สทน.ขอรัฐอุ้มคนท่องเที่ยว ชี้ธุรกิจเข้าไม่ถึง”ซอฟต์โลน”

ภาพประกอบข่าว : Photo by Jack TAYLOR / AFP

สทน.เสนอรัฐเยียวยาผู้ประกอบการท่องเที่ยวโดยตรง ไม่ต้องรอซอฟต์โลน เผยผ่านมา 5 เดือนธุรกิจไร้กระแสเงินสดหมุนเวียน เข้าถึงซอฟต์โลนไม่ถึง 5% พร้อมหนุนภาครัฐเตรียมแผนฟื้นฟูท่องเที่ยวแบบเจาะจง-เข้าถึงเชื่อมิถุนายนนี้ปลดล็อกท่องเที่ยวแต่คนยังไม่เดินทาง ชี้หากรัฐยังไร้มาตรการเยียวยาสิ้นปีอาจเหลือผู้ประกอบการไม่กี่ราย

ภูริวัจน์ ลิ้มถาวรรัตน์

นายภูริวัจน์ ลิ้มถาวรรัตน์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) เปิดเผยว่า ถึงแม้ขณะนี้จะเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีของการเริ่มต้นผ่อนปรนการท่องเที่ยวภายในประเทศ หลังจากรัฐบาลเริ่มอนุญาตให้สายการบินเปิดให้บริการเส้นทางบินภายในประเทศ มีการปลดล็อกสถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหารบางจังหวัด รวมถึงมีการหารือถึงแนวทางการปลดล็อกการท่องเที่ยวภายในประเทศ พร้อมกับการเข้าสู่เฟสที่ 3ในเดือนมิถุนายนนี้

ประเด็นปัญหาในขณะนี้คือ ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ลากยาวมาหลายเดือน ทำให้ผู้ประกอบการทั้งระบบประสบปัญหาด้านเงินทุนหมุนเวียนอย่างหนัก ดังนั้น จึงอยากให้รัฐช่วยเหลือเยียวยาก่อนที่การเดินทางท่องเที่ยวจะเกิดขึ้นจริงในอีกหลายเดือนข้างหน้า

“ยอมรับว่านับตั้งแต่ปลายปี 2562 ท่องเที่ยวของไทยไม่ได้ดีนัก เมื่อเจอโควิด-19 ยิ่งซ้ำเติมให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวสูญเสียความสามารถในการดำเนินธุรกิจ เพราะขาดกระแสเงินสดหมุนเวียนในธุรกิจ แม้รัฐบาลจะมีความพยายามจะออกมาตรการมาเยียวยาด้วยการออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ผ่านธนาคารของรัฐ แต่มีผู้ประกอบการเข้าถึงมาตรการดังกล่าวไม่ถึง 5% ที่ได้รับประโยชน์จากแหล่งเงินทุนดังกล่าว” นายภูริวัจน์กล่าวและว่า ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวสามารถรักษาธุรกิจไว้ และพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวในช่วงที่มีการปลดล็อกด้านการท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ภาครัฐควรเร่งดำเนินการทั้ง “มาตรการเยียวยา” และ “มาตรการฟื้นฟู”

โดยในระยะที่ 1 ให้มีการอุดหนุนโดยตรงจากรัฐสู่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ เพื่อต่อชีวิตของผู้ประกอบการให้มีกระแสเงินสดไปหมุนเวียนในธุรกิจ ส่วนระยะที่ 2 ให้มีการผ่อนปรนหลักเกณฑ์การเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของรัฐให้กับผู้ประกอบการรายย่อย และระยะที่ 3 ให้ฟื้นฟูภาคธุรกิจท่องเที่ยวโดยการอุดหนุนผ่านนักท่องเที่ยว โดยเจาะจงให้รายได้ดังกล่าวเข้าสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเท่านั้น

“แม้ภาครัฐจะอยากช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวผ่านการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ภายในประเทศ แต่ต้องยอมรับว่านักท่องเที่ยวที่มีความมั่นใจจะออกเดินทางในเดือนมิถุนายนทันทีหลังปลดล็อกอาจมีจำนวนน้อยมาก เนื่องจากปัจจัยด้านสุขอนามัยและการเงิน รวมถึงไม่ใช่กลุ่มที่เดินทางท่องเที่ยวกับบริษัทนำเที่ยว ซึ่งกว่าบริษัทนำเที่ยวจะสามารถกลับมาประกอบกิจการนำเที่ยวได้จริง ๆ อาจจะใช้เวลาถึงไตรมาส 4 แต่ถ้ารอถึงเวลานั้นอาจจะมีผู้ประกอบการท่องเที่ยวเหลืออยู่ไม่กี่รายเท่านั้น และรายที่เหลืออยู่ก็อาจจะมีความพร้อมไม่พอสำหรับการเปิดบริการอีกต่อไป” นายภูริวัจน์กล่าว

นอกจากนี้ รัฐอาจจะต้องกระตุ้นให้เกิดการเดินทางในช่วงแรกผ่านกลุ่มข้าราชการหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยทางการท่องเที่ยวให้กับประชาชน เมื่อประชาชนเห็นตัวอย่างก็จะตัดสินใจออกเดินทางได้ง่ายขึ้น และยังทำให้ช่วงแรกผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้รายได้จากการบริการท่องเที่ยวให้กลุ่มดังกล่าวอีกด้วย

รวมถึงการอุดหนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวผ่านการสนับสนุนให้ประชาชนออกเดินทางท่องเที่ยวต้องทำให้ตรงจุดกว่าโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” หรือโครงการอื่น ๆ ที่ผ่านมา โดยการกำหนดให้สามารถใช้เงินอุดหนุน หรือคูปองดังกล่าวได้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวเท่านั้น

นายภูริวัจน์กล่าวต่อไปอีกว่า ยอมรับว่าตอนนี้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวอยู่ในจุดที่น้อยเนื้อต่ำใจ เพราะแม้จะผ่านมาเป็นเวลา 5 เดือนแล้ว แต่กลับมีผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้รับการเยียวยาในอัตราที่ต่ำมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นเอสเอ็มอี เวลานี้จึงไม่อยากพูดถึงเงินกู้แล้ว แต่อยากให้การอุดหนุนโดยตรงเกิดกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวมากกว่า

โดยที่ผ่านมา ทางสมาคมได้ทำการสำรวจกับลูกค้าทั้งกลุ่มลูกค้าทั่วไปและองค์กรห้างร้าน แล้วเชื่อว่าการเดินทางร่วมกับบริษัทนำเที่ยวจะกลับมาในช่วงปลายปี เนื่องจากการเดินทางเป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับอนุญาตจากภาครัฐ ระหว่างนี้ผู้ประกอบการก็พยายามหาข้อมูลรูปแบบการผ่อนปรนของรัฐว่าจะครอบคลุมรายละเอียดและข้อปฏิบัติอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดใดเปิดเดินทางบ้าง แหล่งท่องเที่ยวใดบ้างที่เปิดให้บริการ และมีระเบียบข้อบังคับอย่างไร

“ที่ชัดเจนแล้วคือ กาญจนบุรีที่มีการแจ้งเปิดร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว และโรงแรม พร้อมข้อกำหนดต่าง ๆ อย่างชัดเจน เช่น ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม ยังไม่เปิดสระว่ายน้ำ ฯลฯ ผู้ประกอบการต้องการความชัดเจน และกำลังหาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อย ๆ ด้วยเชื่อว่าการท่องเที่ยวหลังโควิดจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป โดยหวังว่าภาครัฐจะให้ความสำคัญกับการแจ้งข่าวรายละเอียดเพิ่มเติม” นายภูริวัจน์กล่าว