เร่งเครื่อง “ไทยเที่ยวไทย” ปลุก “เชื่อมั่น” ดึงต่างชาติเดินทาง

สำหรับในส่วนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานทำการตลาดการท่องเที่ยวของไทยนั้นก็ได้เตรียมพร้อมทั้งในเรื่องของ travel bubble สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และแผนกระตุ้นตลาดการท่องเที่ยวภายในประเทศที่กำลังเดินได้ฤกษ์สตาร์ตเครื่องกันอย่างเต็มที่แล้วเช่นกัน

โดย “ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ให้ข้อมูลว่า จากการพูดคุยเพื่อหาแนวทางการเปิดบินระหว่างประเทศ คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นภายใน 2 สัปดาห์นี้ และน่าจะเปิดบินระหว่างประเทศได้ภายในเดือนกันยายนนี้

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของ ททท.เชื่อว่า นับจากนี้ไปอีก 2 เดือนจะเป็นช่วงเวลาที่นักท่องเที่ยวเชิงธุรกิจกลุ่มแรกจากการเปิดเดินทางด้วยแทรเวลบับเบิล จะสามารถเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยได้ โดย ททท.จะพยายามมอบความปลอดภัยและสุขอนามัยสูงสุดในการเดินทางให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวและสามารถกลับไปอย่างปลอดภัย เช่นเดียวกับดูแลให้คนไทยห่างไกลจากการติดเชื้อใหม่ด้วย

นอกจากนั้นในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ ททท.จะเร่งสนับสนุนให้มีการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อสร้างบรรยากาศทางการท่องเที่ยว และความมั่นใจให้กับนักเดินทางไทยและต่างประเทศในอนาคต ผ่านการหนุนทั้งโรงแรม เอเย่นต์ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางการท่องเที่ยวอื่น ๆ

เร่งฟื้นตลาดใน-นอกประเทศ

ขณะเดียวกัน ททท.ยังมีแผนสำหรับการฟื้นฟูการท่องเที่ยวเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมาย 2 ข้อ คือ 1.มุ่งสร้างงาน รายได้และสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรวมถึงกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนผ่านการท่องเที่ยวภายในประเทศ และ 2.มุ่งสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีอัตราการจับจ่ายใช้สอยสูง กระตุ้นจำนวนและความถี่ในการเดินทางและสร้างสมดุลใหม่ให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

อัด 5 กลยุทธ์ปลุกไทยเที่ยวไทย

โดยมีกลยุทธ์ดังนี้ คือ 1.รีบูต(reboot) กระตุ้นการเดินทางภายในประเทศผ่านการกระตุ้นให้เกิดการเดินทางซ้ำของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มเจนวายผู้ใหญ่ และครอบครัว ให้เดินทางท่องเที่ยวในท้องถิ่นมากขึ้น

2.รีบิลด์ (rebuild) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว และพัฒนาสินค้าทางด้านการท่องเที่ยวให้มีคุณค่ามากขึ้นผ่านการสร้างสิ่งใหม่ แก้ปัญหาในอดีตของฝั่งอุปทาน และหันมาให้ความสำคัญกับดิจิทัลในการทำโปรโมตท่องเที่ยว

3.รีแบรนด์ (rebrand) สร้างภาพลักษณ์ใหม่เพื่อสร้างความมั่นใจการท่องเที่ยวและยังคงรักษาอันดับในใจของนักท่องเที่ยวให้อยู่อันดับต้น ๆ และสร้างความมั่นใจให้แบรนด์อเมซิ่งไทยแลนด์

4.รีบาวนด์ (rebound) กระตุ้นการท่องเที่ยวในนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีศักยภาพ โดยการเจาะกลุ่มรายได้สูงอย่างกลุ่มไฮเอนด์ กลุ่มท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ และกลุ่มนักท่องเที่ยวใหม่ที่พร้อมจ่ายเพื่อความปลอดภัย

และ 5.รีบาลานซ์ (rebalance)สร้างสมดุลทางการท่องเที่ยวใหม่อย่างยั่งยืน ผ่านการมุ่งเน้นการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ รวมถึงหันมาให้ความสำคัญกับพื้นที่และเวลามากขึ้นเพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

ต้องปรับตัวทั้งอุปสงค์-อุปทาน

“ยุทธศักดิ์” บอกด้วยว่า จุดขายสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยกลับมาแข็งแกร่งและยั่งยืน มีอยู่ 3 ข้อ ได้แก่ ความปลอดภัย ความคุ้นเคยและความสวยงาม ซึ่งทุกข้อจะกลายเป็นคีย์ของการท่องเที่ยวนับจากนี้ โดยในฝั่งของอุปสงค์ (ดีมานด์) จะเกิดความปกติใหม่หลายข้อที่ผู้ประกอบการจะต้องหันมาให้ความสำคัญเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบพฤติกรรมการจองล่วงหน้าความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม ฯลฯ

ในขณะที่ฝั่งอุปทาน (ซัพพลาย) ก็จะต้องหันมาให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนโมเดลในการทำงานใหม่ หารูปแบบที่ตรงกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว และสถานการณ์ในอนาคตมากขึ้น รวมถึงจะต้องเร่งรีสกิลให้กับบุคลากรในองค์กร และสร้างสมดุลในธุรกิจใหม่ ลดความเสี่ยงจากการจับธุรกิจประเภทใดประเภทหนึ่ง หรือตลาดใดตลาดหนึ่งเป็นหลักและมองว่า แม้สถานการณ์โควิด-19ทั่วโลกจะยังไม่สงบลง และยังส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวทั่วโลก แต่อนาคตก็ยังคงอยู่ในมือเรา พวกเราสามารถลงมือเพื่อดูแลฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยขึ้นมาใหม่ร่วมกันได้