ปลัด ก.ท่องเที่ยว ดันท่องเที่ยวยั่งยืน แก้โจทย์กระจุกตัวเมืองหลัก

แม้ว่าภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยในช่วงที่ผ่านมาจะยังคงมีอัตราการเติบโตในเชิงปริมาณได้ต่อเนื่องทุกปี ปีละ 8-10% แต่หากโฟกัสลงในเชิงพื้นที่ยังคงพบว่าเมือง หรือเดสติเนชั่นยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวไทยยังคงกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวหลัก ๆ เพียงไม่กี่จังหวัดเท่านั้น ซึ่งก็เป็นโจทย์ที่ท้าทายการทำงานในเชิงนโยบายของภาครัฐอยู่ไม่น้อยทีเดียว

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “โชติ ตราชู” ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ถึงปัญหาและทิศทางของภาคการท่องเที่ยวของไทย รวมถึงแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืนไว้ดังนี้

“โชติ” บอกว่า หากพูดถึง “ช่องโหว่” หรือ “จุดอ่อน” ของภาคการท่องเที่ยวไทยคงต้องมองเรื่องการกระจุกทางการท่องเที่ยวก่อน เพราะภาพรวมของการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยนั้นกว่า80-90% ยังคงนิยมท่องเที่ยวในเมืองท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่กระจุกตัวอยู่เพียง 4-5 เมืองเท่านั้น

จากปรากฏการณ์นี้ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติในเมืองท่องเที่ยวหลัก ๆ ถูกใช้งานมากเกินไป และที่สำคัญทำให้ขาดความหลากหลายทางด้านการท่องเที่ยว นอกจากนี้ต้องยอมรับว่ารูปแบบการท่องเที่ยวลักษณะที่เราเผชิญอยู่ในช่วงที่ผ่านมา เป็นการทำตลาดแบบเน้นปริมาณนักท่องเที่ยว แต่กลับไม่ได้ปริมาณเงินที่สอดคล้องกันมากนัก

ดังนั้น การพลิกฟื้นการท่องเที่ยวไทยให้กลับมาแข็งแรงกว่าเดิมนั้น จำเป็นจะต้องกระจายการท่องเที่ยวออกในหลากหลายพื้นที่มากขึ้น รวมถึงหันไปจับกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพมากกว่าเน้นปริมาณเช่นที่ผ่านมา

พร้อมบอกด้วยว่า ที่ผ่านมาไม่ใช่ว่ากระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้พยายามจะดำเนินการในเรื่องนี้มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเมืองรองและความพยายามในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อตั้งกองทุนพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ

แต่ผลลัพธ์ในการดำเนินงานที่ในส่วนของ “เมืองรอง” อาจจะยังไม่ได้แสดงผลชัดเจนและน่าพอใจเท่าที่ควร ซึ่งประเด็นนี้ยังคงเป็นส่วนที่จะต้องเร่งทำมากขึ้นอีกหลังจากนี้

“โชติ” อธิบายต่อว่า ในช่วงที่ภาคการท่องเที่ยวทั้งหมดยังติดอยู่ในวิกฤตโควิด-19 นอกจากการดูแลผู้ประกอบการให้สามารถเอาตัวรอดผ่านช่วงเวลานี้ไปได้แล้ว กระทรวงก็ยังเร่งดำเนินการตามแผนเพิ่มความยั่งยืนที่วางเอาไว้ต่อไป ทั้งการเตรียมการเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ทั้งนี้ เพื่อจะนำเงินรายได้ดังกล่าวมาตั้งกองทุนพัฒนาการท่องเที่ยว และนำเงินจากกองทุนมาพัฒนาภาคการท่องเที่ยว ดูแลแหล่งท่องเที่ยว เยียวยาผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวในช่วงเวลาวิกฤต รวมถึงใช้ในการซื้อประกันให้กับนักท่องเที่ยวด้วย

โดยแผนการเรื่องนี้ได้มีการพูดคุยกันมาเป็นระยะเวลายาวนานแล้ว เหลือเพียงแต่เริ่มปฏิบัติจริงเท่านั้น เนื่องจากปี 2562 ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทไทยแข็งค่ามาก ทำให้จำเป็นจะต้องเลื่อนแผนออกไปก่อน แต่ขณะนี้ที่ประเทศไทยและทั่วโลกต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์โควิด-19 จนไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย

ขณะเดียวกันยังมีแผนเร่งเปิดพื้นที่สำหรับการท่องเที่ยวใหม่ ๆ กระจายความเจริญออกสู่เมืองอื่น ๆ นอกจากเมืองท่องเที่ยวหลัก โดยอยู่ระหว่างดำเนินการของบประมาณกว่า 400,000 ล้านบาท เพื่อมาปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวพร้อมปัดฝุ่นโครงการริเวียร่า โดยเฉพาะการปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่มีการกระจายรายได้สู่ชุมชนสูงสุด สร้างการท่องเที่ยวในพื้นที่ชุมชนให้เจริญงอกงามแตกต่างจากอดีต

นอกจากนั้น ยังมีแผนที่จะจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ด้วย เพื่อลดความแออัดและลดโอกาสในการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ โดยการวางแผนพัฒนาการท่องเที่ยวทั้งหมดจะต้องอยู่ในรูปแบบดาวน์ทูท็อป หรือจากล่างขึ้นบนให้พื้นที่ได้กำหนดอนาคตด้วยตัวเอง

ส่วนการปรับแผนยุทธศาสตร์ชาตินั้นคงไม่จำเป็นนัก เนื่องจากเป็นแนวทางที่ใกล้เคียงกัน และเชื่อว่าไม่มีภาคเอกชนเห็นขัดแย้งกับแนวทางดังกล่าว


พร้อมยังฝากไว้ด้วยว่า ที่ผ่านมาเราพึ่งพาแต่ปริมาณนักท่องเที่ยว ทำให้ควบคุมคุณภาพได้ยาก แต่จะบอกว่าไทยล้มเหลวในเรื่องการท่องเที่ยวก็ไม่ใช่อีกเช่นกัน เพราะการท่องเที่ยวถือเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและกระจายรายได้สู่ชุมชน เพียงแต่มันควรจะทำได้มากกว่าที่ผ่านมา เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางธรรมชาติและมุ่งสู่การสร้างการท่องเที่ยวยั่งยืน