คลัง-คมนาคม ทิ้งปีก “การบินไทย” สหภาพป่วนยื้อแผนฟื้นฟู-ปล่อยล้มละลาย

Photo by CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP

แผนฟื้นฟูการบินไทยยังไม่สะเด็ดน้ำ “บิ๊กตู่” สั่งทำรายละเอียดให้สมบูรณ์ “คลัง-คมนาคม” ยื้อลดสัดส่วนถือหุ้นต่ำ 50% สหภาพต้านหนัก ขู่ปล่อยล้มละลาย “ศักดิ์สยาม” ไม่มั่นใจแผนกู้เงิน 5.4 หมื่นล้าน เดดไลน์วัด KPI อุด23 จุดเสี่ยง พิจารณา พ.ค.นี้ ก่อนชง ครม.เคาะ หากไม่มาตามนัด ปล่อยล้มละลายทันที

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 12 พ.ค. 2563 ยังไม่ได้พิจารณาแผนฟื้นฟูของ บมจ.การบินไทย แต่อย่างใด ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ตอนนี้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ส่งให้คมนาคมพิจารณา เพื่อเสนอ ครม.ต่อไป ต้องผ่านอีกหลายขั้นตอนกว่าจะเข้า ครม.และได้กำชับไปแล้วว่า แผนฟื้นฟูจะต้องครบถ้วนและสมบูรณ์

บิ๊กตู่สั่งทำแผนให้สมบูรณ์

“การบินไทยต้องเข้าสู่การฟื้นฟู แผนต้องมีเหตุมีผล ขอให้บุคลากรทั้งในและนอกองค์กร รวมถึงสหภาพรัฐวิสาหกิจต้องช่วยกัน ไม่งั้นไปไม่ได้ สุดท้ายจะทำให้ไม่มีแรงงาน ไม่มีลูกจ้าง ไม่มีเงินจ้าง คือการล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ผมไม่อยากให้ไปถึงจุดนั้น ผมจำเป็นต้องแก้ไข ไม่เช่นนั้น องค์กร 2 หมื่นกว่าคน จะเกิดปัญหาทันที ส่วนเรื่องการค้ำประกันเงินกู้ยังไม่มีการพูดถึง และขึ้นอยู่กับบุคลากรในองค์กร สหภาพด้วย”

แหล่งข่าวทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า คมนาคมได้ส่งวาระสัดส่วนถือหุ้นคลัง ใน บมจ.การบินไทย ลงจาก 50% แล้ว ให้หน่วยงานอื่นเข้าถือหุ้นแทน เพื่อพิจารณาใน ครม. เป็น “วาระจร” ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นประกอบการพิจารณา

ความเห็นของหน่วยงานหนึ่งระบุว่า “เห็นชอบให้คลังลดการถือหุ้นจาก 50% แต่คงสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ จะทำให้ตอบโจทย์ของพนักงานและสหภาพการบินไทย แต่ต้องปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ แต่เมื่อถึงเวลาการประชุม ครม. ทางคมนาคมไม่ได้นำเสนอ”

ติดปมสถานะการบินไทย

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า เตรียมเรื่องการแก้ไขปัญหาการบินไทย ไปประกบกับกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอ ครม.พิจารณาในภาพรวมทั้งหมด แต่เนื่องจากทางกระทรวงคมนาคมยังไม่ได้เสนอเรื่องเข้ามา คลังจึงขอถอนเรื่องออกไป คาดว่าจะเสนอเข้า ครม.ให้ได้ภายในสัปดาห์หน้า เพราะไม่ควรช้าไปกว่านี้แล้ว เนื่องจากสภาพคล่องของการบินไทยมีจำนวนจำกัด

“ยังตกลงกันไม่ได้ โดยเฉพาะลดสัดส่วนการถือหุ้นของคลัง เพราะมีผลกระทบกับสถานะของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย จึงให้คลังและคมนาคมหารือกันให้ได้ข้อสรุปก่อน จึงเสนอ ครม.พิจารณาใหม่”

ปลดล็อกอำนาจบอร์ด

แนวทางเกี่ยวกับการลดสัดส่วนการถือหุ้นการบินไทยของคลังเหลือต่ำกว่า 50% เพื่อบริหารจัดการแก้ปัญหาการบินไทยให้คล่องตัวขึ้น หากการบินไทยเปลี่ยนสถานะจากรัฐวิสาหกิจระดับ 1 เป็นระดับ 3 ตาม พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จะทำให้การตัดสินใจต่าง ๆ ทำได้ในระดับคณะกรรมการ (บอร์ด) เพราะจะไม่ต้องปฏิบัติตามแนวทาง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 ที่ต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมายหลายขั้นตอน

“ถ้าลดสถานะลงไปเป็นรัฐวิสาหกิจระดับ 3 การตัดสินใจแก้ปัญหาต่าง ๆจะง่ายขึ้น เป็นอำนาจบอร์ดตัดสินใจได้เลย การจะปรับโครงสร้างบริษัทต่าง ๆ ก็ทำได้ทันที รวมถึงสถานภาพของสหภาพแรงงานที่มีอยู่เดิมจะหายไปด้วย แต่พนักงานสามารถไปขอจัดตั้งสหภาพกันใหม่ได้ภายหลัง”

หากการแก้ไขปัญหาการบินไทยยังติดอุปสรรค ถูกสหภาพคัดค้านจนทำอะไรไม่ได้ สุดท้ายอาจจะต้องปล่อยให้เข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายล้มละลายเพื่อฟื้นฟูกิจการ เช่นเดียวกับ บมจ.ทีพีไอในอดีต จากนั้นค่อยตั้งกระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟู ซึ่งแนวทางนี้จะเป็นทางเลือกสุดท้าย

เส้นตายปรับแผนให้จบ พ.ค.นี้

ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ให้คณะกรรมการ (บอร์ด) และฝ่ายบริหารของการบินไทยร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ทำรายละเอียดแผนฟื้นฟูเพิ่มเติม ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีรายละเอียดในส่วนของ Action Plan ครอบคลุมแผนบริหารรายได้ แผนบริหารรายจ่าย แผนบริหารหนี้ และแผนฟื้นฟูหลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

“แผนฟื้นฟูเดิมมีความเสี่ยงปรากฏขึ้นถึง 23 ประเด็น ให้ทั้ง 2 หน่วยงานเพิ่มเติมข้อมูล และแนวทางการดำเนินการที่จะอุดความเสี่ยงทั้ง 23 ประเด็น ให้แล้วเสร็จในเดือน พ.ค.นี้ ถ้าเสร็จไม่ทัน แสดงว่าแผนนี้ไม่สามารถทำได้ ต้องพิจารณาแนวทางเลือกอื่น เช่น การปล่อยให้การบินไทยล้มละลาย ถ้าไม่มีความสามารถหารายได้ สุดท้ายรัฐจะต้องรับภาระเหมือนกัน ไม่อยากให้มีชะตากรรมเหมือนมาเลเซียแอร์ไลน์”

ไม่มั่นใจแผนกู้เงิน 5.4 หมื่นล้าน

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ยังมีความคิดเห็นไม่ลงตัวจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จึงต้องกลับมาหารือร่วมกันใหม่และเสนอเป็นแพ็กเกจจากเดิมจะเสนอเรื่องการลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังเหลือน้อยกว่า 50% ก่อน เพื่อให้มีความคล่องตัวในการดำเนินการ

“คลังและคมนาคมเห็นร่วมกันจะลดสัดส่วนถือหุ้นคลังลง เพื่อลดขั้นตอนการสรรหาดีดี และแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัท ที่จะดึงมืออาชีพเข้ามาบริหารได้ โดยที่ไม่ติดขัด พ.ร.บ.กำกับรัฐวิสาหกิจ จะใช้โมเดลเจแปนแอร์ไลน์เป็นต้นแบบ”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า การบินไทยได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน คือ ฟินันซ่า และเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ (ประเทศไทย) ศึกษาการฟื้นฟู ส่งให้ คนร.นำเสนอขออนุมัติจาก ครม.

“คมนาคมยังเห็นต่างบางเรื่อง เช่น การให้คลังค้ำประกันเงินกู้ 5.4 หมื่นล้านบาท ถ้ากู้เงินไปแล้ว แผนฟื้นฟูไม่สำเร็จ ใครจะรับผิดชอบ ขณะที่มีเอกชนเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ถึง 31% การให้รัฐไปค้ำเงินกู้ให้จะเกิดปัญหาภายหลังหรือผิดต่อกฎหมายหรือไม่”

ไม่มีเงินจ่ายพนักงาน

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในระยะสั้นขอคลังประกันเงินกู้ 5.4 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมาประคองสภาพคล่องช่วง พ.ค.-ก.ย. เป็นค่าใช้จ่ายภายในองค์กร เพราะกระแสเงินสดบริษัทติดลบ เช่น จ่ายเงินเดือนพนักงาน ค่าเช่าเครื่องบินโดยจะกู้ 1 หมื่นล้านต่อเดือน ในเดือน พ.ค.ต้องการเงิน 9,000 ล้านบาท จ่ายเงินเดือนพนักงาน ยังมีแผนเปิดเออร์ลี่พนักงาน 2 ลอตในปีนี้และปีหน้า

“ปลายปีนี้การบินไทยขอเพิ่มทุน 8 หมื่นล้าน ชำระหนี้เงินกู้ 5.4 หมื่นล้าน อีก 3 หมื่นล้าน เสริมสภาพคล่อง เพราะต้องขั้นต่ำ 1 หมื่นล้าน และขั้นสูง 2 หมื่นล้าน ถึงจะอยู่ได้” แหล่งข่าวกล่าว