กรรมาธิการท่องเที่ยว ปฏิรูป “ท่องเที่ยวไทย” หลังโควิด

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยอย่างหนักในเวลานี้ อีกกระแสหนึ่งที่เป็นประเด็นร้อนแรงไม่แพ้กันในช่วงที่ผ่านมา คือ ที่มาที่ไป ของ “คณะกรรมาธิการท่องเที่ยว” ในคณะที่มี พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร นั่งเป็นประธาน

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “อนุศักดิ์ คงมาลัย” โฆษกคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว วุฒิสภา ถึงนโยบาย ทิศทาง และแผนการทำงานด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมา และแผนการดำเนินงานรับมือหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไว้ดังนี้

“อนุศักดิ์” บอกว่า ในอดีตภารกิจของคณะกรรมาธิการท่องเที่ยว รวมถึงคณะกรรมาธิการอื่น ๆ ในชุดที่ผ่านมา คือ การติดตาม สอบหา ซักถามข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นที่รับผิดชอบโดยเฉพาะ แต่หลังจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ พ.ศ. 2560 บังคับใช้ คณะกรรมาธิการทุกชุดรวมถึงคณะกรรมาธิการท่องเที่ยวก็มีภารกิจเพิ่มเติมในการดูแลติดตามให้การดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ เป็นไปตามแนวทางการปฏิรูปประเทศตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

และบอกด้วยว่า หลังจากคณะกรรมาธิการท่องเที่ยวชุดปัจจุบันได้ปฏิบัติงานมาประมาณ 7-8 เดือน ผ่านการเข้าไปติดตามและเสนอแนะในประเด็นการปฏิรูปการท่องเที่ยว พบว่ามีหลายโครงการจากหลายหน่วยงานที่แม้จะมีส่วนเกี่ยวข้องทับซ้อนกัน แต่กลับขาดการบูรณาการการทำงานร่วมกัน จนทำให้การปฏิบัติงานไม่ได้ผลและสิ้นเปลืองงบประมาณจากการทำงานซ้ำซ้อน เช่นเดียวกับที่มีโครงการประจำปีหลายโครงการถูกนำมาเสนอในนามของการปฏิรูปประเทศ เนื่องจากข้อจำกัดของงบประมาณ คณะกรรมาธิการจึงได้ติดตาม คัดกรอง และทำข้อเสนอแนะในการปรับปรุงโครงการให้เป็นไปตามแนวทางการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง

สำหรับกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมของคณะกรรมาธิการในช่วงที่ผ่านมานั้น “อนุศักดิ์” แจงว่า การปฏิบัติงานในตำแหน่งกรรมาธิการท่องเที่ยวไม่ได้หมายความว่าจะต้องประกอบกิจการทางด้านการท่องเที่ยวมาก่อน หลายท่านมีความรู้ทางด้านยุทธศาสตร์และความเป็นเหตุเป็นผล สามารถมองในเรื่องยุทธศาสตร์และกลับกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์เหล่านี้ทำให้การทำงานง่ายขึ้น

“เห็นหลายคนเป็นทหารเลยทำให้คนคิดกันไปต่าง ๆ นานา แต่จริง ๆ แล้วคณะกรรมาธิการท่องเที่ยวชุดปัจจุบันมาจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นอดีตผู้ว่าฯ, ตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพชาวนา ฯลฯ ยิ่งไปกว่านั้นการให้คำแนะนำเรื่องการท่องเที่ยวและการบริการ ใคร ๆ ก็สามารถให้ได้ แต่การให้คำแนะนำทางด้านยุทธศาสตร์ก็เป็นเรื่องสำคัญ” อนุศักดิ์ย้ำ

นอกจากนั้น ในการปฏิบัติงานช่วงที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการก็สามารถทำงานร่วมกันได้ดี ทั้งสามารถติดตามและสร้างผลงานในด้านการจัดการการท่องเที่ยว และทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ กล้าที่จะเดินทางเข้ามาพูดคุยกับคณะกรรมาธิการ

โดยนับตั้งแต่เริ่มดำเนินงานมา คณะกรรมาธิการได้เห็นความถดถอยของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างชัดเจนเป็นลำดับ ด้วยผลของสงครามการค้าและความถดถอยของเศรษฐกิจโลก ก่อนที่วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อทั้งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยและโลก ทำให้คณะกรรมาธิการต้องเข้ามามีบทบาทในการกำกับ ดูแล และติดตาม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากเหตุการณ์ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวตกค้าง ผู้ประกอบการท่องเที่ยว หรืออื่น ๆ

ไม่เพียงเท่านี้ คณะกรรมาธิการก็ต้องเริ่มพิจารณาแนวทางการพัฒนาทางด้านการท่องเที่ยวที่จะต้องเปลี่ยนแปลง หลังจากอุตสาหกรรมการเดินทางและการท่องเที่ยวโลกได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 จนเป็นที่แน่นอนแล้วว่าจะต้องเกิดความปกติใหม่ (new normal) ขึ้นในอุตสาหกรรม

โดยที่ผ่านมาเป้าหมายดั้งเดิมตามแผนการปฏิรูปประเทศมุ่งเน้นการใช้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ให้ได้ตามเป้า เพื่อให้ไทยสามารถเจริญเติบโตอย่างมั่งคั่งและยั่งยืน ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตแบบทุนนิยมที่อาจจะไม่สามารถตอบโจทย์ความปกติใหม่

ดังนั้น อาจจะเป็นช่วงเวลาที่จะต้องย้อนกลับมาพิจารณาบนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง และมองหาแนวทางในการรักษาตำแหน่งจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวโลก และหาแนวทางใหม่ให้กับการท่องเที่ยวภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตร การท่องเที่ยวเชิงอาหาร หรือการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่มาพร้อมเรื่องราวและการนำเสนอที่แตกต่างไม่เหมือนกับที่ผ่านมา เช่นเดียวกันกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ และการท่องเที่ยวเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี ที่จะกลายเป็นเทรนด์ใหม่สำหรับตลาดต่างชาติ พร้อม ๆ กับการเยียวยาผู้ประกอบการในทุกระดับ และยกระดับมาตรการดูแลสุขอนามัยและความปลอดภัยในการท่องเที่ยวโดยการจัดทำกลไกการปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมให้พร้อมกับความปกติใหม่ที่กำลังจะมาถึง


“อนุศักดิ์” ได้ย้ำในตอนท้ายด้วยว่า คณะกรรมาธิการท่องเที่ยวเชื่อว่า มีความจำเป็นที่จะต้องเสนอแนะต่อรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ปรับแผนการปฏิรูปประเทศให้สอดคล้องกับความปกติใหม่ หรือ new normal ต่อไป ซึ่งคณะกรรมาธิการจะติดตามสถานการณ์การท่องเที่ยวในระยะถัดไปอย่างใกล้ชิด