ท่องเที่ยวจี้เปิด Travel Bubble แนะใช้โมเดล ‘คลัสเตอร์’ กระตุ้นเศรษฐกิจ

บิ๊กวงการธุรกิจท่องเที่ยววอนรัฐพิจารณาเปิด travel bubble รับนักเดินทางต่างชาติแบบจำกัดจำนวน-จำกัดพื้นที่ ชี้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมต่อลมหายใจให้ธุรกิจโดยรวม-ภาคการท่องเที่ยว สมาคมแอตต้าเผยบริษัททัวร์พร้อมดูแลนักเดินทางต่างชาติทุกรูปแบบ-ครบวงจรแบบมีมาตรฐาน ตรวจสอบได้ ด้าน ททท.แนะผู้ประกอบการปรับตัวด่วน อย่าหวังน้ำบ่อหน้า อย่ารอฝนตกให้ทั่วฟ้าให้โฟกัสตลาดในประเทศ

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่นจำกัด (AAV) ผู้ดำเนินธุรกิจสายการบินไทยแอร์เอเชีย และไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เปิดเผยว่า ยอมรับว่ารายได้หลักของธุรกิจท่องเที่ยว รวมถึงสายการบินส่วนใหญ่มาจากตลาดต่างประเทศ หากรัฐบาลยังไม่มีนโยบายเปิดน่านฟ้าในเร็ววันนี้ อาจทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศพังทั้งระบบได้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสายการบิน, โรงแรม, ร้านอาหาร, สถานที่ท่องเที่ยว ฯลฯ

วอนรัฐเปิด Travel Bubble ด่วน

ดังนั้น จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องเปิดประเทศแบบเร่งด่วน โดยพิจารณาภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการเปิดแบบจำกัดจำนวนคนเข้า หรือที่เรียกว่า travel bubble ซึ่งในรูปแบบแทรเวลบับเบิลนี้ก็ควรพิจารณาในเชิงลึกบ้างว่า เปิดอย่างไรในแต่ละสเต็ป

“ผมว่าสถานการณ์ในตอนนี้ เราสามารถเปิดประเทศ หรือเปิดน่านฟ้าได้แล้ว จะเปิดนิดเปิดหน่อยก็ดีต่อระบบเศรษฐกิจทั้งหมด โดยเฉพาะในภาคส่วนของธุรกิจโรงแรม เพราะขณะนี้ในทำเลที่เป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต, สมุย, กระบี่ ฯลฯ ซึ่งต้องอาศัยนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 80-90%หากเราไม่คลายล็อกให้ต่างชาติเดินทางเข้ามาได้บ้าง ไม่มีทางฟื้นได้แน่นอน”นายธรรศพลฐ์กล่าว

แนะไล่เปิดเป็น “คลัสเตอร์”

อย่างไรก็ตาม หากรัฐยังมองว่าการเปิดประเทศยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด รัฐก็ควรพิจารณาหาจุดตัดระหว่างเศรษฐกิจกับสุขภาพให้ได้ว่า ควรมีจุดตัดกันตรงไหน หรือควรมีคลัสเตอร์ของแทรเวลบับเบิลอย่างไร หรือหากไม่สามารถเปิดแทรเวลบับเบิลทั่วประเทศได้ ก็ควรเปิดเฉพาะเมืองที่มีความปลอดภัยก่อนหรือไม่ เนื่องจากขณะนี้สนามบินนานาชาติทั่วโลกหลายแห่งเริ่มทยอยเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่ 1 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป ดังนั้นประเทศไทยก็ควรเปิดเช่นกัน

“สำหรับธุรกิจสายการบินของไทยในวันนี้ ผมว่าได้ผ่านจุดที่ต่ำสุดไปแล้ว ก่อนหน้านี้เราไม่ได้บินเลย เครื่องทั้งหมดที่มีอยู่ 60 ลำ จอดนิ่งสนิท วันนี้เราเริ่มเปิดให้บริการในบางจังหวัดแล้ว แต่ดีมานด์ยังมีไม่มากนัก ตอนนี้เราใช้เครื่องบินแค่ 15 ลำ หรือประมาณ 25% ของทั้งหมดเท่านั้น วันนี้เรากำลังรอทุกอย่างให้ดีขึ้น และก็เชื่อว่าทุกอย่างคงเริ่มดีขึ้นทีละนิด และไม่ต้องหวังว่าปีนี้จะกลับมาดีเหมือนเดิมได้ ดังนั้นเราต้องทำตัวเล็ก ๆ แล้วค่อยโตขึ้นมาใหม่” นายธรรศพลฐ์กล่าว

แอตต้าเสนอให้บริษัททัวร์จัดการ

เช่นเดียวกับ นายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ผู้ดูแลตลาดนักท่องเที่ยวขาเข้า (อินบาวนด์) ที่กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ต่ำสุดของตลาดนักท่องเที่ยวขาเข้า แต่ก็พอมีความหวังบ้างหลังจากที่รัฐบาลปลดล็อกให้มีการเดินทางภายในประเทศได้แล้ว โดยหวังว่ารัฐน่าจะเปิดสนามบินให้เกิดการเดินทางระหว่างประเทศได้ในเร็ว ๆ นี้

“ตอนนี้มีหลายประเทศที่ปลอดภัยแล้ว อาทิ กลุ่มประเทศในอาเซียน, ไต้หวัน, เกาหลี, ญี่ปุ่น, ยุโรป (บางเมือง) หรือแม้แต่ประเทศจีน 31 มณฑลนั้น พบว่า มีมากกว่า 20 มณฑลที่ไม่พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่มาเกิน 30 วัน อาทิ กว่างโจว, ไหหลำ, คุนหมิง, เฉิงตูเป็นต้น

“ตอนนี้เราได้หารือกับภาครัฐ ทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวฯ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ถึงแนวทางการเปิด travel bubble หรือเปิดประเทศแบบจำกัดจำนวน จำกัดพื้นที่ โดยเสนอให้เดินทางผ่านบริษัทนำเที่ยว เพื่อให้ประเทศไทยสามารถบริหารจัดการ และควบคุมการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ ซึ่งบริษัททัวร์ที่ทำอินบาวนด์ทั้งหมดมีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวเต็มที่อยู่แล้ว” นายวิชิตกล่าว

ท่องเที่ยวไม่กลับมาเหมือนเดิม

ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า วิกฤตของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดครั้งนี้หนักหนามาก โรงแรมทั่วประเทศมีอัตราการเข้าพักเหลืออยู่เพียงแค่ 0-5% ขณะที่ค่าเฉลี่ยการเข้าพักทั่วประเทศที่จะทำให้โรงแรมไม่ขาดทุนอยู่ที่ราว 28-29% ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดขณะนี้คือ ผู้ประกอบการต้องช่วยตัวเองก่อน ต้องปรับตัว สร้างสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมา เช่น ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย, ต้องบริหารความเสี่ยง พึ่งพาตลาดต่างประเทศให้
น้อยลง เป็นต้น

“แม้ว่ารัฐจะเปิดประเทศ แต่นับจากนี้ธุรกิจท่องเที่ยวจะไม่เหมือนเดิมแน่นอน นักท่องเที่ยวจะยังไม่เดินทางเข้ามาเดือนละ 3-4 ล้านคนเหมือนก่อนหน้าโควิดอีกต่อไป ดังนั้น เราต้องปรับตัวด้วยการกระตุ้นการเดินทางภายในประเทศ” นายยุทธศักดิ์กล่าว

อย่าหวังน้ำบ่อหน้า-ฝนตกทั่วฟ้า

ดังนั้น อยากแนะนำผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่เป็นเอสเอ็มอี ในเรื่องหลัก ๆคือ อย่าหวังน้ำบ่อหน้า ไม่ต้องเผื่อใจว่า เดี๋ยวนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมา เพราะยังไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไหร่ โดยจากรายงานขององค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ หรือ UNWTO ได้ประเมินสถานการณ์การเดินทางทั่วโลกว่า กรณีเลวร้ายที่สุดคือทั่วโลกเริ่มมีการเดินทางท่องเที่ยว จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศสำหรับปีนี้ลดลงไปถึง 80%

นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า จากการคาดการณ์ดังกล่าวนี้ จึงอยากให้ผู้ประกอบการมีความหวังกับน้ำในบ่อที่มีอยู่แล้ว คือ การท่องเที่ยวภายในประเทศแทน โดยเฉพาะกลุ่มคนไทยที่นิยมเดินทางต่างประเทศ และมีการใช้จ่ายถึงราว 4.4 แสนล้านบาทต่อปี ให้หันกลับมาเที่ยวภายในประเทศแทนและอย่ารอฝนตกให้ทั่วฟ้า เพราะรัฐบาลมีหลายภาคส่วนที่ต้องดูแล ที่สำคัญ การรอให้รัฐช่วยเหลือ ไม่ได้ทำให้ธุรกิจเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้เร็วและช่วยตัวเอง และทำให้ตัวเองกลับมาเข้มแข็งและแกร่งกว่าเดิม