จี้เว้นภาษี VAT ท่องเที่ยว สร้างความเข้มแข็งธุรกิจนำเที่ยว

สัมภาษณ์

ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวถือเป็น 1 ในเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย มีอัตราการขยายตัวทั้งในด้านจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ราวปีละ 8-10% มาโดยตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในปี 2562 มีรายได้รวมถึงกว่า 3 ล้านล้านบาท หรือราว 20% ของจีดีพีประเทศ แต่ทุกครั้งที่ประเทศเกิดวิกฤต “ธุรกิจท่องเที่ยว” จะได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรกเสมอ

“สุรวัช อัครวรมาศ” ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการท่องเที่ยว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, คณะอนุกรรมาธิการท่องเที่ยววุฒิสมาชิก, ที่ปรึกษาสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) และอุปนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยอ่อนแอ รวมถึงข้อเสนอแนะ และแนวทางการพัฒนาให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยว

ของไทยเกิดความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นในอนาคต ไว้ดังนี้

ผู้ประกอบการไทยอ่อนแอ

“สุรวัช” เริ่มต้นการให้สัมภาษณ์ว่า ท่ามกลางการเติบโตอย่างต่อเนื่องของภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยนั้น หากมองให้ลึกลงไปถึงแก่นความเป็นจริงของธุรกิจกลับพบว่า ภาคการท่องเที่ยวของไทยเป็นธุรกิจที่มีความอ่อนไหวและอ่อนแออย่างมาก

โดยวิกฤตไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ เป็นตัวสะท้อนถึงความอ่อนแอของธุรกิจได้เป็นอย่างดี เพราะทุกซัพพลายเชนของธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนัก ขณะที่ภาครัฐเองไม่รู้จะใช้มาตรการอะไรมาเยียวยาให้อยู่บนมาตรฐานที่ควรจะเป็น สิ่งที่ทำได้คือพยายามหามาตรการมาช่วยเหลือเยียวยา จัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่สำคัญแม้รัฐจะมีแหล่งเงินกู้ซอฟต์โลนให้แต่ผู้ประกอบการก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทนำเที่ยว

เว้นภาษี VAT สร้างความเข้มแข็ง

“สุรวัช” บอกว่า ประเด็นหลักที่ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ซอฟต์โลนคือ เรื่องของระบบบัญชี ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวทั้งตลาดอินบาวนด์ เอาต์บาวนด์ และภายในประเทศ (domestic) ไม่สามารถทำระบบบัญชีที่ลงรายได้หรือยอดขายตามความเป็นจริงที่รับมาได้

ทั้งนี้ เนื่องจากมีบริการท่องเที่ยวบางอย่างไม่มีภาษีแวต อาทิ ตั๋วเครื่องบิน, รถบัส, เรือ ฯลฯ รวมถึงสถานประกอบการที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มอีกจำนวนหนึ่ง ขณะที่ผู้บริโภคที่ซื้อแพ็กเกจท่องเที่ยวก็ไม่ต้องการเสียภาษี ผู้ประกอบการนำเที่ยวจึงจำเป็นต้องลงรายได้หรือยอดขายเฉพาะที่เป็นรายได้จากค่าบริการนำเที่ยวเท่านั้น

บทบาทของผู้ประกอบการนำเที่ยวเป็นเพียงตัวกลางในการให้บริการนักท่องเที่ยวเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว เงินที่ลูกค้าซื้อแพ็กเกจทัวร์จะถูกกระจายไปยังธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงแรม ที่พัก, ร้านอาหาร, รถนำเที่ยว ฯลฯ เหลือที่เป็นรายได้ซึ่งเป็นค่าบริการนำเที่ยวต่ำกว่า 5-8% จึงไม่สามารถบันทึกรายได้จากยอดขายที่เข้ามาทั้งหมดได้

“แอตต้า” ชงเรื่องให้ “บิ๊กตู่”

“สุรวัช” บอกด้วยว่า ประเด็นนี้เคยคุยกันในกลุ่มผู้ประกอบการมานานแล้ว ทั้งส่วนที่เป็นตลาดอินบาวนด์ เอาต์บาวนด์ และภายในประเทศว่ารัฐบาลควรยกเว้นภาษีแวต หรือให้ผู้ประกอบการนำเที่ยวเคลมแวตคืนได้ เช่นเดียวกับธุรกิจส่งออกเพราะเป็นเซ็กเตอร์ที่สร้างรายได้และดึงเงินเข้าประเทศเช่นกันและมองว่าหากรัฐยกเว้นภาษีแวตหรือให้ผู้ประกอบการนำเที่ยวเคลมภาษีแวตดังกล่าวนี้คืนได้จะเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจท่องเที่ยวเข้าสู่ระบบ และมีระบบบัญชีที่ถูกต้อง และแน่นอนว่าจะช่วยทำให้ผู้ประกอบการนำเที่ยวมีความเข้มแข็งขึ้น

โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมานายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว หรือ ATTA ได้ใช้โอกาสที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้ามารับฟังปัญหาของภาคธุรกิจท่องเที่ยว ณ ที่ทำการสมาคมนำเสนอเรื่องนี้ไปแล้ว ขณะที่สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) ก็ได้จ้างสถาบันการศึกษา ทำการศึกษาถึงแนวทางและระบบที่ควรจะเป็นเรียบร้อยแล้วเช่นกัน

เปิดช่องธุรกิจเข้าถึงแหล่งทุน

พร้อมบอกด้วยว่า หากรัฐบาลเว้นภาษีแวต หรือให้ผู้ประกอบการนำเที่ยวเคลมแวตคืนได้จะทำให้โครงสร้างธุรกิจท่องเที่ยวมีระบบที่เป็นมาตรฐานและแข็งแรงขึ้นไม่เพียงเท่านี้เมื่อทุกบริษัทลงบัญชีที่เป็นยอดขายจริงจะทำให้รายได้ต่อปีของทุกบริษัทโตขึ้น และแน่นอนว่ารัฐบาลก็สามารถเก็บภาษีสิ้นปีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

ขณะที่ผู้ประกอบการเองก็จะสามารถขยับฐานะเป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ที่สำคัญยังจะทำให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้เพื่อนำมาต่อยอดธุรกิจได้อีกด้วย

“ตอนนี้เห็นชัดเจนว่าด้วยระบบบัญชีแบบเดิมนั้นทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงเป็นธุรกิจขนาดเล็กอยู่ตลอดเวลา เพราะบันทึกบัญชีแค่ตัวเลขที่เป็นรายได้จากค่าบริการนำเที่ยวเท่านั้น ไม่ได้นำรายได้ที่รับมาทั้งหมดมาโชว์เป็นยอดขาย”

ไม่เพียงเท่านี้ ภาครัฐเองก็ต้องมองว่าผู้ประกอบการที่มาขอเคลมภาษีแวตคืนนั้นเป็นกลุ่มที่ดี ทำธุรกิจถูกต้อง และให้การสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบ ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้ามาสู่ระบบโดยความสมัครใจเอง

“สุรวัช” บอกอย่างมั่นใจว่า หากประเทศไทยสามารถทำธุรกิจในโมเดลนี้ได้จะทำให้ผู้ประกอบการทั้งหมดมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น สุดท้ายแล้วจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวโดยปริยาย

แนะจัดระเบียบใหม่อีกครั้ง

นอกจากนี้ยังให้ข้อมูลด้วยว่า ในช่วงปี 2559-2560 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลจัดระเบียบธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะการแก้ไขทัวร์ศูนย์เหรียญนั้นเป็นแนวทางที่รัฐเดินมาถูกทางแล้ว แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ทำให้ภาคเอกชนประกอบธุรกิจยากขึ้น แต่ปัญหาเรื่องนอมินีกลับไม่ได้ถูกแก้ไข ดังนั้น ภาครัฐน่าจะใช้โอกาสช่วงวิกฤตโควิดนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่ส่งผลกระทบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาอยู่แล้ว ทำการแก้ไขปัญหาระบบทัวร์ด้อยคุณภาพอีกครั้ง

พร้อมยกตัวอย่างว่า กรณีของไต้หวันถือเป็นโมเดลต้นแบบของการทำทัวร์คุณภาพ ทั้งระบบของเขาเป็นมาตรฐานเดียวกันหมด ทันทีที่ธุรกิจท่องเที่ยวเจอวิกฤตโควิดครั้งนี้ รัฐบาลไต้หวันเยียวยาผู้ประกอบการนำเที่ยวด้วยการจ่ายเงินให้ 30,000 ดอลลาร์ไต้หวันต่อกรุ๊ป บริษัทไหนมีบุ๊กกิ้งอยู่กี่กรุ๊ปเอาหลักฐานมารับเงินชดเชยได้ทันที

โดยตัวเลข 30,000 ดอลลาร์ไต้หวันต่อกรุ๊ปนั้น เป็นตัวเลข “กำไร” ที่เป็นมาตรฐานและเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป ขณะที่ของประเทศไทยรัฐบาลไม่รู้จะเยียวยาอย่างไร เพราะทุกอย่างไม่มีระบบที่เป็นมาตรฐานตอบโจทย์ผู้ประกอบการ-ภาครัฐ

“สุรวัช” ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมอีกว่า ประเด็นเรื่องยกเว้นภาษีแวตนี้เป็นโมเดลที่วงการทัวร์เรียกร้องและอยากให้เกิดนานแล้ว เพื่อให้โครงสร้างธุรกิจนำเที่ยวมีมาตรฐาน ซึ่งตัวเขาเองได้พยายามผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง เพราะมองว่าเป็นโมเดลธุรกิจที่เป็นประโยชน์ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการที่จะได้แข่งขันบนมาตรฐานเดียวกัน

ขณะที่ภาครัฐเองก็สามารถจัดเก็บภาษีได้ ที่สำคัญยังสามารถวางแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนได้อย่างถูกต้องอีกด้วย

“ปัญหาอย่างหนึ่งของการท่องเที่ยวไทยที่มีต่อผู้ประกอบการนำเที่ยวคือ รัฐยังไม่เข้าใจเรื่องของการสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ”

พร้อมทั้งย้ำในตอนท้ายว่า ในจังหวะที่ธุรกิจกำลังประสบกับวิกฤตโควิดในปีนี้จึงน่าจะเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่รัฐควรหันมารื้อระบบ และจัดระเบียบภาคธุรกิจท่องเที่ยวกันใหม่ เพื่อให้ทุกซัพพลายเชนของธุรกิจท่องเที่ยวเข้าสู่มาตรฐานเดียวกัน และสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต