ทอท.อนุมัติขยายเวลาสัมปทาน “คิง เพาเวอร์” อีก 1 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2563 เรื่อง การขยายระยะเวลาการปรับปรุงตกแต่งพื้นที่, การเลื่อนระยะเวลาประกอบกิจการ และกำหนดแนวทางการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ ของสัญญาให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ กับ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (KPD) และ บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด (KPS) เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่บาดของโควิด-19

ทอท.แจ้งว่าจากที่คณะกรรมการ ทอท. มีมติเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2562 อนุมัติผลการประมูลให้บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (KPD) ได้รับสิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) และสิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด (KPS) ได้รับสิทธิประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ทสภ. โดยมีกำหนดระยะเวลา ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2574

โดยตามแผนงาน KPD และ KPS จะใช้ระยะเวลาในการเตรียมการเพื่อติดต่อคู่ค้าและปรับปรุงตกแต่งพื้นที่ มีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่ปลายปี 2562 และเริ่มประกอบกิจการ และตามสัญญาโดยต้องชำระค่าตอบแทนขั้นต่ำตามเงื่อนไขสัญญาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 แต่เนื่องจากได้เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2563 เป็นต้นมา แต่ละประเทศทั่วโลกมีมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาด และการปิดประเทศ ขณะเดียวกันประเทศไทยก็ได้มีมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ KPD และ KPS ไม่สามารถติดต่อประสานกับบริษัทคู่ค้าเพื่อเตรียมเข้าประกอบกิจการตามกำหนดการที่วางแผนไว้เดิม

รวมทั้งไม่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการก่อสร้าง และปรับปรุงตกแต่ง พื้นที่ประกอบกิจการได้ส่งผลกระทบต่อวันเริ่มประกอบกิจการ ซึ่งจะต้องชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำตามที่ KPD และ KPS ได้ยื่นเสนอต่อ ทอท. โดยค่าผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าวคิดคำนวณจากประมาณอัตราการเติบโตของผู้โดยสารในปีที่เข้าประกอบกิจการ (ปี 2564) ประกอบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ ทอท. ต้องเลื่อนการเปิดใช้อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ทสภ. ซึ่งเป็นพื้นที่ประกอบกิจการส่วนหนึ่งของ KPD และ KPS จากเดิมซึ่งคาดว่าจะเปิดใช้งานได้ในเดือนตุลาคม 2564 เป็นเดือนตุลาคม 2565 KPD และ KPS จึงได้มีหนังสือขอให้ ทอท.พิจารณาให้ความช่วยเหลือในสถานการณ์ดังกล่าว

ดังนั้นที่ประชุมคณะกรรมการ ทอท. เมื่อวันพุธที่ 17 มิถุนายน 2563 และเมื่อวันพุธที่ 29 กรกฎาคม 2563 มีมติดังนี้ 1.อนุมัติให้ขยายระยะเวลาการปรับปรุงตกแต่งพื้นที่ และเลื่อนระยะเวลาการเริ่มต้นและสิ้นสุด ของการอนุญาตประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) ให้กับ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (KPD) และอนุญาตให้การประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ทสภ. ของบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด (KPS) ดังนี้

ขยายระยะเวลาของขั้นตอนการดำเนินการปรับปรุงก่อสร้างตกแต่งที่กำหนดไว้เดิมในระยะที่ 1 ออกไปอีก 1 ปี เป็นตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 และเลื่อนระยะเวลาการเริ่มต้น และสิ้นสุดการประกอบกิจการที่กำหนดไว้เดิมในระยะที่ 2 เป็นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2575 โดยหาก ทอท. เปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1ฯ อย่างเป็นทางการเมื่อใด KPD และ KPS จะต้องจัดให้มีร้านค้าเปิดให้บริการแก่ผู้โดยสารภายในอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1ฯ อย่างเหมาะสม โดยไม่ส่งผลกระทบกับการให้บริการในภาพรวมของ ทสภ.

2.ทอท.สงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงการขยายระยะเวลาการปรับปรุงตกแต่งพื้นที่ และเลื่อนระยะเวลาการประกอบกิจการฯ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และพื้นที่การเปิดให้บริการของแต่ละท่าอากาศยาน

3.ให้ฝ่ายบริหาร ทอท. แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อเจรจาเงื่อนไขในการขยาย และเลื่อนระยะเวลาให้กับ KPD และ KPS ตามหลักการข้างต้นและเป็นไปตามเงื่อนไขสัญญา โดย ทอท.ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานฯ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 และจากการเจรจาระหว่างคณะทำงานฯ กับ KPD และ KPS เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 ผลปรากฎว่า KPD และ KPS ยินดียอมรับในผลการพิจารณาตามมติคณะกรรมการ ทอท. ข้างต้น โดยมีเงื่อนไขขอให้ ทอท. แจ้งให้ KPD และ KPS ทราบล่วงหน้าก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงระยะเวลาตามข้อสงวนสิทธิ์ เพื่อจะได้เจรจาตกลงกันในการกำหนดรายละเอียดระยะเวลาการดำเนินการให้เหมาะสมกับสถานการณ์จริงต่อไป

4.อนุมัติให้เรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร (Sharing Per Head) และจำนวนผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริง ดังนี้ โดยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 จนถึงปีที่จำนวนผู้โดยสารจริงของ ทอท. มีจำนวนเท่ากับ หรือมากกว่าจำนวนผู้โดยสารตามประมาณการของ KPD หรือ KPS แล้วแต่กรณีในปี 2564 ที่อ้างอิงจากเอกสารการประมูล ให้นำค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่บริษัทฯ ใช้ยื่นข้อเสนอในปีแรก (ปี 2564) หารด้วยจำนวนผู้โดยสาร ตามประมาณการของบริษัทฯ ในปี 2564 เพื่อคำนวณหา Sharing Per Head และนำมูลค่าที่ได้มาคูณกับจำนวน ผู้โดยสารจริงของ ทอท. ในปีนั้นๆ เพื่อกำหนดเป็นค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำในปีนั้นๆ


สำหรับปีถัดไป ทอท.จะเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ โดยใช้สูตรการคำนวณ MAG(i) (พิจารณาจากอัตราการเจริญเติบโตของผู้โดยสารประกอบกับอัตราเงินเฟ้อของปีปฏิทินก่อนหน้า)