“ประยุทธ์” สั่งการบินไทยเข้าศาลล้มละลาย-ฟื้นฟูกิจการ

“ประยุทธ์” เรียก 2 รัฐมนตรีคมนาคม พร้อม “อนุทิน” รองนายกฯ เข้าหารือด่วน 3 ครั้งในรอบสัปดาห์ ผ่าตัดการบินไทยแบบสุดซอย สั่งไฟเขียวส่ง “การบินไทย” เข้าฟื้นฟูภายใต้ศาลล้มละลาย ชงเข้า คนร. วันที่ 18 พ.ค.นี้ สางหนี้ทั่วโลก 2.4 แสนล้าน

นายกฯสั่งฟื้นฟูในศาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 63 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้เรียกนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และนายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม เข้าหารือเป็นครั้งที่ 3 ในรอบสัปดาห์ ล่าสุดใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง

นายอนุทินเปิดเผยว่า การบินไทยถือเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ ส่วนการให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้หรือหาเงินมาเพิ่มทุนก็ลำบาก น่าจะเหลืออยู่วิธีการเดียวคือ การฟื้นฟูการบินไทยภายใต้กฎหมายล้มละลาย ซึ่งจะต้องมีขั้นตอนทำไปพร้อมกับการปรับโครงสร้างผู้บริหาร บมจ.การบินไทย เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้ แต่ขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นใหญ่ของการบินไทยซึ่งมีกระทรวงการคลังเป็นหลัก

“นายกรัฐมนตรีมีความเห็นให้มีการฟื้นฟูกิจการการบินไทยซึ่งถือเป็นวิธีการที่สวยที่สุด เราต้องแข่งกับเวลา เมื่อเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ แล้วก็เป็นเรื่องของเจ้าหนี้และลูกหนี้โดยมีศาลเป็นผู้กำกับ และจะต้องมีผู้ทำแผน อำนาจการบริหารจัดการบริษัทก็จะอยู่กับผู้บริหารแผนที่ศาลเป็นผู้แต่งตั้ง โดยเป็นความเห็นชอบทั้งจากเจ้าหนี้และลูกหนี้ ผู้ทำแผนต้องมีหน้าที่เจรจากับเจ้าหนี้และทำแผนฟื้นฟูกิจการขึ้นมา ถ้าตกลงกันได้ก็ไปโหวตที่ศาล หลังจากนั้นผู้ทำแผนก็หมดหน้าที่ไป เป็นหน้าที่ของผู้บริหารแผนที่ต้องทำตามแผนฟื้นฟูกิจการตามที่ศาลมีคำพิพากษามา ซึ่งมีขั้นตอนอีกมาก”

นายอนุทินกล่าวด้วยว่า “ผมคิดว่าตอนนี้เหลือเพียงซอยเดียวแล้ว การฟื้นฟูในศาลเป็นทางที่ดีที่สุด ทุกคนต้องถอยกันบ้าง เพียงแค่ก้าวเดียว แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นกระทรวงคมนาคมที่ผมกำกับดูแล เพียงได้แต่เสนอเท่านั้น แต่ทั้งหมดอยู่ที่ผู้ถือหุ้นโดยเฉพาะกระทรวงการคลังก็ต้องไปพูดคุยกันอีกที”

“ทั้งผู้ถือหุ้นและลูกหนี้ พนักงาน ให้ความร่วมมือ กิจการก็จะสามารถกลับมาใหม่ได้ แต่ถ้าทุกคนไม่ให้ความร่วมมือ อะไรก็ไม่ได้ เจ้าหนี้ก็ไม่มีทางเลือก ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องขายทอดตลาด หลักการก็มีอยู่แค่นี้ แต่นายกรัฐมนตรีก็อยากให้มีการฟื้นฟูกิจการก่อน การไปขายทอดตลาด หรือปล่อยให้ล้มละลายไม่มีอยู่ในหัวของนายกรัฐมนตรี เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ถือเป็นทิศทางที่ดี”

นายกฯนั่งหัวโต๊ะ คนร. 18 พ.ค.

ขณะที่นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า แผนฟื้นฟูการบินไทยยังไม่ได้สรุปชัดเจน ต้องรายงาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน คนร.รับทราบก่อน 18 พ.ค.นี้ อย่างไรก็ตามทางเลือกการขอฟื้นฟูตามกระบวนการของศาลล้มละลาย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย เนื่องจากเป็นไปได้มากกว่าแผนเดิมที่ทำไว้

โดยผู้ที่มีอำนาจยื่นศาลล้มละลายมี 3 ฝ่าย คือ ลูกหนี้ เจ้าหนี้ และองค์กรของรัฐ (ในฐานะเจ้าหนี้และลูกหนี้) หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ได้ วัตถุประสงค์ของการใช้ช่องทางนี้ เพื่อให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้ครบถ้วน และให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินต่อไปได้ ในระหว่างขั้นตอนฟื้นฟูอาจเจรจาให้มีทางเลือกอื่น เช่น เปลี่ยนหนี้เป็นทุน ลดหนี้บางส่วน ยืดเวลาชำระหนี้ หรือแม้แต่ปรับโครงสร้างหนี้

นายถาวรกล่าวว่า ส่วนข้อกังวลหาก ครม.อนุมัติให้คลังค้ำประกันเงินกู้ 54,000 ล้านบาทให้การบินไทย จะเกิดปัญหาตามมาภายหลัง เนื่องจากมีเอกชนถือหุ้นอยู่ในการบินไทย 31% เพราะการที่รัฐไปช่วยเหลือเอกชนและเลือกช่วยโดยเอาเงินและความเสี่ยงของรัฐไปช่วย ทั้งที่ไม่มีหน้าที่ต้องทำ ถือว่าปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 ที่ห้ามไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการเอื้อประโยชน์ให้เอกชน จึงทำให้คมนาคมยังเห็นต่างกับบางหน่วยงานตรงจุดนี้

พ.ค.ต้องการเงิน 9 พันล้าน

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า มติ คนร.ให้ดูการกู้เงินระยะสั้นประคองสภาพคล่อง ก่อนไปสู่กระบวนการต่าง ๆ แต่ปัญหาคือไม่มีแบงก์ให้กู้ 5.4 หมื่นล้านบาท เพราะหนี้สินต่อทุนสูง 21 เท่า รัฐถึงต้องเข้าไปค้ำประกันให้ แต่ต้องทำแผนฟื้นฟูกิจการให้คนมั่นใจว่าไม่สูญเปล่า แต่ดูแผนฟื้นฟูในเบื้องต้นแล้ว เป็นไปได้ยากมาก ยังไงก็ต้องยื่นฟื้นฟูต่อศาล

หากแผนกู้เงินของการบินไทยไม่ได้ข้อสรุปภายในเดือน พ.ค. ที่ต้องพิจารณาด่วนคือจะนำเงินจากไหนมาเป็นค่าใช้จ่ายในองค์กร เช่น เงินเดือนพนักงาน เพราะจะต้องมีเงินสดในมือตลอดเวลาเดือนละ 1 หมื่นล้านบาท จากเดิมจะนำเงินที่ขอกู้ 9,000 ล้านบาทเป็นค่าใช้จ่ายเดือน พ.ค.นี้ ไม่รวมชำระหนี้ดอกเบี้ยเงินกู้ เช่าเครื่องบิน จะต้องเจรจาขอยืดการชำระหนี้ไปก่อน

เจ้าหนี้ 3 กลุ่ม 2.5 แสนล้าน

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในส่วนหนี้การบินไทยกว่า 2.5 แสนล้านบาทนั้น มีกลุ่มเจ้าหนี้ 3 กลุ่ม 1.กลุ่มผู้ถือหุ้นกู้ อาทิ กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ต่าง ๆ 3.6 หมื่นล้านบาท ไม่รวมรายย่อย ๆ ที่ถือหน่วยหุ้นกู้อีกมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากนักลงทุนสถาบันส่วนใหญ่ไม่ลงทุนในหุ้นกู้การบินไทยนานแล้ว จะมีบางส่วนที่ซื้อ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น 2.กลุ่มสถาบันการเงิน อาทิ ธนาคารกรุงไทยรายใหญ่สุด ธนาคารออมสิน (3.5 พันล้านบาท) 3.เจ้าหนี้การค้ากว่า 1 แสนล้านบาท อาทิ ค่าเครื่องบิน เป็นต้น ซึ่งการเจรจากับเจ้าหนี้กลุ่มนี้จะยากสุด รวมถึงมีเจ้าหนี้ต่างประเทศอยู่ด้วย