ททท.ชูกลยุทธ์ “5R” กู้วิกฤต ยกระดับท่องเที่ยวยุคโควิด

HUAHIN THAILAND - FILE PHOTO: Photo by Jack TAYLOR / AFP

ททท.ชูกลยุทธ์ 5R หนุนท่องเที่ยวไทยฝ่าโควิด เผยเน้นปรับสมดุลใหม่ ดูดนักท่องเที่ยวเดินทางซ้ำ ซ่อมสร้าง พร้อมยกระดับมาตรการสาธารณสุข-ความปลอดภัย รับมือ new normal นักท่องเที่ยวเปลี่ยนพฤติกรรม

นายนพดล ภาคพรต รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมเป็นต้นมาการเดินทางท่องเที่ยวถดถอยลงตามลำดับ โดยเฉพาะในเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคมที่เริ่มส่งผลกระทบขยายวงกว้างออกไปสู่ธุรกิจทุกเซ็กเตอร์ ททท.จึงกำหนดแผนสำหรับการบริหารจัดการสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วยการจัดการเยียวยาผลกระทบในปัจจุบัน และการจัดการการท่องเที่ยวหลังจบวิกฤตการณ์โควิด-19

นายนพดลกล่าวว่า หลังจากนี้รูปแบบการท่องเที่ยวจะไม่เหมือนเดิม โดยเฉพาะเรื่องของความเชื่อมั่นทางด้านสาธารณสุขและความปลอดภัย โดยประเมินว่าในอนาคตนักท่องเที่ยวจะเดินทางโดยกลุ่มที่เล็กลง และดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทสำคัญที่สุดกับการท่องเที่ยวดังนั้น จึงต้องนำเอาพฤติกรรมและเทรนด์ที่จะเปลี่ยนแปลงไปเข้ามาวางแผนในการจัดการการท่องเที่ยวด้วย

โดยสิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นอันดับแรกคือ การกลับมาเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศซึ่งจะมีส่วนสำคัญที่สุดในการสร้างงาน สร้างรายได้ เสริมสภาพคล่อง ก่อนที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้อีกครั้ง โดยจะมุ่งเน้นนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูง ก่อให้เกิดการกระจายตัวของพื้นที่ที่จะสามารถก่อให้เกิดความสมดุลเชิงโครงสร้างใหม่ พยายามปรับสมดุลให้สอดคล้องกัน เพื่อให้การท่องเที่ยวกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเสริมสภาพคล่องทางเศรษฐกิจไทย

รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับกลยุทธ์ในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวรอบนี้แบ่งออกเป็น 5 ข้อ หรือ 5R ได้แก่ 1.รีบูสต์ (reboost) หรือกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเพื่อสร้างความเชื่อมั่น เพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวและความถี่ในการเดินทางออกสู่ชุมชนท้องถิ่น

2.รีบิลด์ (rebuild) หรือการซ่อมสร้างปรับตัวสู่ความปกติใหม่ (new normal) พัฒนาสินค้าทางด้านการท่องเที่ยวรวมถึงการทำตลาดผ่านดิจิทัล 3.รีแบรนด์ (rebrand) หรือการสื่อสารทางการตลาดเพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ไปพร้อมกับการสร้างความเชื่อมั่นและบรรยากาศทางการท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวคิดถึงและอยากกลับมาท่องเที่ยวอีกครั้งในวันที่พร้อม 4.รีบาวนด์ (rebound) หรือการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยเดินทางมาแล้วให้เดินทางกลับมาอีกครั้งอย่างรวดเร็ว และ 5.รีบาลานซ์ (rebalance)หรือการคืนสมดุลใหม่ให้กับการท่องเที่ยวไทย เพื่อก้าวสู่ท่องเที่ยวยั่งยืนอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายการเป็นแหล่งท่องเที่ยวในฝันที่นักท่องเที่ยวถวิลหาและอยากเดินทางกลับมาท่องเที่ยว โดยยังอยู่ภายใต้มาตรการสาธารณสุขที่กำหนดไว้ พร้อมกับเร่งดำเนินโครงการ Amazing Thailand Safety & Health Administration (SHA) เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและสาธารณสุขในภาคท่องเที่ยวไทย ตั้งแต่ร้านค้า ร้านอาหาร สปา สถานเสริมความงาม รถโดยสาร สนามกอล์ฟ ฯลฯ

“เชื่อว่าในไตรมาสสุดท้ายนี้สถานการณ์จะดีขึ้น เพราะทุกคนอยู่บ้านมาเป็นเวลานานแล้ว อัดอั้น และอยากเดินทางท่องเที่ยวทั้งในไทยและในต่างประเทศ ในช่วงนี้จึงเน้นย้ำการโปรโมตให้ไทยเป็นท็อปออฟไมนด์ของนักท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวคิดถึงอาหารถิ่น สถานที่ท่องเที่ยว บรรยากาศ และความมีน้ำใจของคนไทย ไม่ให้เราถูกบีบด้วยโควิดมากไปนัก ก่อนจะกลับมาฮาร์ดเซลอีกครั้งหลังสถานการณ์สิ้นสุด” นายนพดลกล่าว