ลดเงินหลักประกัน “บ.ทัวร์” อุ้มธุรกิจ…ลิดรอนสิทธินักท่องเที่ยว

ภาพประกอบข่าว : Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา สำหรับกฎกระทรวงเรื่องกำหนดจำนวนเงินหลักประกันการประกอบธุรกิจนำเที่ยว พ.ศ. 2563 สาระสำคัญของกฎกระทรวงฉบับใหม่นี้คือ การปรับลดจำนวนเงินวางหลักประกันการประกอบธุรกิจนำเที่ยวของบริษัทนำเที่ยวลงจากเดิม 70%

โดยกำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยววางหลักประกัน ดังนี้ 1.การประกอบธุรกิจนำเที่ยวประเภทเฉพาะพื้นที่ วางหลักประกัน 3,000 บาท 2.การประกอบธุรกิจนำเที่ยวประเภทภายในประเทศ วางหลักประกัน 15,000 บาท 3.การประกอบธุรกิจนำเที่ยวประเภทนำเที่ยวจากต่างประเทศ (inbound) วางหลักประกัน 30,000 บาท และ 4.การประกอบธุรกิจนำเที่ยวประเภททั่วไป (outbound) วางหลักประกัน 60,000 บาท

จากเดิมที่ พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2535 กำหนดไว้ว่า บริษัทนำเที่ยวประเภทเฉพาะพื้นที่ วางหลักประกัน 10,000 บาท บริษัทธุรกิจนำเที่ยวประเภทภายในประเทศ วางหลักประกัน 50,000 บาท บริษัทนำเที่ยวประเภทนำเที่ยวจากต่างประเทศ (inbound) วางหลักประกัน 100,000 บาท และบริษัทนำเที่ยวประเภททั่วไป (outbound) วางหลักประกัน 200,000 บาท

เจตนาช่วยผู้ประกอบการ

“โชติ ตราชู” ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า เหตุผลในการนำเสนอเรื่องนี้คือเห็นว่าเป็นแนวทางการช่วยเหลือเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 และช่วยลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวหลังจากธุรกิจหยุดชะงักผู้ประกอบการขาดสภาพคล่อง ส่งผลต่อการจ้างงานของแรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

โดยเชื่อว่ากฎกระทรวงฉบับนี้จะช่วยผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวในระยะเร่งด่วนได้ และทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจยังหล่อเลี้ยงธุรกิจและพนักงานในความดูแลไปได้ในช่วงระยะเวลาวิกฤตนี้วงในชี้ผิดวัตถุประสงค์

แหล่งข่าวจากกรมการท่องเที่ยวรายหนึ่งกล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2535 ที่กำหนดวางเงินหลักประกันไว้สูงสุดที่ 200,000 บาท สำหรับบริษัทนำเที่ยวที่ทำตลาดเอาต์บาวนด์ หรือ 100,000 บาทสำหรับบริษัทนำเที่ยวที่ทำตลาดอินบาวนด์นั้นต่ำไป เวลาเกิดปัญหาเงินจำนวนนี้ไม่พอเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยว

ดังนั้น ในช่วงปี 2559-2560 คณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวฯ หรือบอร์ดธุรกิจนำเที่ยวฯ จึงได้หารือกับทุกฝ่าย สมาคมท่องเที่ยวทุกสมาคม และได้มีมติให้เพิ่มเงินหลักประกันบริษัทนำเที่ยวทั้ง 4 ประเภทโดยกำหนดว่า บริษัทนำเที่ยวประเภทเฉพาะพื้นที่ วางหลักประกันเพิ่มจาก 10,000 บาท เป็น 50,000 บาท บริษัทธุรกิจนำเที่ยวประเภทภายในประเทศ วางหลักประกันเพิ่มจาก 50,000 บาท เป็น 100,000 บาท บริษัทนำเที่ยวประเภทนำเที่ยวจากต่างประเทศ (inbound) วางหลักประกันเพิ่มจาก 100,000 บาท เป็น 200,000 บาท และบริษัทนำเที่ยวประเภททั่วไป (outbound) วางหลักประกันเพิ่มจาก 200,000 บาท เป็น 500,000 บาท

ทั้งนี้ เพื่อให้มีความสมเหตุสมผลและช่วยยกระดับมาตรฐานของบริษัททัวร์ของไทยให้เทียบเท่ากับประเทศในชาติอาเซียน อีกทั้งยังเป็นการปรับให้สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบันด้วย โดยให้ผู้ประกอบการรายเดิมทยอยเพิ่มเงินเข้าไปให้ครบภายใน 2 ปี ส่วนรายใหม่ให้ใช้อัตราใหม่ทันที

สุดท้ายปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯในสมัยนั้นไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่าเงินจำนวนดังกล่าวจะถูกไปวางเป็นหลักประกันไว้ที่กรมการท่องเที่ยวเฉย ๆ ไม่เกิดประโยชน์

“แนวทางการปรับขึ้นหลักประกันในครั้งนั้น อยู่บนพื้นฐานที่ว่าวงเงินค้ำประกันดังกล่าวนั้นเป็นอัตราที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2535 หากเทียบกับปัจจุบันถือว่าต่ำมาก ประกอบกับปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุกปีทำให้เกิดปัญหากับนักท่องเที่ยวในปริมาณที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว การปรับเพิ่มเงินวางหลักประกันจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น ขณะเดียวกัน ก็เป็นแนวทางคุ้มครองนักท่องเที่ยวด้วย”

ชี้กระทบนักท่องเที่ยวโดยตรง

พร้อมย้ำว่า วัตถุประสงค์ของการวางเงินหลักประกันตาม พ.ร.บ.นำเที่ยวฯนั้นคือ กำหนดไว้สูงเพื่อให้คุ้มครองนักท่องเที่ยวเวลาบริษัทนำเที่ยวนั้นๆ สร้างปัญหา ดังนั้น การลดเงินวางหลักประกันครั้งนี้จึงเป็นแนวทางที่ผิดวัตถุประสงค์ และคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือ นักท่องเที่ยวที่ถูกลิดรอนสิทธิ

สอดรับกับแหล่งข่าวจากบริษัทนำเที่ยวรายใหญ่รายหนึ่ง ที่กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปรับลดเงินวางหลักประกันบริษัทนำเที่ยวครั้งนี้เปรียบเสมือนดาบสองคม คือได้ช่วยผู้ประกอบการในภาวะวิกฤติจริง แต่ถ้าปรับลงถาวรถือว่าเงินหลักประกันใหม่นี้มีจำนวนต่ำมาก และไม่เพียงพอกับการคุ้มครองนักท่องเที่ยวหากมีปัญหาเกิดขึ้นแน่นอน

แต่หากว่าการปรับลดครั้งนี้เป็นการชั่วคราว เมื่อธุรกิจดีขึ้นหรือคนที่จดทะเบียนใหม่ใช้หลักวางประกันเดิมคือ สูงสุดที่ 200,000 บาท แบบนี้ถือว่าเป็นหลักการช่วยผู้ประกอบการเป็นการชั่วคราว ทุกฝ่ายน่าจะรับได้

หวั่นระยะยาวเกิดปัญหา

ผู้คร่ำหวอดในวงการท่องเที่ยวอีกรายหนึ่งกล่าวในทิศทางเดียวกันว่า วัตถุประสงค์ของการวางเงินประกันของบริษัทนำเที่ยวตาม พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวฯนั้นเพื่อเป็นการคุ้มครองนักท่องเที่ยวเมื่อบริษัทนำเที่ยวนั้น ๆ มีปัญหา โดยกรมการท่องเที่ยวสามารถหักเงินดังกล่าวนี้ไปจ่ายชดเชยให้นักท่องเที่ยวได้เลย ไม่เพียงเท่านี้ การวางหลักประกันในอัตราที่สูงยังทำให้เกิดความมั่นคงของอาชีพด้วย กล่าวคือ ไม่เปิดทางให้เปิดบริษัทได้ง่ายเกินไป ธุรกิจเองก็ไม่กล้าทำผิดรวมถึงทำให้ผู้ประกอบการไม่จดทะเบียนครั้งละหลายบริษัท

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการปรับลดวงเงินวางประกันครั้งนี้ในระยะสั้นที่ยังไม่มีการเดินทางของนักท่องเที่ยวคงไม่เกิดปัญหาอะไร และได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการจริง แต่ถ้าธุรกิจเริ่มกลับมามีการเดินทางของนักท่องเที่ยวเชื่อว่าปัญหาต่าง ๆ ตามมาแน่นอน เพราะที่ผ่านมาขนาดวางเงินไว้ 100,000-200,000 บาทหลาย ๆ ครั้งปัญหาที่เกิดขึ้นยังมีเงินไม่พอคุ้มครองนักท่องเที่ยว

“แนวทางนี้ทำให้บริษัททัวร์จะไม่ได้รับความน่าเชื่อถือในสายตานักท่องเที่ยวอีกต่อไป เพราะแม้ว่าเขาจะซื้อทัวร์จากบริษัทที่จดทะเบียนถูกต้อง แต่หากมีปัญหาเกิดขึ้น แต่เขาก็ได้รับความคุ้มครองในวงเงินที่ไม่คุ้มค่า ดังนั้นเลือกที่จะเดินทางด้วยตัวเองหรือไปกับบริษัทไหนก็ได้ที่ให้ราคาถูกดีกว่า เพราะรับความเสี่ยงเองเหมือนกัน”

ดันกองทุนพัฒนาท่องเที่ยวฯดูแล

“พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯกล่าวถึงกรณีนี้ว่า เรื่องที่หลายฝ่ายกังวลว่าจำนวนเงินหลักประกันที่น้อยลงจะกลายเป็นดาบสองคมนั้นไม่อยากให้เป็นกังวล เพราะนอกจากวงเงินที่ยังกันไว้ 30% แล้ว ตนยังเตรียมที่จะดันนโยบายกองทุนพัฒนาการท่องเที่ยวฯ เพื่อดูแลผลประโยชน์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะครอบคลุมการชดเชยในกรณีต่าง ๆ ออกมาใช้จริงให้ได้เร็ว ๆ นี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดูความเหมาะสมของการจ่ายค่าธรรมเนียมของนักท่องเที่ยวและวงเงินชดเชยในกรณีต่าง ๆ

ส่วนนักท่องเที่ยวเอาต์บาวนด์และนักท่องเที่ยวภายในประเทศนั้น เชื่อว่าวงเงินที่เหลืออยู่ 30% น่าจะเพียงพอชดเชยนักท่องเที่ยวในช่วงเวลาหนึ่ง และกระทรวงจะมองหาแนวทางในการนำวงเงินของบริษัทนำเที่ยวต่าง ๆ มารวมกันเป็นกองทุนเดียว เพื่อให้มีจำนวนเงินเพียงพอชดเชยให้กับนักท่องเที่ยวในอนาคต พร้อมยืนยันว่าจะมีการเรียกคืนวงเงินประกันกลับมาให้ครบ 100% แน่นอน เพียงแต่ต้องรอให้การท่องเที่ยวฟื้นคืนเต็มที่ก่อน ซึ่งอาจจะใช้ระยะเวลามากกว่า 1 ปี

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหลังจากวิกฤตการณ์โควิดคลี่คลายรูปโฉมการท่องเที่ยวไทยจะเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร ในอนาคตนักท่องเที่ยวอิสระจะมาเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบสัดส่วนกับนักท่องเที่ยวจากธุรกิจนำเที่ยว อาจจะเพิ่มสัดส่วนมากกว่า 70 : 30 ทำให้ภาคท่องเที่ยวจำเป็นจะต้องปรับตัวมากกว่าที่ผ่านมา โดยภายในสิ้นเดือนนี้กระทรวงเตรียมนำเสนอแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวทั้งหมดต่อนายกรัฐมนตรี และคาดว่าจะเปิดรายละเอียดให้ทราบได้ในอนาคตอันใกล้นี้

ระหว่างนี้ใครรับผิดชอบ นทท.


อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คนท่องเที่ยวเป็นห่วงคือ กฎกระทรวง เรื่องกำหนดจำนวนเงินหลักประกันการประกอบธุรกิจนำเที่ยว พ.ศ. 2563 นี้ ไม่ได้ระบุว่าอัตราการวางหลักประกันดังกล่าวนี้ว่าจะใช้เป็นเวลากี่ปี มีเพียงแค่เป็นข้อสรุปในที่ประชุมบอร์ดธุรกิจนำเที่ยวฯว่าจะกลับมาใช้อัตราเดิมหลังจากธุรกิจท่องเที่ยวดีขึ้น ซึ่งไม่รู้ว่าจะใช้เวลากี่ปีดังนั้น ระหว่างที่ใช้กฎกระทรวงฉบับปี พ.ศ. 2563 หากมีปัญหาเกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยวหรือบอร์ดธุรกิจนำเที่ยวฯ มีมาตรการรองรับแล้วหรือยังว่าจะรับผิดชอบนักท่องเที่ยวอย่างไร