“TCEB” ชี้โควิดหนุนไทยขึ้นผู้นำ “ธุรกิจไมซ์” ภูมิภาคเอเชีย

แฟ้มภาพ

“ทีเส็บ” ชี้โควิด-19 หนุนไทยก้าวสู่ผู้นำตลาดไมซ์เอเชีย เผยพร้อมเดินหน้าทำตลาดทันทีหลังคุมโควิดได้ ชี้อุตฯต้องผสานออนไลน์-ออฟไลน์รับความเปลี่ยนแปลง ยันกลุ่มธุรกิจ “มีตติ้ง-คอนเวนชั่น-เอ็กซิบิชั่น” เดินหน้าได้ก่อนส่วนอีเวนต์ยังชะลอตัวต่อเนื่อง

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ (TCEB) เปิดเผยว่า วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจไมซ์ค่อนข้างมาก และมองว่าจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจไมซ์ในช่วงหลังจากโควิดคลี่คลายแน่นอน ซึ่งอาจเป็นโอกาสให้ประเทศไทยขึ้นเป็นผู้นำตลาดในภูมิภาคเอเชีย

“สิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญคือ การปฏิบัติตามแนวทางของรัฐบาล รับรู้ปัญหา และแสวงหาวิธีแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพราะไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่สามารถการันตีได้ดีมากที่สุดในระยะเวลานี้ขณะที่ประเทศในภูมิภาคตะวันตกอย่างอเมริกาและประเทศในภูมิภาคยุโรปยังไม่สามารถคลี่คลายปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในภูมิภาคได้” นายจิรุตถ์กล่าวและว่า ส่วนตัวยังเชื่อว่าการจัดงานไมซ์จะเริ่มกลับมาเปิดดำเนินการได้ เพียงแต่จะต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) และปรับรูปแบบงาน และมาตรการทางด้านสาธารณสุขที่เข้มงวด”

นายจิรุตถ์กล่าวด้วยว่า งานไมซ์ที่ผสมผสานระหว่างออนไลน์และออฟไลน์จะได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการและผู้จัดงานที่กลับมาจัดงานที่ถูกเลื่อนออกไปจากสถานการณ์ โดยในส่วนของทีเส็บจะสนับสนุนการจัดงานไมซ์ทั้งในระดับจังหวัด ระดับประเทศ และระดับทวิภาคี

รวมถึงการจัดงานออนไลน์ ซึ่งไม่ยากมากนักสำหรับงานประเภทมีตติ้ง คอนเวนชั่น และเอ็กซิบิชั่นที่ยังสามารถจัดงานแบบเว้นระยะห่างและเป็นไปตามแผนที่วางไว้ล่วงหน้าแล้ว แต่การจัดงานประเภทอีเวนต์นั้นคงไม่สามารถกลับมาจัดได้ในเวลาอันรวดเร็วนัก จนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันไวรัสโควิออกมา

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทีเส็บได้เริ่มสนับสนุนการจัดงานและการพัฒนาศักยภาพบุคลากรไมซ์ผ่านช่องทางออนไลน์หลายข้อ ไม่ว่าจะเป็นการจัดพื้นที่สำหรับเว็บมินาร์ การจัดงานไมซ์เสมือนจริง รวมถึงระบบอีเลิร์นนิ่งสำหรับพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและแรงงานไมซ์ในด้านต่าง ๆ นอกจากนั้น ทีเส็บยังได้วางแผนและปรับโครงการ รวมถึงงบประมาณเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงเวลานี้

“ถ้าหากมีการคิดค้นวัคซีนได้สำเร็จและใช้เวลาอีก 1 ปีหลังจากนั้นในการขยายผลก็มีโอกาสที่ธุรกิจไมซ์จะกลับมาฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติ แต่องค์ประกอบต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมไมซ์จะไม่เหมือนเดิมและจำเป็นที่จะต้องอาศัยการปรับตัวทั้งในระยะกลางและระยะยาว เช่น การขยับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลมากขึ้นเป็นต้น” นายจิรุตถ์กล่าว