แนะไทยหนุน “เวลเนสทัวริซึ่ม” เร่งชูจุดแข็ง”สาธารณสุข”ฝ่าวิกฤตโควิด

แม้ว่าการท่องเที่ยวของไทยจะเผชิญวิกฤตโควิดเช่นเดียวกับทั่วโลกแต่ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯยังเชื่อมั่นว่าท่องเที่ยวไทยยังมีศักยภาพ โดยเฉพาะด้านเวลเนสทัวริซึ่ม

“กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” อดีต รมว.การท่องเที่ยวฯ ยันแม้ต้องเผชิญวิกฤตโควิด-19 แต่ท่องเที่ยวไทยยังมีโอกาสสูง แนะตอกย้ำจุดแข็งด้านสาธารณสุข ความปลอดภัย หนุนกระแสอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ-การแพทย์ ชี้ประเทศไทยมีความพร้อมสำหรับเป็นศูนย์กลางด้านเวลเนสโลก ขณะที่ผู้ประกอบการควรคิดใหม่-ทำใหม่ เลิกแข่งขันด้านราคา

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (สมัยรัฐบาลประยุทธ์ 1) เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย แต่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วทั้งโลก ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มีขนาดใหญ่มากอย่างฝรั่งเศส สเปน หรือสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ประเภทที่ไม่สามารถคาดเดาและเตรียมการรับมือล่วงหน้าได้

อย่างไรก็ตาม แม้ความรุนแรงของโควิด-19 จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและรุนแรง ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถบอกได้ว่านอกจากวิกฤตที่เกิดขึ้นแล้ว ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 ก็อาจสร้างโอกาสใหม่ ๆ บางประการให้กับคนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมถึงก่อให้เกิดการเรียนรู้เป็นบทเรียนและนำไปสู่การปรับตัวเพื่อหลังวิกฤตด้วย

ทั้งนี้ มองว่าหลังวิกฤตครั้งนี้จะเป็นเวลาที่ดีที่ภาคการท่องเที่ยวของไทยจะขยับเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวคุณภาพและเปลี่ยนสัดส่วนนักท่องเที่ยวใหม่ โดยเน้นให้ความสำคัญกับการดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีการจับจ่ายใช้สอยสูงเข้ามาภายในประเทศไทยมากขึ้น ผ่านการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวว่าหลังวิกฤตผ่านพ้นประเทศไทยจะพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ทันที เน้นทำตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มไทยเที่ยวไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อถ่วงดุลตลาดและเพิ่มความหลากหลายของนักท่องเที่ยว

“เชื่อว่าหลังจากผ่านพ้นวิกฤตการณ์โควิด-19 ครั้งนี้ไปได้ พฤติกรรมทางด้านสาธารณสุขของผู้คนทั่วโลกจะเปลี่ยนแปลงไป โดยจะหันมาเริ่มใส่ใจการดูแลสุขภาพกายและใจให้แข็งแรงอยู่ตลอดเวลามากขึ้น ดังนั้น ประเทศไทยจะมีโอกาสในการพลิกวิกฤตมาเป็นโอกาสจากการตอกย้ำจุดแข็งทางด้านสาธารณสุข ผ่านการแสดงให้ประชาคมโลกเห็นถึงประสิทธิภาพในการจัดการกับวิกฤตสุขภาพได้อย่างดีและเป็นระบบ” นางกอบกาญจน์กล่าว

และว่าประสิทธิผลของการจัดการด้านสาธารณสุขไทยจะแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งทางด้านการแพทย์และส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ (health and medical tourism) ที่ไทยมีชื่อเสียงโด่งดังอยู่แล้วในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนั้น เวชศาสตร์ป้องกันประเภทต่าง ๆ (preventive medicine) จะยิ่งได้รับความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆเช่นเดียวกันกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (health and wellnesstourism) ที่มีความสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับการสร้างความเป็นอยู่ที่ดี

“ที่ผ่านมาในไทยมีความพร้อมมากอยู่แล้วสำหรับตลาดนี้ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ดูแลสุขภาพประเภทต่าง ๆ รวมไปถึงโรงแรมที่พักที่ประกอบการร่วมกับศูนย์เพื่อความเป็นอยู่ที่ดี หรือ wellness center ที่มีกระจายอยู่ในเมืองท่องเที่ยวต่าง ๆ ของไทย รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวกับข้องกับการดูแลสุขภาพอย่างสมุนไพร ผลิตภัณฑ์สำหรับนวดหรือผ่อนคลาย” นางกอบกาญจน์กล่าว

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กล่าวต่อไปอีกว่า หลังวิกฤตจึงเป็นช่วงเวลาที่ไทยสามารถนำสินค้าและบริการทางที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีซึ่งมีอยู่หลากหลาย ตั้งแต่ประเภทการดูแลสุขภาพจิต อาทิ นั่งสมาธิ อาบป่า อยู่กับธรรมชาติ ไปจนถึงการดูแลสุขภาพร่างกายด้วยสมุนไพร โปรแกรมเพื่อสุขภาพ และแผนการรักษาที่พร้อมขายออกมานำเสนอได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ ที่สำคัญประเทศไทยมีสถานประกอบการพร้อมให้บริการมากมายหลายประเภทอยู่แล้วด้วย


อย่างไรก็ตาม ประเด็นเร่งด่วนที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญในขณะนี้คือ การช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยที่กำลังได้รับผลกระทบอยู่ในขณะนี้ เพื่อรักษาธุรกิจและบุคลากรทางด้านการท่องเที่ยวเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ในขณะเดียวกันในฟากผู้ประกอบการเองก็ต้องใช้วิกฤตการณ์ครั้งนี้มาเป็นบทเรียนในการบริหารความเสี่ยง เพิ่มรายได้และกำไร ลดการแข่งขันทางด้านราคาและเน้นคุณภาพให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน