2 บิ๊กแอร์ไลน์ “ไทยแอร์เอเชีย-ไทยไลอ้อนแอร์” ยันพร้อมเปิดบิน 1 พ.ค.นี้!

2 บิ๊กแอร์ไลน์ “ไทยแอร์เอเชีย-ไทยไลอ้อนแอร์” ยันพร้อมกลับมาให้บริการตามปกติ 1 พฤษภาคมนี้ กพท.เรียกประชุม 20 สายการบินแจงยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย ย้ำบังคับใส่หน้ากาก-ขายที่นั่งเว้นที่นั่ง รับเทรนด์ Social Distancing ชี้ราคาตั๋วโดยสารมีโอกาสอัพเพิ่มทะลุ 100% “นกแอร์” คาดราคาตั๋วโดยสารกลับมาอยู่บนฐานต้นทุนจริง หวังอุตฯ การบินยุติสงครามราคา

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ให้บริการสายการบินบางส่วนแจ้งว่าพร้อมกลับมาให้บริการตามปกติอีกครั้งในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้คือสายการบินไทยแอร์เอเชีย, ไทยไลอ้อนแอร์ โดยวันนี้ (23 เมษายน 2563) ทาง กพท.ได้เรียกตัวแทนสายการบินต่างๆ ที่ให้บริการในประเทศไทย จำนวน 20 สายการบิน เพื่อแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการกลับมาเปิดให้บริการบินเส้นทางในประเทศ ทั้งนี้เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนและลดความเสี่ยงจากการเดินทางไกลด้วยรถโดยสาร

โดย กพท.ได้เน้นย้ำข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการทางด้านสาธารณสุขที่จะต้องมีเพิ่มเติมจากมาตรการที่มีอยู่ปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องที่สายการบินจะต้องขายตั๋วโดยสารแบบที่นั่งเว้นที่นั่งตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ยกเว้นเครื่องบินขนาดเล็กที่จะจำกัดอัตราบรรทุกผู้โดยสารไม่เกิน 70% พร้อมกันกับการเริ่มกระบวนการทางสาธารณสุขอย่างเข้มงวดนับตั้งแต่การต่อคิวเพื่อรับตั๋วโดยสารไปจนถึงการขึ้นสะพานเทียบเครื่องบิน หรือระยะห่างบนรถบัสโดยสารสำหรับขึ้นเครื่อง เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ผู้โดยสารทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาการเดินทาง รวมถึงระหว่างอยู่บนเครื่องบิน หากผู้โดยสารไม่สวมหน้ากากอนามัยจะไม่อนุญาตให้เดินทาง และจะไม่มีการบริการอาหารและเครื่องดื่มบนเครื่องบิน อย่างไรก็ตามหากผู้โดยสารมีความจำเป็นจริงๆ จะต้องแจ้งลูกเรือเท่านั้น นอกจากนั้น ในเส้นทางบินที่ใช้เวลาทำการบินเกินกว่า 20 นาที สายการบินต้องกันที่นั่ง 2 แถวสุดท้ายไว้สำหรับการกักตัวผู้โดยสารที่มีอาการป่วยกะทันหันด้วย

นายจุฬากล่าวด้วยว่า อีกประเด็นที่ต้องมีการพุดคุยกับผู้ให้บริการสายการบินให้ชัดเจนคือ การกำหนดราคาตั๋วโดยสารของสายการบิน โดยเพดานราคาโดยสารจะเป็นอัตราเดิม แต่ราคาตั๋วโดยสารคงมีการปรับเพิ่มขึ้นแน่นอน เนื่องจากสายการบินมีข้อจำกัดเรื่องอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร ซึ่งมีความเป็นไหปได้สูงกว่าราคาตั๋วโดยสารบางเส้นทางอาจจะเพิ่มขึ้นถึง 100% กล่าวคือ ในกรณีที่ตั๋วโดยสารอยู่ในอัตราไม่ถึง 1,000 บาทต่อเที่ยว อาจเพิ่มเป็น 2,000 บาทต่อเที่ยว เป็นต้น

“ทั้งนี้ทั้งนั้นคิดว่าคงต้องพิจารณาด้วยว่าราคาตั๋วโดยสารที่เพิ่มขึ้นนั้นสอดคล้องกับดีมานด์ของผู้โดยสารหรือไม่ หากขึ้นราคาตั๋วแต่ไม่มีผู้โดยสารก็ไม่มีประโยชน์ ซึ่งแต่ละสายการบินก็อาจจะพิจารณาโปรโมชั่นราคาตั๋วโดยสารของตนเองอยู่แล้ว” นายจุฬากล่าว และว่า จากผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมานั้นเชื่อว่าทุกสายการบินจะยังพยายามกลับมาเปิดให้บริการตามปกติอีกครั้ง เพื่อเร่งหารายได้มาแสดงกับธนาคารที่ขอกู้สินเชื่อมาเพื่อใช้หมุนเวียนใช้จ่าย ที่สำคัญมองว่าหลังจากนี้ทุกสายการบินน่าจะต้องปรับแผนธุรกิจใหม่กันทั้งหมด

ด้านนางนันทพร โกมลสิทธิ์เวช ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ กล่าวว่า สำหรับสายการบินไทยไลอ้อนแอร์นั้น ในช่วงแรกนี้จะเปิดให้บริการเส้นทางบินภายในประเทศจำนวน 6 เส้นทางไปยังเมืองหลักๆ อาทิ เชียงใหม่, หาดใหญ่, สุราษฎธานี เป็นต้น โดยแม้มาตรการขายที่นั่งเว้นที่นั่งจะส่งผลต่อความเสี่ยงที่จะไม่คุ้มทุน แต่คาดว่าจะสามารถขายตั๋วโดยสารได้ในราคาที่สูงกว่าที่ผ่านมา

“ปกติอัตราการบรรทุกที่คุ้มทุนจะอยู่ประมาณ 60% และการจัดที่นั่งโดยสารแบบที่นั่งเว้นที่นั่งก็น่าจะสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ราว 60% เช่นเดียวกัน ดังนั้น เมื่อรวมเข้ากับราคาตั๋วโดยสารที่เพิ่มขึ้น จึงมีโอกาสที่สายการบินจะสามารถไปถึงจุดคุ้มทุนเมื่อเปิดให้บริการตามปกติบางเส้นทางบิน” นางนันทพรกล่าว

ขณะที่นายรัช ตันตนันตา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้สายการบินนกแอร์ยังไม่ได้พิจารณาจุดคุ้มทุนใหม่หลังการกำหนดให้ขายตั๋วโดยสารแบบที่นั่งเว้นที่นั่ง แต่คาดว่าราคาตั๋วโดยสารคงไม่ต่ำเท่ากับในอดีตที่มีการแข่งขันด้านราคากันสูงมากแน่นอน และเชื่อว่าราคาขายตั๋วโดยสารนับจากนี้เป็นต้นไปจะเป็นราคาตามต้นทุนจริงๆ ซึ่งต่างกับที่ผ่านๆ มาที่การเปิดเสรีส่งผลกระทบให้ต่อการแข่งขันทางด้านราคาอย่างมาก


“ที่ผ่านมาตั๋วโดยสารของสายการบินต้นทุนต่ำในประเทศไทยถูกกว่าสายการบินต้นทุนต่ำในยุโรปมาก หรือเรียกได้ว่ามีราคาแค่ 1 ใน 3 ของสายการบินต้นทุนต่ำในยุโรปเท่านั้น ทำให้หลังจากนี้เมื่อไม่สามารถแข่งขันกันด้วยปัจจัยทางด้านราคาได้แล้วเชื่อว่าอุตสาหกรรมการบินก็จะเปลี่ยนไปด้วย” นายรัชกล่าว