หวั่น”ท่องเที่ยว”สตาร์ตไม่ติด หันซบ”ซอฟต์โลน”แบงก์SMEพยุงธุรกิจ

Photo by Jack TAYLOR / AFP

อุตฯท่องเที่ยวหวั่นเครื่องยนต์ดับสตาร์ตไม่ติด ผู้ประกอบการ 13 สาขาวิชาชีพดิ้นซบอกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ “Extra Cash-SMEs One” เอสเอ็มอีแบงก์พยุงธุรกิจ หลังการเจรจาขอผ่อนเกณฑ์การกู้ซอฟต์โลน “ออมสิน” 1 หมื่นล้านไม่คืบ วงในเผยวันนี้ธุรกิจรอไม่ได้ เอ็นพีแอลพุ่ง เครดิตบูโรเน่าสนิท เอสเอ็มอีท่องเที่ยวใกล้หมดลมหายใจ ขณะที่ออมสินเตรียมทบทวนการช่วยเหลืออีกครั้ง

แหล่งข่าวระดับสูงในธุรกิจท่องเที่ยวรายหนึ่งเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั้งระบบประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างหนัก หลายธุรกิจทยอยติดเอ็นพีแอล และอีกจำนวนมากมีปัญหาเรื่องเครดิตบูโรแล้ว เนื่องจากขาดสภาพคล่องกันมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมที่ผ่านมา โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบการต่างหวังว่าจะได้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) จากธนาคารของรัฐบาล ตามนโยบายของรัฐบาลเข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่องในเดือนมีนาคม-เมษายน แต่ปรากฏว่าในความเป็นจริงแล้ว ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจท่องเที่ยวยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ซอฟต์โลนของรัฐบาลแต่อย่างใด

โดยตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้พยายามขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องขอให้รัฐบาลจัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยให้กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวมีเงินทุนมาหมุนเวียนและหล่อเลี้ยงธุรกิจไว้รอในวันที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดยุติ และเกิดการเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลกอีกครั้ง ซึ่งทางกระทรวงการคลังได้มีมติให้ธนาคารออมสินกันสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 2% ต่อปี (2 ปีแรก) จำนวน 1 หมื่นล้านบาท สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว แต่สุดท้ายผู้ประกอบการก็ยังไม่สามารถเข้าหลักเกณฑ์และไม่ผ่านการพิจารณา

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการจำนวนมากต้องดิ้นหาแหล่งเงินกู้ใหม่ โดยมุ่งไปที่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือเอสเอ็มอีแบงก์ โดยทางเอสเอ็มอีแบงก์ได้ออกโปรดักต์ “สินเชื่อรายย่อย Extra Cash” เติมทุน หนุน SMEs ธุรกิจท่องเที่ยวสู้ภัยโควิด-19 สำหรับนิติบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากโควิด อาทิ ธุรกิจทัวร์, โรงแรม/ห้องพัก, สปา, ธุรกิจขนส่งที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจท่องเที่ยว, ร้านอาหาร ฯลฯ โดยให้วงเงินกู้สูงสุด 3 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี (คงที่ 2 ปี) ผ่อนสูงสุด 5 ปี โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

และล่าสุดทางเอสเอ็มอีแบงก์ยังได้ลงบันทึกความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดตั้งกองทุนสินเชื่อ “SMEs One” วงเงินสูงสุด 3 ล้านบาทสำหรับนิติบุคคล และ 5 แสนบาทสำหรับบุคคลธรรมดา อัตราดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อยได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ปลอดภาระเงินต้น 12 เดือน ผ่อนสูงสุด 7 ปี

สอดรับกับนายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแนวโน้มการเข้าถึงซอฟต์โลนของธนาคารออมสินว่า ตลอดเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมา สทท.และตัวแทนสมาคมท่องเที่ยวทั้ง 13 สาขาอาชีพได้เจรจากับทางภาครัฐ และธนาคารออมสิน เพื่อนำเสนอข้อจำกัด ประเด็นปัญหาของภาคธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อขอให้ทางธนาคารออมสินค้าผ่อนกฎเกณฑ์การพิจารณาบางข้อ เพื่อให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเข้าถึงสินเชื่อดังกล่าว กระทั่งขณะนี้มีผู้ผ่านการพิจารณาสินเชื่อเพียง 36 ราย วงเงินไม่ถึง 100 ล้านบาท จากวงเงินทั้งหมดที่รัฐกันไว้ให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยว 1 หมื่นล้านบาท

ชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสทท.

“ตอนนี้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั้งระบบเจ็บหนัก ขาดเงินหมุนเวียน ไม่สามารถชำระหนี้ตามกำหนดเวลาได้ กระทบหนักทั้งเรื่องเครดิตบูโรและเกิดเอ็นพีแอลเป็นจำนวนมาก เรียกว่ารอบนี้เครื่องยนต์ท่องเที่ยวของเราดับแล้วจริง ๆ และเชื่อว่าเมื่อทุกอย่างกลับสู่ปกติ ผู้ประกอบการของเราคงไม่มีแรงรองรับนักท่องเที่ยวได้เหมือนเดิมแน่นอน” นายชัยรัตน์กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อพยุงให้ธุรกิจยังสามารถเดินต่อไปได้ ขณะนี้ผู้ประกอบการทุกแขนงได้หันไปขอสินเชื่อของเอสเอ็มอีแบงก์อีกช่องทางหนึ่งแล้ว

ด้านแหล่งข่าวจากธนาคารออมสินกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวบางส่วนยังเข้าไม่ถึงซอฟต์โลนนั้น เนื่องจากคุณสมบัติไม่ผ่าน ไม่มีเอกสารยืนยันรายได้ หรือชำระภาษี และประวัติการชำระหนี้ไม่ดี เพราะส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีที่ประกอบกิจการแบบตัวบุคคล ไม่ได้จัดตั้งเป็นนิติบุคคลดังนั้นทางภาครัฐจะมีการทบทวนการช่วยเหลือ โดยเบื้องต้นมีแนวคิดว่าอาจจะต้องตั้งกองทุนขึ้นมาดูแลกลุ่มที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบโดยเฉพาะ ซึ่งกันจากวงเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563

“บางรายก็ขาดทุนมาตลอด หรือบางรายบอกว่ามีรายได้เยอะ แต่พอเรียกหลักฐานก็ไม่มีมาแสดง ไม่ลงบัญชีให้ถูกต้อง ไม่มีหลักฐานการเสียภาษี หรือบางรายก็หนักถึงขั้นไม่มีวินัยทางการเงิน พอเข้าช่วงโลว์ซีซั่นก็ปล่อยให้เป็นหนี้ค้าง อย่างหนี้เช่ารถ เป็นต้น พอมีรายได้เข้ามาถึงมาเคลียร์ ซึ่งแบบนี้แบงก์ก็ให้กู้ไม่ได้ จึงต้องมาคุยกันว่าจะใช้กลไกอะไรเป็นตัวช่วยเหลือ” แหล่งข่าวกล่าว