“พิพัฒน์” ลุย Travel Bubble จ่อเปิด “ภูเก็ต-กระบี่-สุราษฎร์ฯ” รับต่างชาติ

หลังจากกล้า ๆ กลัว ๆ มาพักใหญ่ ล่าสุดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เตรียมพร้อมเดินหน้าเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในรูปแบบ travel bubble แล้ว

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมสัมภาษณ์ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ถึงแนวทางการเปิด travel bubble รวมถึงแผนการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อให้บรรลุเป้าหมายรายได้1.23 ล้านล้านบาทไว้ดังนี้

“พิพัฒน์” บอกว่า แม้ว่าหลายฝ่ายจะยังคงกังวลว่าจะมีการระบาดระลอก 2หากมีการเปิด “แทรเวลบับเบิล” (travel bubble) แต่เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิด และเพื่อบรรลุเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยว1.23 ล้านล้านบาท กระทรวงการท่องเที่ยวฯจึงจะเดินหน้าผลักดันการเปิดแทรเวลบับเบิลในเดือนกันยายนนี้เพื่อสร้างให้เกิดรายได้นักท่องเที่ยวอย่างน้อย 2 แสนล้านบาท ก่อนโรงแรมจะทยอยขาดทุนและต้องปิดตัวกว่า 60% ในสิ้นปีนี้

โดยรูปแบบของ “แทรเวลบับเบิล” ที่กระทรวงเสนอจะจำกัดพื้นที่เดินทางของนักท่องเที่ยวให้อยู่ภายในจังหวัดนำร่องจนครบ 14 วัน ผ่านการตรวจสอบการติดเชื้อจากประเทศต้นทาง 1 ครั้ง ก่อนเข้าพรมแดนประเทศไทย 1 ครั้ง และหลังจากครบ 14 วันอีก 1 ครั้ง ว่าปลอดเชื้อจึงจะออกเดินทางจากพื้นที่ที่จำกัดออกสู่พื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทยต่อไปได้

นอกจากนั้นยังกำหนดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเป็นกลุ่มอาจผ่านเอเย่นต์เครื่องบินเช่าเหมาลำ เพื่อให้สะดวก ปลอดภัย และควบคุมการกักกันเชื้อได้และส่งต่อไปสู่จังหวัดที่กำหนดด้วยรถที่กำหนด

“พิพัฒน์” บอกว่า ขณะนี้มีจังหวัดที่สนใจเข้าร่วมโครงการและผ่านการประชาพิจารณ์เกิน 80% แล้วหลายจังหวัด อาทิ ภูเก็ต, เกาะพีพี (กระบี่), เกาะสมุย, เกาะพะงัน, เกาะเต่า, และเกาะนางยวน (สุราษฎร์ธานี) ซึ่งแต่ละจังหวัดล้วนอาศัยรายได้จากการท่องเที่ยว

“แค่ภูเก็ตมีรายได้จากการท่องเที่ยวปีละกว่า 4 แสนล้านบาท เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่ามีรายได้จากการท่องเที่ยวปีละกว่า 2 แสนล้านบาทรวมกัน 2 จังหวัดก็มากกว่า 7-8แสนล้านบาท”

ทั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะเตรียมข้อมูลเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจ คณะรัฐมนตรีอีกครั้ง หลังจากถูกเลื่อนมาเมื่อครั้งก่อน นอกจากนั้นในระยะที่ 2 คาดว่าจะสามารถขยายพื้นที่นำร่องออกไปสู่จังหวัดอื่น ๆ โดยมีถึง 8 จังหวัดที่เสนอตัวเข้ารับนักท่องเที่ยวแล้ว ได้แก่ กรุงเทพฯ, พัทยา (ชลบุรี), เชียงใหม่, เชียงราย ฯลฯ

“ตอนนี้สมาคมทางด้านธุรกิจของผู้ประกอบการสหรัฐอเมริกาในไทยแจ้งว่าพร้อมที่จะส่งนักท่องเที่ยวไฮเอนด์เข้าสู่ประเทศไทยทันทีที่ไทยเปิดเข้าสู่ประเทศ เช่นเดียวกับที่กงสุลมาเลเซียที่แสดงความต้องการจะเปิดแทรเวลบับเบิลกับประเทศไทย เชื่อว่าในช่วง 4 เดือนนี้หากเปิดได้ภูเก็ตก็จะสามารถต้อนรับนักท่องเที่ยวไฮเอนด์ได้กว่า 2 แสนคน”

จำเป็นต้องเปิดประเทศ

“พิพัฒน์” อธิบายว่า หากปิดประเทศไปจนถึงช่วงสิ้นปี 2563 เศรษฐกิจไทยย่อมได้รับผลกระทบอย่างหนัก และหากปล่อยให้ร่วงลงไปจนสุดก็อาจยากในการฟื้นคืนให้กลับมาในจุดเดิม โดยเฉพาะการสูญเสียงานของแรงงานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ จึงเชื่อว่าการพยุงเอาไว้ไม่ให้ภาวะเศรษฐกิจดิ่งลงไปถึงที่สุดน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดและเชื่อว่าถ้าไทยยังคงยืนยันไม่เปิดประเทศ หนี้เสียจะตามมามหาศาล แม้จะสวนทางกับแนวทางป้องกันโรค แต่ก็จำจะต้องเดินหน้าต่อทางเศรษฐกิจไม่เช่นนั้นทั้งประชาชนและสถาบันทางการเงินจะต้องรับผลกระทบอย่างรุนแรง

และอาจตายกันหมด และยากมาก ๆ ที่ไทยจะสามารถบรรลุเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยว 1.23 ล้านล้านบาทได้

“พิพัฒน์” ยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมอีกว่า ไม่เพียงเท่านี้ โครงการเที่ยวปันสุขระยะที่ 2 จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากคาดว่าเงินงบประมาณในส่วนของมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน”ราว 1.8 หมื่นล้านบาท จากวงเงินงบประมาณรวมทั้งหมด 2.24 หมื่นล้าน จะใช้ไม่หมดในระยะแรก และจะเหลืออย่างน้อย 50% โดยกระทรวงจะเสนอให้นำเงินงบประมาณก้อนที่เหลือกลับเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อขอต่อโครงการในระยะที่ 2 ต่อไป ซึ่งเชื่อว่าจะทราบภายใน 1 สัปดาห์หลังเปิดให้ลงทะเบียน 15 กรกฎาคมนี้

ในขณะที่โครงการ “กำลังใจ” สำหรับสนับสนุนการเดินทางของ อสม.คาดว่าจะใช้งบประมาณที่กันไว้หมด แต่ถ้าหากไม่หมดตามที่คาดไว้ก็จะเปิดระยะที่ 2 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์อื่น ๆ ต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงได้สรุปผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการดำเนินโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวไว้ว่า โครงการ “กำลังใจ” จะก่อให้เกิดรายรับทางเศรษฐกิจ 15,889.22 ล้านบาท และก่อให้เกิดการจ้างงานภายใต้โครงการ 36,738 คน ส่วนโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ก่อให้เกิดรายรับทางเศรษฐกิจ 123,850.36 ล้านบาทและก่อให้เกิดการจ้างงานภายใต้โครงการ 225,868 คน รวมทั้ง 2 โครงการก่อให้เกิดรายรับทางเศรษฐกิจ 139,739.58 ล้านบาท และก่อให้เกิดการจ้างงานภายใต้โครงการรวม 262,606 คน