ชงต่อ “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 2 ดันเที่ยว”เมืองรอง-วันธรรมดา” ส.ค.นี้

เราเที่ยวด้วยกัน

“รมว.พิพัฒน์” เตรียมชงต่อโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 2 เข้า ครม.สิงหาคมนี้ พร้อมสั่ง ททท.ตรวจเข้มตัดสิทธิ์โรงแรมขายเกินราคา เอาเปรียบผู้บริโภค ด้าน ททท.รับลูกเร่งตรวจสอบ พร้อมดันเพิ่มความถี่เที่ยวในประเทศ ด้านสมาคมท่องเที่ยวภายในประเทศเผยมาตรการที่ออกมายังช่วยเหลือไม่ทั่วถึง เที่ยวในประเทศยังไม่กระเตื้อง วอนรัฐผลักดันหน่วยงานในสังกัดสัมมนาทั่วประเทศในไตรมาสสุดท้ายนี้

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า หลังจากเปิดตัวโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ระยะที่ 1 ไปแล้ว ขณะนี้ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯเตรียมเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อขอนำวงเงินงบประมาณที่คาดว่าจะเหลือไปทำโครงการเที่ยวด้วยกันต่อในระยะที่ 2 โดยจะอุดหนุนพิเศษเพิ่มจาก 40% เป็น 60% ในกลุ่มเที่ยวเมืองรองและเที่ยววันธรรมดาต่อไป

ลุ้นต่อ “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 2

ทั้งนี้ คาดว่าน่าจะนำเสนอให้พิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในเดือนสิงหาคมนี้ นอกจากนั้นยังเชื่อว่าหากไม่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระลอกที่ 2 การเปิดท่องเที่ยวระหว่างประเทศน่าจะสามารถทำได้เร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ตาม ยังคงอยู่กับความพร้อมของประเทศและคนไทย

“ตอนนี้ได้รับรายงานว่า มีโรงแรมที่พักที่เข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ปรับราคาค่าเข้าพักไม่เป็นธรรม กำหนดราคาขายสำหรับที่พักที่จองโดยตรงผ่านเว็บไซต์โครงการในราคาสูงกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ จึงได้สั่งให้ ททท.ตรวจสอบและสั่งการให้คัดโรงแรมกลุ่มดังกล่าวออกจากโครงการ พร้อมทั้งขึ้นบัญชีดำไม่อนุญาตให้เข้าร่วมโครงการในระยะต่อไป” นายพิพัฒน์กล่าว

และว่า ขณะนี้กระทรวงได้มีคำสั่งให้หารือภาคเอกชนตรวจสอบราคาที่พักที่ได้ส่งเข้ามาให้เป็นไปตามเงื่อนไขของการเข้าร่วมโครงการ กล่าวคือ ราคาที่ขายผ่านเว็บไซต์ในโครงการจะต้องไม่สูงกว่าราคาในแพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้าท่องเที่ยวออนไลน์ หรือ OTA ในสินค้าเดียวกัน และช่วงเวลาเดียวกัน และต้องไม่มีการเก็บค่าบริการอื่น ๆ นอกจากที่ได้ตกลงกันไว้กับ OTA

ลงดาบขายที่พักแพงกว่า OTA

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ณ วันที่ 19 กรกฎาคม 2563 มีจำนวนผู้ลงทะเบียนรับสิทธิในโครงการเราเที่ยวด้วยกันแล้ว 4.1 ล้านคน ผ่านการ

ตรวจสอบรับสิทธิแล้ว 3.9 ล้านคน อีก 200,000 คนอยู่ระหว่างการตรวจสอบของกรมการปกครอง โดยมีจำนวนการจองโรงแรมที่พักแล้ว 86,960 ห้อง และพบปัญหาราคาที่พักปรับสูงขึ้นกว่าปกติในหลายโรงแรม จากโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการ 5,000 แห่ง

โดย ททท.เปิดช่องทางให้ประชาชนแจ้งปัญหาเกี่ยวกับการใช้บริการและการเอาเปรียบจากผู้ประกอบการผ่านทางเว็บไซต์เราเที่ยวด้วยกัน และฮอตไลน์สายด่วนของ ททท. หากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขจะถอดถอนสิทธิในการเข้าร่วมโครงการ และหากประชาชนชำระค่าที่พักไปแล้วจะต้องคืนเงินเต็มจำนวน เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการเอารัดเอาเปรียบประชาชนผ่านโครงการของรัฐ

โลเกชั่น “ทะเล” ฮอตฮิต

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในเวลาอันใกล้ อุปสงค์ (ดีมานด์) จริงจะชัดเจนมากขึ้น และทำให้ราคาขายใน OTA เปลี่ยนแปลงตามกลไกราคา โดยพื้นที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมในโครงการมากในระยะพักค้าง 1 คืน คือ พื้นที่ฝั่งทะเลตะวันตกและทะเลตะวันออก ส่วนพื้นที่ที่ได้รับความนิยมมากในระยะพักค้าง 2 คืนขึ้นไป คือ พื้นที่ทะเลใต้ โดยมีจังหวัดกระบี่เป็นพื้นที่ที่ได้รับความนิยมสูงสุด

“แม้ว่า 8 หมื่นกว่าห้องพักจะไม่ใช่จำนวนมากนัก แต่ก็ถือว่าสามารถสร้างโมเมนตัม ทำให้เกิดการขยับของการท่องเที่ยวภายในประเทศได้”

นายยุทธศักดิ์กล่าวด้วยว่า ททท.รับทราบปัญหาต่าง ๆ ผ่านทางโซเชียลมีเดียบ้าง และทราบว่าราคาขายที่เป็นข้อพิพาทไม่ได้สูงมาก จึงอาจสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนระมัดระวังในการใช้จ่ายอย่างสูง ททท.จึงเตรียมที่จะผลักดันให้ประชาชนคนไทยให้เพิ่มความถี่ในการเดินทาง หลังจากที่ยังไม่อาจคาดเดาได้ว่าการเดินทางระหว่างประเทศจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อย่างไรก็ตาม คาดว่าอาจจะได้เห็นในไตรมาสที่ 4

ยันความช่วยเหลือไม่ทั่วถึง

ด้านนายภูริวัจน์ ลิ้มถาวรรัตน์ นายกสมาคมท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) กล่าวว่า โรงแรมที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” นี้ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมในเมืองท่องเที่ยวหลัก เนื่องจากเป็นโครงการที่เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับกลางถึงระดับบน ส่วนโรงแรมเล็ก ๆ ในพื้นที่เมืองเล็กจึงไม่ได้รับผลประโยชน์มากนัก

“ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผู้ประกอบการท่องเที่ยวแค่บางกลุ่มที่ได้ประโยชน์โดยตรงจากโครงการนี้ หรืออาจประมาณได้ว่ามีเพียง 20% จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยทั้งหมดเท่านั้น” นายภูริวัจน์

กล่าวและว่า ในส่วนของผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวภายในประเทศ (บริษัททัวร์)จึงคาดหวังจากโครงการกำลังใจมากกว่าเนื่องจากได้รับผลประโยชน์โดยตรง แต่ก็ยอมรับว่ามีผู้ประกอบการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่ถอดใจไปแล้ว จากทั้งปัญหาทางด้านการเงินของบริษัท รวมถึงงบประมาณต่อหัวสำหรับกลุ่ม อสม.ที่ค่อนข้างน้อย

โดยขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมเพียง 700-800 บริษัท ทาง สทน.ตั้งเป้าดึงผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวภายในประเทศอย่างน้อย 6,000 บริษัท จากกว่า 12,000 บริษัท เข้าร่วมโครงการ ก่อนจะหมดเขตลงทะเบียน 25 กรกฎาคมนี้

วอนรัฐหนุนเดินทางเป็นหมู่คณะ

“หากจำนวนผู้เข้าร่วมลงทะเบียนในโครงการน้อยกว่าที่คาด อาจสะท้อนให้เห็นว่าช่วงที่ผ่านมามีผู้ประกอบการล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งอีก 1 เดือนถัดไปจะทราบว่า โครงการสอดคล้องกับวัตถุประสงค์หรือไม่ ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบและนำวงเงินงบประมาณที่เหลือไปทำอะไรเพิ่มเติมบ้าง โดยคาดว่า อสม.จำนวน 1.2 ล้านคนนั้น จะมีผู้เข้าร่วมโครงการราว 6 แสนคน”

นายภูริวัจน์กล่าวต่อไปอีกว่า ยอมรับว่าโครงการกระตุ้นท่องเที่ยวภายในประเทศของรัฐบาลอาจไม่ได้ช่วยให้การท่องเที่ยวกระเตื้องขึ้นเท่าไรนัก ที่สำคัญ ธุรกิจนำเที่ยวกว่า 80-90% ทำตลาดอินเซนทีฟ ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมเดินทาง ดังนั้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้จึงอยากขอให้รัฐบาลสนับสนุน โดยมีคำสั่งให้หน่วยงานของรัฐทั่วประเทศออกประชุมสัมมนาผ่านบริษัทนำเที่ยว