“การบินไทย” มั่นใจไต่สวนขอฟื้นฟูกิจการ 17 สิงหาฯ นี้ผ่านฉลุย

“การบินไทย” มั่นใจฉลุยไต่สวนศาลล้มละลายกลาง “ขอฟื้นฟูกิจการ-คณะผู้จัดทำแผน” 17 สิงหาคม หลังพบเจ้าหนี้ไม่เห็นชอบต่ำ 10% ของมูลหนี้ ย้ำสภาพคล่องยังไหวดำเนินกิจการได้ เร่งลดค่าใช้จ่าย-หารายได้ผ่านคาร์โก-เที่ยวบินพิเศษ

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย เปิดเผยว่า สายการบินมีความมั่นใจและความพร้อมที่จะเข้ารับการไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 17 สิงหาคม 2563 ที่จะถึงนี้ โดยได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดจำเป็นทั้งหมด เพื่อนำเสนอต่อศาลล้มละลายกลางอย่างเต็มที่ แม้จะมีเจ้าหนี้ที่ไม่เห็นด้วยกับแผนการฟื้นฟูกิจการกว่า 30% ของเจ้าหนี้ทั้งหมด ซึ่งหากพิจารณาจากจำนวนหนี้จะมีเจ้าหนี้ที่ไม่เห็นด้วยกับแผนฟื้นฟูกิจการต่ำกว่า 10% ของมูลหนี้

“โดยมีเจ้าหนี้กว่า 80% ที่มีความเห็นตรงกันกับสายการบินในการร้องขอฟื้นฟูกิจการที่การบินไทยยื่นร้องขอต่อศาล ทำให้การบินไทยมีความมั่นใจในการขึ้นไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้ ขณะเดียวกัน ถ้าหากเจ้าหนี้ต้องการคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการรวมถึงขอเข้าเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการจะต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้มากกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนหนี้ทั้งหมด ในขณะที่การบินไทยในฐานะลูกหนี้ต้องการมติเห็นชอบเพียง 1 ใน 3 ก็สามารถยื่นฟื้นฟูกิจการได้ด้วยตัวเองแล้ว”

ในช่วงที่ผ่านมาในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ตั้งแต่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของการบินไทย เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 มีความคืบหน้าของการดำเนินงาน คือ การบินไทยได้ให้ข้อมูลที่จำเป็นแก่เจ้าหนี้ตามช่องทางต่างๆ เพื่อให้เจ้าหนี้ได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยอย่างถูกต้องและทั่วถึง

ประการสำคัญ คือ การเจรจากับเจ้าหนี้หลายภาคส่วน เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่เจ้าหนี้เกี่ยวกับความจำเป็นในการข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย และเจ้าหนี้มีความมั่นใจที่จะให้การสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยต่อไป ซึ่งการจรจาหารือกับเจ้าหนี้นั้น เป็นไปในทิศทางที่ดี และการบินไทยได้รับการตอบรับในเชิงบวกจากเจ้าหนี้มาโดยตลอด นอกจากนี้ การบินไทยได้หารือร่วมกับหน่วยงานและองค์กรสำคัญต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจการบินของการบินไทย และได้รับความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากองค์กรดังกล่าวเป็นอย่างดี

“ในวันที่ 17 สิงหาคม ศาลล้มละลายกลางจะพิจารณามีคำสั่งในประเด็นสำคัญเพียง 2 ประเด็นเท่านั้น กล่าวคือ การบินไทยสมควรได้รับการฟื้นฟูกิจการหรือไม่ และสมควรแต่งตั้งคณะผู้ทำแผนที่การบินไทยเสนอให้เป็นผู้ทำแผนของการบินไทยหรือไม่ แต่ศาลจะยังไม่พิจารณาว่าเจ้าหนี้รายใดเป็นเจ้าหนี้ในจำนวนเท่าไร และจะได้รับชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการมากน้อยเพียงใดซึ่งขั้นตอนการพิจารณาดังกล่าวจะเกิดขึ้นหลังศาลมีคำสั่งให้พื้นฟูกิจการ และตั้งผู้ทำแผนเพื่อจัดทำแผนเสนอให้เจ้าหนี้ทั้งหลายพิจารณา”

โดยจำนวนคณะผู้จัดทำแผน 6 คนที่การบินไทยได้เสนอต่อศาลประกอบด้วย 1. พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานกรรมการบริษัท 2. นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองประธานกรรมการ 3. นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ 4. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค กรรมการ 5. นายบุญทักษ์ หวังเจริญ กรรมการ 6. นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการ 

หลังจากนั้นผ่านพ้นวันไต่สวนราว 1-2 สัปดาห์คาดว่าศาลจะมีคำสั่งออกมา และการบินไทยจะเข้าสู่กระบวนการเปิดให้เจ้าหนี้แจ้งมูลหนี้กับการบินไทย โดยจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางในการแจ้งมูลหนี้สำหรับเจ้าหนี้อย่างละเอียดออกมาหลังจากนั้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่การบินไทยฯ หยุดทำการบินชั่วคราว นอกจากพยายามลดค่าใช้จ่ายผ่านการลดเงินเดือนผู้บริหารและบุคลากร รวมถึงปรับกระบวนการทำงานต่างๆ แล้ว บริษัทฯ ยังคงให้บริการเที่ยวบินขนส่งสินค้าอย่างต่อเนื่องและส่งเสริมการส่งออกและนำเข้าสินค้า รวมถึงช่วยสนับสนุนการขนส่งผลิตผลทางการเกษตร ตั้งแต่เดือนมีนาคม – กรกฎคม 2563 โดยขนส่งสินค้าจำนวน 18,165 ต้น ใน 903 เที่ยวบิน และจัดเที่ยวบินพิเศษนำคนไทยที่ตกคงและอยากกลับบ้าน จำนวน 5,488 คน จำนวน 46 เที่ยวบิน จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอริก ฝรั่งเศส อิตาลี สหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ สหรัฐ อาหรับเอมิเรต อินโดนีเซีย ลาว เกาหลี ฮ่องกง และญี่ปุ่น 

โดยมีรายได้จากการขนส่งสินค้าและจัดเที่ยวบินพิเศษ ระหว่างเดือนมีนาคม – กรกฎคม 2563 ประมาณ 1,826 ล้านบาท และบริษัทฯ ยังมีรายได้จากฝ่ายครัวการบิน ตั้งแต่เดือนมีนาคม-มิถุนาย 2563 ประมาณ 500 ล้านบาท จากการผลิตอาหารขึ้นเครื่องบินให้แก่สายการบิน ลูกค้า และของบริษัทฯ ประมาณ 1.1 ล้านชุด และผลิตขนมและเบเกอรี่ของร้าน Puff & Pie กว่า 5.5 ล้านชิ้น

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานประจำปี 2562 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 184,046 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 15,454 ล้านบาทหรือลดลง 7.7% โดยมีรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลงรวม 15,767 ล้านบาทหรือ 8.6% สำหรับค่าใช้จ่ายรวม 196,470 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 12,088 ล้านบาทหรือประมาณ 5.89% สาเหตุหลักเกิดจากค่าน้ำมันที่ลดลง 421 ล้านบาท (9.0%) เนื่องจากราคาน้ำมันลดลง 8.2% ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงจากปีก่อน 6,580 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยขาดทุนจากการดำเนินงาน จำนวน 12,424 ล้านบาท ขาดทุนสูงกว่าปีก่อน 3,366 ล้านบาทหรือประมาณ 37.2%

นายชาญศิลป์ ย้ำว่าการบินไทยยังคงมีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำเนินกิจการทั่วไปอย่างการจ่ายเงินเดือนบุคลากร การเปิดบินเที่ยวบินพิเศษ รวมถึงกิจการที่จำเป็นต่างๆ พร้อมอธิบายว่าการยื่นแผนฟื้นฟูกิจการของสายการบินนกแอร์ไม่มีผลต่อการดำเนินงานของการบินไทยด้วยคิดเป็นมูลค่าไม่กี่ร้อยล้านบาท และย้ำอีกว่าการฟื้นฟูกิจการอย่างไรก็ดีกว่าการล้มละลาย เพราะการบินไทยยังมีโอกาสที่จะหมุนเวียนกระแสเงินได้ รักษาการจ้างงาน ทำกำไร และสามารถฟื้นฟูกิจการได้ภายใน 3-5 ปี