเดือน สำหรับคนที่รับหน้าที่ดูแลผู้พิการอีกด้วย

ขณะที่ “สหราชอาณาจักร” ได้จัดทำมาตรการชั่วคราวกำหนดเป้าหมายเพื่อสนับสนุนบริการสาธารณะ แรงงาน และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มูลค่าถึง 3.3 ล้านล้านปอนด์ (ประมาณ 135 ล้านล้านบาท) ครอบคลุมธุรกิจค้าปลีก โรงแรม การพักผ่อนหย่อนใจ ธุรกิจขนาดเล็กต่าง ๆ พร้อมทั้งจัดทำโครงการสินเชื่อเสนอเงินกู้สูงสุด 5 ล้านปอนด์ สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และค้ำประกัน 80% ของสินเชื่อ ไม่มีดอกเบี้ยยาวนาน 12 เดือน รวมถึงงดภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับธุรกิจทั้งหมด นอกจากนั้น รัฐจะเป็นผู้จ่ายค่าจ้างกว่า 80% ให้กับพนักงานลูกจ้างเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน

เช่นเดียวกันกับ “ฝรั่งเศส” ที่จัดตั้งกองทุน Solidarity Fund มูลค่า 2 พันล้านยูโร (ประมาณ 7.1 หมื่นล้านบาท) ครอบคลุมการเยียวยาธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจจัดเลี้ยงธุรกิจการค้าที่ไม่ใช่อาหาร ฯลฯ ที่สูญเสียรายได้มากกว่า 70% จากวิกฤตโควิด-19 โดยรัฐได้แบ่งเงินออกเป็นสำหรับแหล่งเงินทุนให้กับธุรกิจท่องเที่ยวเอสเอ็มอี และสำหรับจ่ายเงินเดือน 70% ของลูกจ้าง หรือจ่าย 100% ให้กับผู้ที่รับค่าแรงขั้นต่ำ พร้อมจ่ายชดเชยการว่างงาน 6,927 ยูโร (ประมาณ 200,000 บาท) ต่อเดือน หรือ 4.5 เท่าของค่าแรงขั้นต่ำ

ด้าน “สเปน” รัฐบาลได้กำหนดวงเงิน400 ล้านยูโร (ประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท)พร้อมการรับประกันจาก ICO (สถาบันสินเชื่อทางการของสเปน) ให้กับธุรกิจที่อิสระและธุรกิจการท่องเที่ยวที่ต้องการกู้เงินเพื่อรักษาสภาพคล่องด้วยวงเงิน 500,000 ยูโร ครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจการขนส่ง แท็กซี่ โรงแรม ร้านอาหาร รถเช่า บริษัททัวร์ พิพิธภัณฑ์ และอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน โดยกำหนดให้ผ่อนชำระยาวนาน 4 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ (สูงสุด 1.5%) รวมถึงประกาศแพ็กเกจ 200,000 ล้านยูโร เพื่อช่วยเหลือและคุ้มครองแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต ซึ่งหมายรวมถึงการชะลอการปลดพนักงานชั่วคราวด้วย

ส่วน “โปรตุเกส” จัดตั้งโครงการกว่า 30 โครงการ เพื่อคุ้มครองคนงานและครอบครัว รวมถึงบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ มาตรการที่สำคัญประกอบไปด้วยวงเงินสินเชื่อสำหรับธุรกิจใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อม รวมถึงการสนับสนุน 2 ใน 3 ของค่าตอบแทน พร้อมโยกภาระประกันสังคมออกจากลูกจ้าง และมอบงบฯฝึกอบรมในสถาบันการจ้างงานและการฝึกอบรมอาชีพ นอกจากนั้นยังขยายกำหนดเวลาการชำระภาษีและภาระผูกพันอื่น ๆ

สำหรับ “เยอรมนี” ได้ช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการผ่านการขยายวงเงินสินเชื่อเป็น 550 พันล้านยูโร พร้อมทั้งรับปากจะผ่อนปรนหลักเกณฑ์การเข้าถึงสินเชื่อและระงับการฟ้องล้มละลายเฉียบพลันไปจนถึงเดือนกันยายน ให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ

ในขณะที่ประเทศจากแถบโอเชียเนียอย่าง “ออสเตรเลีย” ได้รวมธุรกิจท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส และมีส่วนในวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเกือบ 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะแบ่งสัดส่วน 613 ล้านเหรียญสหรัฐ ไว้สำหรับภาคส่วนท่องเที่ยวอย่างแน่นอนนอกจากนั้น รัฐบาลยังงดเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ สำหรับธุรกิจท่องเที่ยวในอุทยานทางทะเล Great Barrier Reef และอุทยานแห่งชาติ Commonwealth รวมถึงจัดแพ็กเกจแหล่งเงินทุนโดยการขยายวงเงินและผ่อนปรนหลักเกณฑ์การเข้าถึงธุรกิจกว่า 99% หรือ 3.5 ล้านรายและพนักงานลูกจ้างมากกว่า 9.7 ล้านคน

หรือ “ฮ่องกง” รัฐบาลได้จัดตั้งโครงการมอบเงินช่วยเหลือเอเย่นต์ท่องเที่ยวกว่า 1,350 ราย เพื่อช่วยรับมือกับปัญหาทางการเงินที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยมอบเงิน 80,000 เหรียญฮ่องกง (ประมาณ 330,000 บาท) ต่อเอเย่นต์ ซึ่งขณะนี้กว่า 98% ของเอเย่นต์ในฮ่องกง ได้ลงทะเบียนเพื่อรับการเยียวยาแล้ว