“กระจ่าง จารุพฤกษ์พันธ์” รวมพลังปลุกเมืองเก่า “สงขลา” ให้มีชีวิต

สัมภาษณ์

เล่ากันว่า เมืองเก่า “สงขลา” เป็นเมืองขนาดใหญ่ เป็นศูนย์กลางการค้าของพ่อค้านักเดินเรือชาวยุโรปและเอเชียเดินทางมาติดต่อค้าขาย และตั้งบ้านเรือนในสมัยกรุงศรีอยุธยาจากที่ตั้งบริเวณหัวเขาแดง อ.สิงหนคร และย้ายมาฝั่งแหลมสน หากย้อนดูประวัติศาสตร์เมือง อายุอานามก็คงไม่ตํ่ากว่า 1,000 ปี แต่หากคำนวณจากระยะการตั้งศาลหลักเมืองอย่างเป็นทางการ ก็พบว่า เมืองแห่งนี้มีอายุอยู่ที่ 175 ปีเรียกว่า เป็นเมืองที่มีตำนาน มีศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ที่น่าศึกษาเรียนรู้ เพราะมีมรดกทางวัฒนธรรมมหาศาล

แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา “เมืองสงขลา” กลับถูกมองข้าม คนทั่วไปมักรู้จัก “หาดใหญ่” มากกว่าสงขลา ตึกรามบ้านช่องในเมืองสงขลาก็เงียบเหงาหลับใหล ไม่มีชีวิตชีวา

“กระจ่าง จารุพฤกษ์พันธ์” นักธุรกิจวัย 77 ปี เจ้าของร้านทองหลายแห่งในจังหวัดสงขลา และอดีตวุฒิสมาชิกจังหวัดสงขลา เล่าให้ฟังว่า เขาเป็นคนชาวอำเภอควนเนียง แต่มีเพื่อนอยู่ที่ถนนนครใน ในเมืองสงขลา เห็นความรุ่งเรืองของเมืองสงขลาในอดีตมาตลอดและได้เห็นภาพของเมืองสงขลาเป็นเมืองที่หลับใหลมานานกว่า 40-50 ปีตึกรามบ้านช่องและบรรยากาศโดยรวมของเมืองสงขลาจะเงียบมาก ร้านค้าไม่ค่อยจะมี บ้านไม่มีคนอยู่ ทั้ง ๆ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรํ่ารวย มีเงินกันทั้งนั้น

“เรามีตำนานเล่าถึงคนสงขลากันว่า เมื่อ 60-70 ปีก่อน คนหาดใหญ่ขับรถเบนซ์มาขอกู็เงิน คนสงขลา ส่วนคนสงขลานั่งรถสองแถว หรือรถไฟไปเก็บดอกเบี้ย คนบนถนนในเมืองทั้ง 3 สายนครนอก นครใน และถนนนางงาม เป็นคนรวยหมด เพราะบริเวณนี้เป็นแหล่งการค้าเมื่อกว่า 100 ปีก่อน”

ภาพที่เราเห็นว่า “สงขลา” เป็นเมืองธุรกิจ เมืองการค้า และเป็น เมืองที่มีตำนานที่ยิ่งใหญ่ในอดีตนั้น ปัจจุบันมันเลือนหายไปอย่างสิ้นเชิง สิ่งที่เห็นคือตึกรามบ้านช่องโทรม ผุพัง ไม่มีคนอยู่ เจ้าของบ้านเริ่มประกาศขายบ้าน ขายตึกเก่า ๆ ทิ้ง เพราะซ่อมแซมลำบาก ซื้อใหมง่ายกว่า และถูกกว่า บ้านเก่า ๆ ถึงถูกปิดทั้งกลางวันและกลางคืนเงียบจนคนเรียกกันว่า “นครนอน” เพราะเมืองหลับใหลและเงียบสนิทจริง ๆ

“กระจ่าง” บอกว่า ตลอดเวลา 40-50 ปีที่ผ่านมา เขาฝังใจมากและบอกตัวเองมาตลอดว่า วันใดที่ลืมตาอ้าปากได้จะมาปลุกเมืองนี้ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งโดยเมื่อสัก 10 ปีย้อนหลัง บ้านช่องในเมืองสงขลาขายถูกมาก และไม่ต้องไปถามซื้อ เจ้าของบ้านคนไหนรู้ว่าใครซื้อบ้าน จะไปถามขายให้ถึงบ้านเลย

“ผมมองว่าไม่มีเมืองไหนเป็นแบบนี้ คือ บ้านหลังหนึ่ง มีถนนผ่าน 2 ด้าน ทั้งข้างหน้า ข้างหลัง ตอนนั้นผมพยายามบอกทุกคนให้เก็บไว้เถอะ เพราะอนาคตมันจะมีคุณค่า ที่สำคัญกว่านั้น ผมกลัวว่าที่ดินมันจะตกไปอยู่ในมือของคนที่ไม่รู้ค่า”

“กระจ่าง” บอกว่า ในที่สุดเขาก็รับซื้อบ้านไว้ในมือหลายหลังพอสมควรเพราะเสียดาย รู้ว่าอนาคตมันมีคุณค่า และราคาก็ถูกมาก เฉลี่ยอยทูี่ 1-2 ล้านบาทต่อหลัง ที่แพงสุดก็ 3 ล้านบาท นี่คือราคาเมื่อ 3 ปีก่อนหน้านี้เท่านั้นเอง พอได้ที่ดินมา “กระจ่าง” บอกว่า เขาก็เริ่มทยอยปรับปรุงและพัฒนาเมืองให้เป็นต้นแบบของนักลงทุนรุ่นใหม่ ๆ ให้เห็นและกลับมาช่วยกันพัฒนาเมืองเก่าสงขลาให้ตื่นจากการหลับใหลและกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

โดยหลังแรกที่ซื้อมาพัฒนา คือ “บ้านนครใน” ที่มีถนนขนาบทั้ง 2 ข้าง และมีตำนานทั้ง 2 ถนน คือ ถนนนครนอกและถนนนครใน ทำเลแบบนี้ถ้าเขาไม่ขาย เรามีเงินก็ซื้อไม่ได้

“บ้านนครใน” แห่งนี้ ถูกสร้างและพัฒนาเป็น “พิพิธภัณฑ์เมืองเก่าสงขลา” แหล่งบันทึกประวัติศาสตร์ศิลปะ วัฒนธรรม และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวสงขลา ไว้ให้ลูกหลานชาวสงขลาและชาวไทยได้ศึกษาเรียนรู้ เปิดให้บริการมา 6-7 เดือนแล้ว ได้รับการตอบรับดีมากทั้งจากชาวสงขลาและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ

จากนั้นได้ลงทุนและพัฒนาบูติคโฮเต็ล ภายใต้ชื่อ “สงขลาแต่แรก” ที่นี่รูปแบบจะเป็นเหมือนบ้านเศรษฐีโบราณ ไม่เหมือนโรงแรม มีห้องพักให้บริการ 23 ห้อง ลงทุนไปทั้งหมดประมาณ 50 ล้านบาท แห่งที่ 3 คือ โรงแรมอาร์ต เป็นการซื้อโรงแรมเก่าที่คนเขาทิ้งแล้วมาพัฒนาเป็นรูปแบบ “อาร์ต โฮเต็ล” จำนวน 41 ห้อง ทุกห้องพักจะถูกตกแต่งด้วยงานศิลปะที่มีความแตกต่างกัน ด้วยความร่วมมือของอาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร

“ตอนนี้ผมทำโรงแรม 3 แห่ง 3 รูปแบบ แล้วก็ชวนคนอื่น ๆ ที่เป็นลูกหลานชาวสงขลากลับมาพัฒนาธุรกิจทั้งโรงแรมขนาดเล็ก ร้านกาแฟ และร้านค้าอื่น ๆ เพื่อปลุกให้สงขลาซึ่งเป็นเมืองเก่าและมีตำนานตื่นจากการหลับใหลอีกครั้ง”

“กระจ่าง” ยังบอกด้วยว่า ความตั้งใจอีกอย่างหนึ่งที่เขาหันมาลงทุนและพัฒนา เพื่อปลุกชีวิตเมืองสงขลาคืออยากให้เมืองเก่าสงขลาเป็นโมเดลต้นแบบการพัฒนาเมืองเก่าในภาคใต้ตอนล่าง ไม่ว่าจะเป็น ปัตตานี, พัทลุง, ตรัง ฯลฯ เพราะจังหวัดในภาคใต้เหล่านี้ล้วนมีวัฒนธรรม ประเพณี และความเป็นอยู่ไม่แตกต่างกัน อายุในการเริ่มตั้งเมืองก็ใกล้เคียงกัน ขนาดเมืองก็เล็ก ๆน่าอยู่ ที่สำคัญ ของทิ้งร้างก็มีอยู่เยอะในทุกจังหวัด

และเมื่อพัฒนาสำเร็จ เมืองเหล่านี้จะกลายเป็น “พิพิธภัณฑ์” ที่มีชีวิตผู้คนที่มาเยือนสามารถสัมผัสของจริงได้เพราะทุกอย่างมันคือของจริงหมดพร้อมทิ้งท้ายด้วยว่า ใครรู้ตัวว่าเป็นลูกเป็นหลานชาวสงขลา ช่วยกลับมาช่วยกันขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองให้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง และควรจะเป็นได้แล้ว เพราะลำพังเขาคนเดียว

คงไม่เพียงพอแน่นอน…