สตาร์ตเครื่องยนต์ท่องเที่ยว ปลุกมู้ด ‘ไทยเที่ยวไทย’ พยุงเศรษฐกิจ

ทะเล ท่องเที่ยวไทย

ค่อนข้างเป็นที่แน่นอนแล้วว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยโดยรวมในปีนี้ รายได้รวมอาจหดตัวเหลือมูลค่าเพียงแค่ 1 ใน 3 ของเป้าหมายรายได้ 3.18 ล้านล้านบาท ที่วางไว้ตั้งแต่ปลายปี 2562 ที่ผ่านมา หรือประมาณ 1.23 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่คาดว่าจะลดเหลือที่ราว 7-8 แสนล้านบาท จากเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวที่ประมาณ 14-16 ล้านคน ที่เหลืออีกราว 4-5 แสนล้านบาทมาจากตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศ

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลกหยุดชะงัก ในช่วงไตรมาส 2-3 ตลาดการท่องเที่ยวภายในประเทศจึงเป็นความหวังเดียวของภาคธุรกิจท่องเที่ยวในเวลานี้

รัฐบาลนำโดยกระทรวงการคลัง, กระทรวงการท่องเที่ยวฯ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงเร่งหารือเพื่อออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ หรือไทยเที่ยวไทย และการบริโภคของคนไทยเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากงบประมาณ 4 แสนล้านบาทตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 1.9 ล้านล้านบาท

กระตุ้นเที่ยวในประเทศ ก.ค.-ต.ค.นี้

“ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวดำเนินการภายใต้โครงการกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยรัฐบาลพยายามจะกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ โจทย์หลักคือ ทำอย่างไรให้คนไทยออกไปเที่ยวกันในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม ตุลาคม 2563 นี้

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าคนไทยเกิดการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ และการส่งสัญญาณให้ต่างประเทศเกิดความเชื่อมั่นด้วย ขณะเดียวกันก็จะช่วยพยุงธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ หากต้องอุดหนุนงบประมาณลงไปทุกซัพพลายเชนที่เกี่ยวเนื่องต้องได้ประโยชน์ร่วมกัน

จากฐานข้อมูลพบว่าในภาคธุรกิจท่องเที่ยวมีการจ้างงานถึง 2.5 ล้านคน อีกทั้งยังส่งโมเมนตัมการเดินทางให้ไปเชื่อมต่อกับช่วงไฮซีซั่นในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ซึ่งจะทำให้ต่อลมหายใจธุรกิจท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักมาตั้งแต่ต้นปีให้เดินต่อไปได้ ดังนั้น มาตรการที่จะออกมาต้องมั่นใจว่า เมื่อออกมาแล้วจะมีการเดินทางข้ามจังหวัด มีการท่องเที่ยว และคุ้มค่ากับงบประมาณที่ใส่ลงไป

ถกด่วนหลักการ-รูปแบบเสนอรัฐ

สำหรับงบประมาณและรูปแบบมาตรการจะออกมา “ยุทธศักดิ์”
บอกว่า ล่าสุดที่ประชุมร่วมกับกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา ยังไม่ได้สรุปเรื่องงบประมาณ ส่วนรูปแบบการดำเนินการต้องหารือร่วมกันว่าจะควรทำอย่างไร เพื่อทำให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งการแจกคูปองเป็นรูปแบบหนึ่งที่มีการพูดคุยกัน แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นกลุ่มที่ภาครัฐตั้งใจให้เกิดการท่องเที่ยวคือ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่มีประมาณ 1.2 ล้านคน ส่วนประชาชนทั่วไป รวมถึงมูลค่าที่รัฐจะส่งเสริมยังไม่มีข้อสรุป

“เรากลับมาทำการบ้านว่าจะทำแบบไหน โดยดูหลาย ๆ แบบเปรียบเทียบดูข้อดี-ข้อเสีย สุดท้ายคือดูความคุ้มค่าของงบประมาณ การกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในประเทศอย่างแท้จริง และนำไปเสนอให้คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ภายใน 12 มิถุนายนนี้” ยุทธศักดิ์อธิบายและว่า ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นซัพพลายเชนที่จะเข้าร่วมโครงการ เบื้องต้นได้กำหนดว่าจะต้องเป็นผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น

พยุงรายได้ท่องเที่ยวปีนี้ 1.23 ล้านล้าน

“ยุทธศักดิ์” ยังคาดหวังด้วยว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นมาตรการที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการบริโภค และทำให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศช่วง 4 เดือนดังกล่าว โดยเฉพาะเดือนกรกฎาคมนี้ที่รัฐบาลกำลังพิจารณาเพิ่มวันหยุดชดเชยที่ยกมาจากช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา

หากมีวันหยุดเพิ่มขึ้นบวกกับแรงกระตุ้นจากภาครัฐน่าจะส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวในปีนี้ไม่ต่ำกว่า 1.23 ล้านล้านบาท ซึ่ง 4-5 แสนล้านบาทจะมาจากในประเทศน่าจะใกล้เคียงความจริงได้มากขึ้น

“ปีนี้เราตั้งเป้านักท่องเที่ยวคนไทยที่ 80-100 ล้านคน-ครั้ง ตอนนี้ได้แล้ว 30-40 ล้านคน-ครั้ง ซึ่งเป็นตัวเลขในช่วง 3 เดือนแรก ดังนั้น เราจึงตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วง 4 เดือนที่ทำแคมเปญนี้ไว้ที่ 10-15 ล้านคน-ครั้งต่อเดือน”

ชี้ 3 ปัจจัยวัดธุรกิจกลับช้า/เร็ว

“ยุทธศักดิ์” เพิ่มเติมอีกว่า สถานการณ์เช่นนี้เป็นภาวะที่ท้าทายมาก เพราะในภาวะปกติช่วงนี้ถือเป็นช่วงโลว์ซีซั่น นักท่องเที่ยวไม่ค่อยเดินทางอยู่แล้ว และยิ่งมาเจอเรื่องโควิด เรื่องเศรษฐกิจ ล้วนส่งผลต่อกำลังซื้อ ขณะที่ประเทศไทยยังต้องอยู่ภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุข จึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อให้ประเทศสามารถผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้

ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าตัวแปรที่สำคัญที่ชี้ว่าการท่องเที่ยวจะกลับมาเร็วหรือช้ามี 3 ปัจจัยหลักคือ 1.สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศ 2.สถานการณ์การแพร่ระบาดของต่างประเทศ เพราะ 2 ใน 3 ของรายได้ท่องเที่ยวมาจากต่างประเทศ และ 3.ความพร้อมของผู้ประกอบการที่ต้องปรับตัว เช่น เรื่องของมาตรฐานด้านสุขอนามัยที่เป็น new normal

แนะใช้บริษัทนำเที่ยวเป็นคนกลาง

แหล่งข่าวในธุรกิจท่องเที่ยวอีกรายหนึ่ง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขอเสนอให้ภาครัฐใช้จ่ายงบประมาณผ่านบริษัทนำเที่ยว ให้บริษัทนำเที่ยวเป็นคนกลางบริหารจัดการ เนื่องจากเป็นตัวแทนของการท่องเที่ยวทั้งหมดอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น บริษัทนำเที่ยวและผู้ประกอบการทุกแขนงที่จะเข้าร่วมโครงการต้องมาลงทะเบียน แล้วจัดสรรงบประมาณลงไปว่าบริษัทนำเที่ยว 1 รายรับงบฯ ได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท ให้กำไร 5% บริษัทนำเที่ยว 1 รายจะมีรายได้จากมาตรการดังกล่าว 5 แสนบาท

แนวทางดังกล่าวนี้จะทำให้บริษัทที่เข้าร่วมโครงการสามารถพยุงการจ้างงานต่อไปได้โดยที่รัฐไม่ต้องออกมาตรการเยียวยา ที่สำคัญจะทำให้สามารถกระจายงบประมาณลงไปในทุกซัพพลายเชนได้ทั่วถึงอย่างแท้จริง

หวังงบฯกระจายไปทุกซัพพลายเชนได้

“ภูริวัจน์ ลิ้มถาวรรัตน์” นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) กล่าวว่า ประเด็นที่ภาคเอกชนคุยกันมาก่อนหน้านี้ว่าสิ่งที่อยากเห็นคือ ทำให้งบประมาณนีลงสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจริง ๆ จะผ่านระบบอะไร อย่างไร จะเป็นรูปแบบคูปองหรือให้เงินกับนักท่องเที่ยวเลยดีหมด แต่ต้องทำให้เข้าถึงภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง

“ข่าวที่ผ่านมาบอกว่า รัฐจะให้คูปองส่วนลดโรงแรม ซึ่งเอกชนคุยกันว่าน่าจะให้กระจายไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ เช่น ร้านอาหาร, แหล่งท่องเที่ยว, ร้านสินค้าชุมชน, สวนสนุก, รถเช่า, บริษัททัวร์ ฯลฯ เรียกว่าให้ให้ครบทุกซัพพลายเชน”

“ภูริวัจน์” ย้ำว่า ภาคเอกชนเห็นด้วยกับภาครัฐที่จะออกมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ แต่ไม่อยากให้เป็นเหมือนโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” เพราะเป็นโครงการที่กระจายงบประมาณสู่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวในสัดส่วนที่น้อยมาก…